ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓
[๒๙๖] บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนบรรดา สัตว์เหล่านั้นแม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก ไม่พึงปรารถนาบุตร จะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน นอแรด ฉะนั้น ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอัน เกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหายเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม บุคคลเห็นภัย คือ การยัง ประโยชน์ให้เสื่อมในการเชยชิดนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน นอแรด ฉะนั้น บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใย ในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้น บุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน นอแรด ฉะนั้น เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกไว้แล้ว ย่อมไป หากินตามความปรารถนา ฉันใด นรชนผู้รู้แจ้ง เพ่งความ ประพฤติตามความพอใจของตน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป ในการเที่ยวย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย บุคคลเพ่งความ ประพฤติตามความพอใจ ที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น การเล่น การยินดี ย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย อนึ่ง ความรัก ที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีในบุตรทั้งหลาย บุคคลเมื่อเกลียดชังความ พลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลย่อมเป็นอยู่ตามสบาย ในทิศทั้งสี่และไม่เดือดร้อน ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำเสียซึ่งอันตราย ไม่หวาดเสียว พึงเป็นผู้เที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวก ก็สงเคราะห์ได้ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนสงเคราะห์ ได้ยาก บุคคลเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรของผู้อื่น พึง เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น นักปราชญ์ละเหตุ อันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบ ร่วงหล่น ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติ อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตราย ทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยว ไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้นอัน พระองค์ทรงชนะแล้วเสด็จไปแต่ผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะ ละโขลงเที่ยวอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ฉะนั้น เราย่อมสรรเสริญ สหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐ สุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้ เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลแลดู กำไลทองทั้งสองอันงามผุดผ่อง ที่บุตรแห่งนายช่างทองให้ สำเร็จด้วยดีแล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น การที่เราจะพึงพูดจากับ พระกุมารที่สอง หรือการข้องอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใย พึงมีได้อย่างนี้ บุคคลเล็งเห็นภัยนี้ในอนาคต พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ก็กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ บุคคลเห็นโทษในกามคุณทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลเห็นภัย คือ จัญไร ผี อุปัทวะ โรค ลูกศร และความน่ากลัวนี้ ในกามคุณ ทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงครอบงำอันตรายเหล่านี้แม้ทั้งปวง คือ หนาว ร้อน หิว ระหาย ลม แดด เหลือบและสัตว์เสือกคลานแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงเป็นผู้ เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด เปรียบเหมือนช้างใหญ่ผู้เกิด ในตระกูลปทุม มีศีลขันธ์เกิดขึ้นแล้ว ละโขลงอยู่ในป่าตาม อภิรมย์ ฉะนั้น (พระปัจเจกพุทธเจ้าได้กล่าวกึ่งคาถาว่า) บุคคลพึงใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระ- อาทิตย์ว่า การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ จะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (พระกุมารได้กล่าวกึ่งคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอาทิจจ พันธุกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ว่า) พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน นอแรด ฉะนั้น เราล่วงพ้นทิฐิอันเป็นข้าศึกได้แล้ว ถึง ความเป็นผู้เที่ยง ได้มรรคแล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อัน ผู้อื่นไม่พึงแนะนำพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย ไม่ลบหลู่ มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว ไม่มีความอยาก ครอบงำ โลกทั้งปวงได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามกไม่พึงเสพด้วยตนเอง ซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในกรรม อันไม่เสมอ ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูตร ทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ บุคคลรู้จักประโยชน์ ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลกแล้ว ไม่เพ่งเล็งอยู่ เว้นจากฐานะแห่ง การประดับ มีปรกติกล่าวคำสัตย์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก พวกพ้อง และกามซึ่งตั้งอยู่ ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องในเวลาบริโภคเบญจกามคุณนี้ มีสุขน้อย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดุจหัวฝี ดังนี้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงทำลาย สังโยชน์ทั้งหลายเสีย เหมือนปลาทำลายข่าย เหมือนไฟ ไม่หวนกลับมาสู่ที่ไหม้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน นอแรด ฉะนั้น บุคคลผู้มีจักษุทอดลงแล้ว ไม่คะนองเท้า มี อินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษาแล้ว ผู้อันกิเลสไม่รั่วรด แล้ว และอันไฟ คือกิเลสไม่แผดเผาอยู่ พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละเพศแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออก บวชเป็นบรรพชิต พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ภิกษุไม่กระทำความยินดีในรสทั้งหลาย ไม่โลเล ไม่เลี้ยงคนอื่น มีปรกติเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ผู้มี จิตไม่ผูกพันในตระกูล พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต ๕ อย่าง บรรเทา อุปกิเลสทั้งปวงแล้ว ผู้อันทิฐิไม่อาศัย ตัดโทษคือความ เยื่อใยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนได้ ได้อุเบกขาและสมถะอันบริสุทธิ์แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลปรารภความเพียรเพื่อบรรลุ ปรมัตถประโยชน์ มีจิตไม่หดหู่ มีความประพฤติไม่ เกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่น ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังกาย และกำลังญาณ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลไม่ละการหลีกเร้นและฌาน มีปรกติประพฤติธรรม อันสมควรเป็นนิตย์ในธรรมทั้งหลาย พิจารณาเห็นโทษใน ภพทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลผู้ปรารถนาความสิ้นตัณหา พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ เป็นคนบ้าคนใบ้ มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันกำหนด รู้แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความ ไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่ข้องอยู่ ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดีและความโลภ เหมือน ดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลพึงเสพเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้เที่ยวไป ผู้เดียวเช่นกับนอแรด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ ครอบงำหมู่เนื้อเที่ยวไป ฉะนั้น บุคคลเสพอยู่ซึ่งเมตตา วิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติ ในกาล อันควร ไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวง พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน นอแรด ฉะนั้น บุคคลละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว ทำลายสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึง เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ไม่สะอาด มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ย่อมคบหาสมาคม เพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ ผู้ไม่มีเหตุมาเป็นมิตร หาได้ยาก ในทุกวันนี้ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ฯ
จบขัคควิสาณสูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๖๙๗๑-๗๑๐๑ หน้าที่ ๓๐๖-๓๑๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=6971&Z=7101&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=296&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=296&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=25&item=296&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=25&item=296&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=296              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]