ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฐมปัณณาสก์
เสขพลวรรคที่ ๑
๑. สังขิตตสูตร
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ - สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า พวกเราจักเป็นผู้ประกอบด้วยกำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา อันเป็นกำลังของพระเสข บุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. วิตถตสูตร
[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการนี้ เป็นไฉน คือ กำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ศรัทธาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาเครื่อง ตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งกว่า เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่ากำลัง คือ ศรัทธา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ หิริเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหิริ ย่อมละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมละอายต่อการ ประกอบธรรมอันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่ากำลัง คือ หิริ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ กำลัง คือ โอตตัปปะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีโอตตัปปะ ย่อม สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมสะดุ้งกลัวต่อการประกอบธรรม อันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่ากำลัง คือ โอตตัปปะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมปรารภความเพียร เพื่อละอกุศล ธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เรียกว่า กำลัง คือ วิริยะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบ ด้วยปัญญาเครื่องหยั่งถึงความเกิดขึ้นและดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสเป็นเครื่อง ให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของพระเสขบุคคล ๕ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักเป็นผู้ประกอบด้วยกำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา อันเป็น กำลังของพระเสขบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. ทุกขสูตร
[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมอยู่ เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไป พึงหวังได้ทุคติ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มี ศรัทธา ๑ ไม่มีหิริ ๑ ไม่มีโอตตัปปะ ๑ เกียจคร้าน ๑ มีปัญญาทราม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความ เดือดร้อน คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้ทุคติ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ไม่คับแค้น ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้ สุคติ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ไม่ คับแค้น ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้สุคติ ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. ภตสูตร
[๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมถูก นำมาทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทิ้งไว้ฉะนั้น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีหิริ ๑ ไม่มีโอตตัปปะ ๑ เกียจคร้าน ๑ มีปัญญาทราม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมถูกนำมาทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทิ้งไว้ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญมา ไว้บนสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาวางไว้ฉะนั้น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ ปรารภความ เพียร ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญมาไว้บนสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาวางไว้ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. สิกขสูตร
[๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป ลาสิกขาสึกออกมา เป็นคฤหัสถ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าติเตียน ซึ่งถูกกล่าวหาอันชอบแก่เหตุ ๕ ประการในปัจจุบัน ๕ ประการเป็นไฉน คือ ท่านไม่มีแม้ศรัทธาในกุศลธรรม ๑ ไม่มีแม้หิริในกุศลธรรม ๑ ไม่มีแม้โอตตัปปะในกุศลธรรม ๑ ไม่มีแม้ความเพียร ในกุศลธรรม ๑ ไม่มีแม้ปัญญาในกุศลธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือ ภิกษุณีบางรูป ลาสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าติเตียน ซึ่ง ถูกกล่าวหาอันชอบแก่เหตุ ๕ ประการนี้แลในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ หรือภิกษุณีบางรูป แม้มีทุกข์ โทมนัส มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อม ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญที่ชอบ แก่เหตุ ๕ ประการในปัจจุบัน ๕ ประการเป็นไฉน คือ เธอมีศรัทธาในกุศลธรรม ๑ มีหิริในกุศลธรรม ๑ มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ๑ มีความเพียรในกุศลธรรม ๑ มีปัญญาในกุศลธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป แม้มีทุกข์ โทมนัส มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญที่ชอบแก่เหตุ ๕ ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. สมาปัตติสูตร
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่ศรัทธาใน กุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด ศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะ (ความไม่เชื่อ) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่ หิริในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด หิริเสื่อมหายไป อหิริกะ (ความไม่ ละอาย) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่โอตตัปปะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด โอตตัปปะเสื่อม หายไป อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัว) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศล ย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะในกุศล ธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด วิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่ ปัญญาในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด ปัญญาเสื่อมหายไป ปัญญาทราม ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. กามสูตร
[๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลาย หมกมุ่นอยู่ในกาม กุลบุตรผู้ละเคียวและคานหาบหญ้าออกบวชเป็นบรรพชิต ควรเรียกว่าเป็นกุลบุตร ผู้มีศรัทธาออกบวช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาควรได้กามด้วยความเป็นหนุ่ม และกามเหล่านั้นก็มีอยู่ตามสภาพ คือ เลว ปานกลางและประณีต กามทั้งหมด ก็ถึงการนับได้ว่าเป็นกามทั้งนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอน หงาย พึงเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของ พี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้นทันที แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้อง ออกโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถนำออกโดยเร็วได้ ก็พึงเอามือซ้ายจับ งอนิ้วมือข้างขวา แล้วแยงเข้าไปนำออกมาทั้งที่มีโลหิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจะมีความลำบาก แก่เด็ก เราไม่กล่าวว่า ไม่มีความลำบาก และพี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์ มุ่งความสุข อนุเคราะห์ พึงกระทำอย่างนั้นด้วยความอนุเคราะห์ แต่เมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มี ปัญญาสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้นได้ว่า บัดนี้ เด็กมีความสามารถ รักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรพลั้งพลาด ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ ที่เราต้องรักษาเธอ ตลอดเวลาที่เธอยังไม่กระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม ไม่กระทำ ด้วยหิริในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยวิริยะใน กุศลธรรม ไม่กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม แต่เมื่อใด ภิกษุกระทำด้วยศรัทธา ในกุศลธรรม กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม กระทำด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม กระทำด้วยวิริยะในกุศลธรรม กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม เมื่อนั้น เราก็ย่อม วางใจในเธอได้ว่า บัดนี้ ภิกษุมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควร ประมาท ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. จวนสูตร
[๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อม เคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มี ศรัทธาย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้ไม่มีหิริ ... ภิกษุผู้ไม่มี โอตตัปปะ ... ภิกษุผู้เกียจคร้าน ... ภิกษุผู้มีปัญญาทราม ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่น ในพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้มีศรัทธา ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้มีหิริ ... ภิกษุผู้มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้มีปัญญา ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๘

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๑-๑๓๘ หน้าที่ ๑-๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1&Z=138&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=1&items=8              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=1&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=1&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=1&items=8              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]