ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
             [๔๗๔] 	เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าโกญจะ ในนครมันตาวดี
                          ชื่อว่าสุเมธา เป็นผู้อันพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้กระทำตามคำสั่งสอนให้
                          เลื่อมใสแล้ว เป็นผู้มีศีล มีถ้อยคำไพเราะ เป็นพหูสูต ได้รับแนะนำ
                          ดีแล้วในพระพุทธศาสนา เข้าไปเฝ้าพระชนกและพระชนนี แล้วกราบ
                          ทูลว่า ขอพระชนกพระชนนีทั้งสองโปรดฟังคำของหม่อมฉัน หม่อมฉัน
                          ยินดีในนิพพาน เพราะว่าภพ ถึงแม้เป็นทิพย์ก็เป็นของไม่ยั่งยืน จะป่วย
                          กล่าวไปไยถึงกามทั้งหลายอันเป็นของเปล่า มีความยินดีน้อยมีความ
                          คับแค้นมาก กามทั้งหลายเผ็ดร้อนเปรียบด้วยอสรพิษ เป็นที่ทำให้
                          คนพาลหลงหมกมุ่นอยู่ คนพาลเหล่านั้นต้องถึงทุกข์ เดือดร้อน
                          ยัดเยียดอยู่ในนรกตลอดกาลนาน และเป็นเหตุทำให้คนพาลผู้มีความรู้
                          ชั่ว ไม่สำรวมด้วยกาย วาจาและใจ ทำความชั่วต่างๆ ย่อมเศร้าโศก
                          ในอบาย ในกาลทุกเมื่อ เป็นเหตุทำให้คนพาล ผู้มีปัญญาทราม ไม่มี
                          ความคิด ยินดีแล้วในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักธรรมอันพระอริยเจ้า
                          แสดงอยู่ ทั้งไม่รู้จักอริยสัจ ข้าแต่เสด็จแม่ คนเหล่าใดไม่รู้จักสัจจะ
                          อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้ว พากันชื่นชมภพ ปรารถนา
                          การเกิดในเทวดา ชนเหล่านั้นมีอยู่เป็นอันมากในโลกนี้ การเกิดแม้
                          ในพวกทิพย์ในภพอันไม่เที่ยง ก็เป็นของไม่ยั่งยืนและพวกคนโง่เขลา
                          ย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการเกิดร่ำไป พวกเขาจึงประสบวินิบาต ๔ คติ ๒
                          ในกาลทุกเมื่อ และการบวชของคนที่ตกอยู่ในวินิบาตทั้งหลาย ย่อม
                          ไม่มีในนรก ขอพระชนกชนนีทั้งสองทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันบวช
                          ในพระศาสนาของพระทศพลเถิด หม่อมฉันจักเป็นผู้มีความขวนขวาย
                          น้อย พยายามเพื่อละการเกิดการตาย จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยภพ
                          อันพวกคนพาลพากันเพลิดเพลิน เป็นโทษทางกาย ไม่เป็นแก่นสาร
                          ขอพระชนกชนนี ทรงโปรดอนุญาตเถิด หม่อมฉันจะบวชเพื่อดับตัณหา
                          ในภพ การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หม่อมฉันไม่ได้พบแล้ว
                          ขณะอันเป็นขณะไม่ควร หม่อมฉันก็ได้แล้ว หม่อมฉันไม่พึงประทุษร้าย
                          ศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต เมื่อนางสุเมธาราชกัญญากราบทูลอย่างนี้
                          ลำดับนั้น พระชนกชนนีได้ตรัสกะนางสุเมธาราชกัญญาว่า มารดาบิดา
                          เป็นคฤหัสถ์ถึงจะตกอยู่ในอำนาจของความตาย ก็จักไม่ยอมละทิ้งมารดา
                          เป็นทุกข์ร้องไห้ และบิดาก็เป็นทุกข์ ถูกความโศกครอบงำแล้วเหมือนกัน
                          พยายามปลอบโยนนางสุเมธาซึ่งฟุบอยู่ที่แผ่นดินที่พื้นปราสาทว่า ลุกขึ้น
                          เถิดลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม มารดาบิดาได้ยกเจ้าให้พระนครวารณวดี
                          แล้ว คือ ได้ยกเจ้าให้พระเจ้าอนิกรัตต์ผู้มีรูปงาม เจ้าจักเป็นพระ
                          อัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัตต์ ลูกรักเอ๋ย ศีลพรหมจรรย์และการบวช
                          กระทำได้ยาก อำนาจในแว่นแคว้นของพระเจ้าอนิกรัตต์ ทรัพย์ ความ
                          เป็นอิสสระ โภคะ ความสุขถึงสกุลนี้และสกุลของพระสวามีทั้งหมด
                          ลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก แม้ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภค
                          กามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นมารดาบิดาจึงขอร้องไว้ ขอลูกจงอยู่เถิด
                          ลำดับนั้น นางสุเมธาราชกัญญาจึงกราบทูลพระชนกชนนีว่า อำนาจ
                          เป็นต้นเช่นนี้ขอจงอย่ามีเลย เพราะภพไม่เป็นแก่นสาร หม่อมฉันจัก
                          บวช หรือถ้าทรงขอร้องไว้ก็จักตายเท่านั้น หม่อมฉันรู้อยู่ว่า ร่างกายนี้
                          เป็นของเปื่อยเน่าไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป เป็นของน่ากลัว ตัว
                          เป็นดุจกระสอบหนังอันเต็มด้วยซากศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด ไหล
                          ออกมาอยู่เนืองๆ เหมือนอะไร หม่อมฉันรู้ว่า ร่างกายนี้เป็นดุจ
                          ซากศพอันปฏิกูลอย่างยิ่ง ฉาบทาไว้ด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่อยู่แห่ง
                          หมู่หนอน เป็นเหยื่อเลือด พระชนกชนนีจะยกให้ใครทำไม กายนี้
                          ไม่นานนัก มีวิญญาณไปปราศจากแล้ว อันหมู่ญาติเกลียดอยู่ ย่อมทิ้ง
                          ถมป่าช้า เหมือนท่อนไม้ฉะนั้น มารดาบิดาของตนยังเกลียด พากันนำ
                          เอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นเหยื่อของสัตว์อื่นในป่าช้า แล้วกลับไปอาบน้ำ
                          จะกล่าวไปใยถึงประชุมชนทั่วไป ชนทั้งหลายยินดีแล้วในกายอัน
                          เปื่อยเน่า เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร อันมีกระดูกมีเอ็นเป็นเครื่อง
                          ผูกรัด เต็มด้วยน้ำลาย น้ำตาและเหงื่อไคล ผู้ใดมาแยกกายนั้นทำให้
                          เห็นทั้งภายในและภายนอก ผู้นั้นไม่อาจทนต่อกลิ่นกายได้ แม้มารดา
                          ของตนก็พึงเกลียด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้โดยอุบายอันแยบคายว่า
                          ขันธ์ ธาตุและอายตนะ อันปัจจัยปรุงแต่ง มีชาติเป็นมูลเหตุ
                          เป็นทุกข์ไม่น่าชอบใจ เพราะเหตุไรหม่อมฉันจะพึงปรารถนาพระดำรัส
                          ที่ขอร้องเล่า หอก ๓๐๐ เล่มอันลับแล้วใหม่ๆ พึงตกลงในกายทุกวันๆ
                          ความกระทบกระทั่ง แม้เป็นไปสิ้นร้อยปียังประเสริฐกว่า ฉันใด
                          ความสิ้นไปแห่งทุกข์พึงมี ฉันนั้น ผู้ใดเป็นผู้รู้แจ้งพระดำรัสของพระ
                          ศาสดา โดยนัยตามที่กล่าวแล้ว พึงประสบความกระทบกระทั่ง แม้
                          ความสิ้นทุกข์ของผู้นั้นพึงประเสริฐยิ่ง และสงสารของคนพาลเหล่านั้น
                          ผู้ถูกชรา พยาธิและมรณะเบียดเบียนบ่อยๆ เป็นของยาว ความ
                          คับแค้นอันหาประมาณมิได้ บัณฑิตแสดงไว้ในเทวดา หมู่มนุษย์
                          กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย เปรต นรก ในนรกมีทุกข์เป็นอันมาก
                          ความต้านทานในหมู่เทวดาทั้งหลายไม่มีแก่สัตว์ผู้ไปแล้วในวินิบาต ผู้
                          เศร้าหมอง สุขอื่นจากสุข คือ นิพพานไม่มี ผู้ใดขวนขวายในคำสั่งสอน
                          ของพระทศพล เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย พยายามเพื่อละความเกิด
                          และตาย ผู้นั้นชื่อว่าบรรลุนิพพาน ข้าแต่เสด็จพ่อ วันนี้ หม่อมฉัน
                          จักออกบวชแน่นอน จะมีประโยชน์อะไรด้วยโภคสมบัติอันหาสาระมิได้
                          กามทั้งหลายอันเสมอด้วยอาเจียน หม่อมฉันเบื่อหน่ายแล้ว กระทำให้
                          เป็นดังตาลยอดด้วน นางสุเมธาราชธิดากราบทูลแด่พระชนกอย่างนี้ และ
                          นางสุเมธาราชธิดานั้น อันพระชนกชนนีประทานให้แก่พระเจ้าอนิกรัตต์
                          ใด พระเจ้าอนิกรัตต์นั้นแวดล้อมด้วยคนหนุ่มๆ ตระเตรียมมาแล้ว
                          เมื่อกาลจวนเข้ามาแล้ว ลำดับนั้น นางสุเมธาราชกัญญา ได้ทรงสดับว่า
                          พระเจ้าอนิกรัตต์เสด็จมา จึงเอาพระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำสนิท อ่อน
                          สลวย งดงาม ปิดปราสาทแล้วเข้าปฐมฌาน นางสุเมธาราชกัญญาเข้า
                          สมาบัติเจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นเอง และพระเจ้าอนิกรัตต์
                          ได้เสด็จมาถึงพระนคร และนางสุเมธาราชกัญญากำลังมนสิการถึงอนิจจ-
                          สัญญาอยู่ พระเจ้าอนิกรัตต์มีพระองค์อันประดับด้วยแก้วมณีและทองคำ
                          ได้รีบเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทรงทำอัญชลีอ้อนวอนนางสุเมธาราชกัญญา
                          ว่า อำนาจ ทรัพย์ อิสริยยศ โภคะ ความสุข ในราชสมบัติ
                          หม่อมฉันขอมอบให้พระน้องนาง พระน้องนางยังเป็นสาว ขอจงบริโภค
                          กามสุขเถิด กามสุขเป็นของหาได้ยากในโลก ราชสมบัติหม่อมฉัน
                          ยอมสละให้น้องนาง ขอพระน้องนาง จงบริโภคโภคะทั้งหลาย จงให้
                          ทานเถิด อย่าทรงโทมนัสเลย พระชนกชนนีของพระน้องนางทรงเป็น
                          ทุกข์ นางสุเมธาราชกัญญาผู้ไม่มีความต้องการด้วยกามทั้งหลาย ปราศ-
                          จากโมหะ กราบทูลพระเจ้าอนิกรัตต์ว่า พระองค์อย่าทรงเพลิดเพลิน
                          ในกาม จงทรงเห็นโทษในกามทั้งหลาย พระเจ้ามันธาตุผู้เป็นใหญ่ใน
                          ทวีปทั้ง ๔ เป็นผู้เลิศกว่าบุคคลผู้บริโภคกามทั้งหลาย ยังไม่ทรงอิ่มด้วยกาม
                          ทั้งหลาย ก็สวรรคตไป ความปรารถนาของท้าวเธอก็ยังไม่ทันบริบูรณ์
                          เลย เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝน พึงบันดาลรัตนะ ๗ ประการให้ตกโดยรอบ
                          ทั่วทิศ ๑๐ ทิศ ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายมิได้มี นรชนทั้งหลายผู้ไม่อิ่ม
                          ด้วยกามพากันตายไปหมด กามทั้งหลาย เปรียบด้วยดาบและหลาว
                          เหมือนหัวงูเห่า เปรียบดังคบเพลิงเผาอยู่เนืองๆ เหมือนร่างกระดูก
                          กามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก เหมือนงูที่มีพิษ
                          มาก เหมือนก้อนเหล็กอันไฟติดทั่ว เป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ มีทุกข์
                          เป็นผล กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้อันเป็นพิษ เหมือนชิ้นเนื้อ
                          นำมาซึ่งทุกข์ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝันเป็นของหลอกลวง
                          เหมือนของที่ยืมเขามา เปรียบด้วยหอกและหลาว เป็นโรค เป็น
                          ดังหัวฝี เป็นความทุกข์ยาก เป็นความลำบาก เช่นดังหลุมถ่านเพลิง
                          เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์เป็นภัย เป็นนายเพชฌฆาต กามทั้งหลาย
                          บัณฑิตกล่าวว่ามีทุกข์มาก มีอันตรายมากอย่างนี้ เชิญพระองค์เสด็จ
                          กลับเสียเถิด หม่อมฉันไม่มีความคุ้นเคยในสมบัติของตนเลย เมื่อไฟ
                          ไหม้อยู่ที่ศีรษะของตน ผู้อื่นจักช่วยทำประโยชน์อะไรให้หม่อมฉัน เมื่อ
                          ชราและมรณะติดตามแล้ว ควรจะพยายามเพื่อทำลายชราและมรณะนั้น
                          นางสุเมธาราชกัญญา ทอดพระเนตรเห็นพระชนกชนนีและพระเจ้า
                          อนิกรัตต์เสด็จมายังไม่ทันถึง ประตูปิด ประทับนั่งร้องไห้อยู่ที่แผ่นดิน
                          จึงได้กราบทูลว่า สงสารของคนพาลทั้งหลายผู้ร้องไห้ถึงมารดา บิดา
                          พี่ชาย น้องชาย และตนเองซึ่งตายแล้วในสงสาร เป็นสภาพยาว
                          ขอพระองค์ทรงระลึกถึงน้ำตา น้ำนม เลือด และกองกระดูก ของ
                          สัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวอยู่ไปมา เพราะความที่สงสารมีที่สุดอันบุคคลรู้
                          ไม่ได้ ขอจงทรงนึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงน้อม
                          เข้าไปเปรียบในน้ำตา น้ำนม และเลือด จงทรงนึกถึงกองกระดูกของ
                          คนหนึ่งในกัปคนหนึ่งเท่าภูเขาวิบุลบรรพต จงทรงนึกถึงแผ่นดินใหญ่
                          คือ ชมพูทวีป ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยมารดาบิดาของบุคคลผู้
                          ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร แผ่นดินใหญ่เมื่อแบ่งออกเป็นก้อนกลมๆ
                          เท่าเมล็ดพุทรา ยังไม่เพียงพอในมารดาบิดาเลย จงทรงนึกถึงหญ้า ไม้
                          กิ่งไม้และใบไม้ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเปรียบด้วยมารดาบิดาของ
                          บุคคล ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เพราะสงสารมีที่สุดอันรู้ไม่ได้ หญ้า
                          ไม้ กิ่งไม้และใบไม้ชิ้นหนึ่งประมาณเท่า ๔ นิ้ว ยังไม่เพียงพอในบิดา
                          ทั้งหลายเลย และชิ้นหนึ่งมีประมาณเท่านั้น ยังไม่เพียงพอใน ปู่ ย่า ตา
                          ยาย ทรงนึกถึงเต่าตาบอด และช่องแอกอันหมุนวนไปในทิศบูรพา
                          และทางอื่นๆ อีก ในมหาสมุทร มาสวมศีรษะเต่าตาบอดตัวนั้น ข้อนี้
                          อุปมาดังการได้อัตภาพเป็นมนุษย์จงทรงนึกถึงรูปแห่งโทษ คือการอันหา
                          สาระมิได้ เปรียบเหมือนก้อนฟองน้ำ จงทรงพิจารณาเห็นขันธ์ทั้งหลาย
                          อันไม่เที่ยง จงทรงคำนึงถึงนรกอันมีความคับแค้นมาก จงทรงนึกถึง
                          สัตว์ทั้งหลายผู้พอกพูนป่าช้าอยู่บ่อยๆ ในชาตินั้นๆ จงทรงนึกถึงภัย
                          อันเกิดแต่ท้อง จงทรงนึกถึงอริยสัจ ๔ เมื่ออมตมหานิพพานมีอยู่
                          จะมีประโยชน์อะไรด้วยของเผ็ดร้อน ๕ ประการ ที่พระองค์ทรงดื่มแล้ว
                          เพราะว่าความยินดีในกามทั้งปวง มีความเผ็ดร้อน ๕ ประการอีก เมื่อ
                          อมตมหานิพพานมีอยู่ พระองค์จะต้องการอะไร ด้วยกามทั้งหลายอัน
                          เป็นเหตุให้เร่าร้อนเล่า เพราะว่าความยินดีในกามทั้งปวง อันไฟ ๑๑
                          กองให้รุ่งเรืองแล้ว ให้เดือดพล่านแล้ว ให้กำเริบแล้ว ให้ร้อนพร้อม
                          แล้ว เมื่อการออกจากกามอันไม่มีข้าศึกมีอยู่ ไฉนพระองค์จึงทรงต้องการ
                          ด้วยกามทั้งหลายอันมีข้าศึกมากเล่า กามทั้งหลายมีข้าศึกมาก ทั่วไปด้วย
                          พระราชา ไฟ โจร น้ำและบุคคลอันไม่เป็นที่รัก เมื่อความพ้นมีอยู่
                          ไฉนพระองค์จึงต้องการด้วยกามทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถูกฆ่าถูกจำจองเล่า
                          เพราะว่าการถูกฆ่าและถูกจำจองก็เพราะกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายได้
                          เสวยทุกข์ต่างๆ เพราะความใคร่ในกาม คบเพลิงหญ้าอันไฟติดโชน
                          ย่อมไหม้คนผู้ถืออยู่และไม่ทิ้ง เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบดังคบเพลิง
                          ย่อมไหม้คนผู้ที่ไม่ละ พระองค์อย่าทรงละสุขอันไพบูลย์ เพราะเหตุ
                          แห่งกามสุขอันเล็กน้อยเลย พระองค์อย่าทรงเป็นเหมือนปลากลืนกิน
                          เบ็ด แล้วเดือดร้อนในภายหลัง พระองค์อย่าหมุนไปผิด เพราะกาม
                          ทั้งหลาย ดังสุนัขอันถูกเขาล่ามโซ่ไว้เลย สัตว์ทั้งหลายผู้มีความอยาก
                          เพราะกามจัด บริโภคกามนั้น เหมือนเสือปลาถูกความหิวครอบงำ
                          ได้สุนัขแล้ว ถึงความพินาศฉิบหาย ฉะนั้น พระองค์ทรงประกอบด้วย
                          กาม จักต้องทรงเสวยทุกข์ หาประมาณมิได้ และโทมนัสแห่งจิตเป็น
                          เป็นอันมาก จงทรงสละกามทั้งหลายอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด เมื่อ
                          นิพพานอันเป็นธรรมไม่แก่มีอยู่ ไฉนพระองค์จึงต้องการด้วยกาม
                          ทั้งหลายที่มีความแก่เล่า เพราะการเกิดทุกชาติในภพทั้งปวง ประกอบ
                          ด้วยความตายและพยาธิ นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นทางดำเนินถึง
                          ความไม่แก่ ไม่ตาย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแคบเพราะข้าศึก ไม่มี
                          ความพลั้งพลาด ไม่มีภัย ไม่มีความเดือดร้อน อมตนิพพานนี้ อันพระ
                          อริยเจ้าเป็นอันมากได้บรรลุมาแล้ว และอมตนิพพานนี้ อันบุคคลผู้
                          พยายามโดยอุบายอันแยบคายจะพึงได้แม้ในวันนี้ แต่บุคคลผู้ไม่พยายาม
                          ไม่อาจจะได้แม้ในกาลไหนๆ นางสุเมธาราชกัญญาตรัสอย่างนี้ เมื่อ
                          ไม่ได้ความยินดีในสังขาร เมื่อจะทรงยังพระเจ้าอนิกรัตต์ให้ทรงยินยอม
                          จึงทรงโยนผมที่ทรงตัดแล้วด้วยพระขรรค์ไปที่พื้นดิน พระเจ้าอนิกรัตต์
                          เสด็จลุกขึ้นประคองอัญชลี ทูลขอกะพระบิดาของนางสุเมธาราชกัญญา
                          นั้นว่า ขอจงทรงโปรดปล่อยให้นางสุเมธาบวชเถิด นางจะเป็นผู้เห็น
                          วิโมกข์และสัจจะ ก็นางสุเมธาราชกัญญา อันพระชนกชนนีทรงปล่อย
                          แล้ว เป็นผู้กลัวต่อภัย คือความโศกออกบวชแล้ว เมื่อศึกษาอยู่ ได้
                          กระทำให้แจ้ง ซึ่งอภิญญา ๖ กระทำให้แจ้งซึ่งผลอันเลิศ คืออรหัตผล
                          นิพพานของนางสุเมธาราชกัญญา เป็นธรรมน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
                          เมื่อจะแสดงวิธีตามที่ตนได้ประพฤติแล้วในปุพเพนิวาสญาณ พระสุเมธา
                          เถรีจึงพยากรณ์ในเวลาปรินิพพานว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่า
                          โกนาคมน์ เสด็จอุบัติแล้วในโลก เมื่อสังฆารามตั้งลงใหม่ๆ ข้าพเจ้า
                          เป็นหญิง ๓ คน เป็นสหายกัน (คือนางธนัญชานี นางเขมา และ
                          ข้าพเจ้า) ได้ถวายอารามให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ข้าพเจ้าทั้ง ๓ ได้อุบัติ
                          ในเทวโลก ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง และ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ไม่
                          ต้องพูดถึงการเกิดในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าทั้ง ๓ เป็นผู้มีมหิทธิฤทธิ์ในเทวโลก
                          ทั้งหลาย ไม่ต้องกล่าวถึงความเป็นผู้มีมหิทธิฤทธิ์ในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้า
                          ได้เป็นพระมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการ การ
                          ที่เราสร้างอารามถวายให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ในการแห่งพระพุทธเจ้า
                          พระนามว่าโกนาคมน์นั้นเป็นเหตุ เป็นแดนเกิดแห่งทิพยสมบัติตามที่
                          กล่าวมาแล้ว ทั้งเป็นรากเหง้า เป็นเหตุให้อดทนในคำสั่งสอน เป็นเหตุ
                          ให้ตั้งลงมั่นครั้งแรกในพระศาสนา และเป็นที่สุดสิ้นแห่งความเพียรของ
                          ข้าพเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรม บุคคลเหล่าใดย่อมเชื่อพระดำรัสของพระ
                          สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม บุคคลเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้
                          ย่อมเบื่อหน่ายในภพ ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัด.
จบ มหานิบาต
ในเถรีคาถานี้ รวมเป็นคาถา ๕๘๐ คาถา พระเถรี ๑๗ รูปนั้น ล้วนแต่ เป็นผู้สิ้นอาสวะ.
เถรีคาถาจบบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๑๐๑๔๒-๑๐๓๒๖ หน้าที่ ๔๔๐-๔๔๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=10142&Z=10326&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=474&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=474&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=26&item=474&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=26&item=474&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=474              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]