ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ทายัชชภาณวาร
พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร
[๑๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครกบิลพัสดุ์ เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับถึงพระนครกบิลพัสดุ์ แล้ว. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบทนั้น. ครั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่ พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาปูลาด ถวาย. ครั้งนั้นพระเทวีราหุลมารดา ได้มีพระเสาวนีแก่ราหุลกุมารว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้น เป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์ จึงราหุลกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ประทับยืนเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของพระองค์เป็นสุข. ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จอุฏฐาการจากพระพุทธอาสน์แล้ว กลับไป จึงราหุลกุมารได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลังๆ พลางทูลขอว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดก แก่หม่อมฉัน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้ราหุลกุมารบวช. ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ราหุลกุมารทรงผนวชอย่างไร พระพุทธ- *เจ้าข้า? ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตร เป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์.
วิธีให้บรรพชา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบวชอย่างนี้:- ชั้นต้น พึงให้โกนผมและหนวด แล้วให้ครองผ้าย้อมฝาด ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้ กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลี แล้วสั่งว่า จงว่าอย่างนี้ แล้วสอนให้ ว่าสรณคมน์ดังนี้:-
ไตรสรณคมน์
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓ ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์นี้. คราวนั้น ท่านพระสารีบุตร ให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว.
พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลขอพระพร
ต่อมา พระเจ้าสุทโธทนศากยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท้าวเธอประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลขอพระพรต่อพระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่าง หนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า ดูกรพระองค์ผู้โคตมะ ตถาคตทั้งหลาย มีพรล่วงเลย เสียแล้ว สุท. หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. พระองค์โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด โคตมะ. สุท. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อ พ่อนันทะบวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลบรรพชา ทุกข์ยิ่งมากล้น พระพุทธเจ้าข้า ความรัก บุตรย่อมตัดผิว ครั้นแล้ว ตัดหนัง ตัดเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก แล้วตั้งอยู่จรดเยื่อในกระดูก หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าสุทโธทนศากยะทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทาน ทรงอาจหาญ ทรงร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระเจ้าสุทโธทนศากยะ อันพระผู้มีพระภาคทรง ชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพระที่ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่ พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ จาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จเที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรมากรูปได้
[๑๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลอุปฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนัก ท่านพระสารีบุตร ด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้. ทีนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็ เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถรูปเดียว รับสามเณรสองรูปไว้อุปัฏฐากได้ ก็หรือเธออาจจะโอวาท อนุศาสน์สามเณร มีจำนวนเท่าใดก็ให้รับไว้อุปัฏฐาก มีจำนวนเท่านั้น.
สิกขาบทของสามเณร
[๑๒๐] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลาย ได้มีความดำริว่า สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไร หนอแล และพวกเราจะต้องศึกษาในอะไร. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ ๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้ ๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก ๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่ง การแต่งตัว ๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่ ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ นี้ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณร ทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นี้.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๓๓๒๑-๓๔๑๗ หน้าที่ ๑๓๕-๑๓๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=3321&Z=3417&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=118&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=118&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=4&item=118&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=4&item=118&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=118              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]