ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๒๙๙.

ภิกษุก่อความบาดหมางเป็นต้น
[๒๕๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันที่เคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท ณ สถานที่ใกล้เคียงของภิกษุเหล่านั้น มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อ ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษา อยู่ด้วยประสงค์ว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย. ภิกษุเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า ณ สถานที่ใกล้เคียงของพวกเรา มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษาอยู่ ด้วยมุ่งหมายว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้ พวกเราจะพึง ปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ มากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง. ณ สถานที่ใกล้เคียงของภิกษุเหล่านั้น มีภิกษุเหล่าอื่นที่ก่อความ บาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ จำพรรษาอยู่ ด้วยมุ่งหมายว่า ในวันปวารณา พวกเราจักงดปวารณาของพวกภิกษุที่อยู่จำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทำอุโบสถ ๒ คือ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือ ๓ อุโบสถ คือ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ให้เป็นอุโบสถ ๑๔ ค่ำ ด้วยประสงค์ว่า ไฉนพวกเราพึงปวารณา ก่อนภิกษุเหล่านั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น มาสู่อาวาส ภิกษุพวกเจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงรีบประชุม ปวารณาเสียโดยเร็ว ครั้นแล้วพึงแจ้งว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกเราปวารณากันเสร็จแล้ว ท่านทั้งหลายจะสำคัญสถานใด ก็จงทำสถานนั้นเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น ไม่แจ้งให้ทราบก่อนมาสู่อาวาสนั้น พวกภิกษุ เจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นแล้ว รับบาตรจีวร พึงต้อนรับด้วยน้ำดื่ม. พึงเสแสร้งกล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วไปปวารณานอกสีมา. ครั้นแล้วพึงแจ้งว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกเราปวารณากันเสร็จแล้ว ท่านทั้งหลายจะสำคัญสถานใด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๐.

ก็จงทำสถานนั้นเถิด. ถ้าได้วิธีการนั้นอย่างนี้ การได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ภิกษุ เจ้าถิ่นผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเจ้าถิ่นทั้งหลายทราบว่า ขอท่านเจ้าถิ่นทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ในบัดนี้ พึงปวารณาในวันกาฬปักที่จะมาถึงเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโสทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด. พวกเธออันภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของพวกเรา พวกเราจะ ยังไม่ปวารณาก่อนละ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงอยู่คอยไปถึงวันกาฬปักษ์นั้น ภิกษุเจ้าถิ่น ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้พวกภิกษุเจ้าถิ่นทราบว่า ขอท่านเจ้าถิ่นทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ในบัดนี้เถิด พวกเราพึงปวารณาในวันชุณหปักษ์ที่จะ มาถึงเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโส ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด. พวกเธออันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของพวกเรา พวกเราจะยังไม่ปวารณา ก่อนละ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพวกที่ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น จะพึงอยู่คอยไปถึงวันชุณหปักษ์แม้นั้น ภิกษุ เหล่านั้นทุกรูปไม่ปวารณา ก็ต้องปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุอาพาธงดปวารณาของภิกษุ ผู้ไม่อาพาธ ภิกษุอาพาธนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านกำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม อาวุโส ขอท่านจงรออยู่จนกว่าจะหายอาพาธ หายอาพาธแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุอาพาธถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๑.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุผู้ไม่อาพาธงดปวารณา ของภิกษุผู้อาพาธ ภิกษุผู้ไม่อาพาธนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุรูปนี้แล กำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม อาวุโส ขอท่าน จงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปนี้หายอาพาธ ภิกษุนั้นหายอาพาธแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุ ผู้ไม่อาพาธถูกว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุอาพาธงดปวารณาของภิกษุ อาพาธๆ นั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายกำลังอาพาธ อันผู้อาพาธ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่สู้จะอดทนต่อการซักถาม โปรดรออยู่ก่อนจนกว่าจะหายอาพาธด้วยกัน หายอาพาธด้วยกันแล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท. หากภิกษุผู้อาพาธนั้นถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท เป็นปาจิตติยะ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณากัน ภิกษุผู้ไม่อาพาธงดปวารณา ของภิกษุผู้ไม่อาพาธ. ทั้งสองฝ่าย สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนเป็นการสงฆ์ปรับอาบัติตามธรรม แล้วจึงปวารณาเถิด.
พวกที่พร้อมเพรียงกันเป็นต้นเลื่อนปวารณา
[๒๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษา อยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท. เมื่อพวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพวกเธอได้มีความปริวิตกว่า เมื่อพวกเรา พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว. ถ้าพวกเราจักปวารณากันเสียในบัดนี้ บางทีพวกภิกษุปวารณากันแล้วจะพึงหลีกไปสู่จาริกก็จะ มีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตให้เลื่อนปวารณา
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง. เมื่อพวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง. หากภิกษุทั้งหลายในสังฆสันนิบาตนั้นคิดกันอย่างนี้ว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๒.

พวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้ว ถ้าพวกเราจักปวารณากันเสียในบัดนี้ บางทีพวกภิกษุปวารณากันแล้วจะพึงหลีกไปสู่จาริก ก็จะมีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทำการเลื่อนปวารณาออกไป.
วิธีเลื่อนปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงทำการเลื่อนปวารณาอย่างนี้. ภิกษุทุกๆ รูปต้องประชุมพร้อมกัน. ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาเลื่อนปวารณา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว. หากพวกเราจักปวารณา เสียในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณากันแล้ว พึงหลีกไปสู่จาริกก็จะมีบ้าง เมื่อเป็น เช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำการเลื่อนปวารณาออกไป บัดนี้พึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พึงปวารณา ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง. นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว. หากพวกเราจักปวารณาเสีย ในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณากันแล้ว พึงหลีกไปสู่จาริกก็จะมีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้. สงฆ์ทำการเลื่อนปวารณาออกไป บัดนี้สงฆ์ จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะ มาถึง การกระทำซึ่งการเลื่อนปวารณาออกไป เดี๋ยวนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๓.

การเลื่อนปวารณาอันสงฆ์ทำแล้ว บัดนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จัก ปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
ไม่เป็นใหญ่ในปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำการเลื่อนปวารณาออกไปแล้ว หากจะมีภิกษุ สักรูปหนึ่งพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมปรารถนาจะหลีกไปสู่จาริกตามชนบท เพราะผม มีกิจจำเป็นที่ชนบท. ภิกษุรูปนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโส ท่านปวารณา แล้วจึงค่อยไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นอันสงฆ์ปวารณาอยู่ งดปวารณาของภิกษุรูปหนึ่ง เสีย ภิกษุผู้งดปวารณา อันภิกษุผู้ถูกห้ามปวารณาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านไม่เป็นใหญ่ ในการปวารณาของผมๆ จักยังไม่ปวารณาก่อน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นปวารณาอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งห้ามปวารณาของภิกษุรูปนั้น สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนทั้ง ๒ ฝ่าย แล้วปรับอาบัติ ตามธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นทำกรณียกิจนั้นในชนบทเสร็จแล้วกลับมาสู่อาวาสนั้น ภายในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือน หากเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ภิกษุอีกรูปหนึ่ง งดปวารณาของภิกษุรูปนั้น ภิกษุผู้งดปวารณา อันภิกษุผู้ถูกงดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่าน ไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของผม เพราะผมปวารณาเสร็จแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากเมื่อภิกษุ เหล่านั้นปวารณาอยู่ ภิกษุนั้นงดปวารณาของภิกษุอีกรูปหนึ่ง. ทั้ง ๒ ฝ่ายสงฆ์พึงสอบสวน สืบสวนเป็นการสงฆ์ ปรับอาบัติตามธรรมแล้วจึงปวารณาเถิด.
ปวารณาขันธกะที่ ๔ จบ.
เรื่องในขันธกะนี้มี ๔๖ เรื่อง
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๔.

หัวข้อประจำขันธกะ
[๒๕๒] ๑. เรื่องภิกษุจำพรรษาในโกศลชนบทมาเฝ้าพระศาสดา ๒. เรื่องจำพรรษา ไม่ผาสุกเหมือนปศุสัตว์อยู่ร่วมกัน ๓. เรื่องการปวารณาที่เหมาะสมเพื่อว่ากล่าวกัน ๔. เรื่อง พระฉัพพัคคีย์นั่งราบบนอาสนะปวารณา ๕. เรื่องวันปวารณามี ๒ วัน ๖. เรื่องอาการที่ทำ ปวารณา ๗. เรื่องให้ภิกษุอาพาธมอบปวารณา ๘. เรื่องภิกษุถูกพวกญาติคุมตัวไว้ ๙. เรื่อง ภิกษุถูกพระราชาคุมตัวไว้ ๑๐. เรื่องภิกษุถูกพวกโจรจับไว้ ๑๑. เรื่องภิกษุถูกพวกนักเลง จับไว้ ๑๒. เรื่องภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นข้าศึกจับไว้ ๑๓. เรื่องสงฆ์ปวารณา ๕ รูป ๑๔. เรื่อง คณะปวารณา ๔ รูป ๑๕. เรื่องคณะปวารณา ๓ รูป ๑๖. เรื่องคณะปวารณา ๒ รูป ๑๗. เรื่องภิกษุรูปเดียวอธิษฐานปวารณา ๑๘. เรื่องภิกษุต้องอาบัติปวารณา ๑๙. เรื่องภิกษุ สงสัยในอาบัติปวารณา ๒๐. เรื่องภิกษุระลึกอาบัติ ๒๑. เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ๒๒. เรื่องสงฆ์ทั้งหมดสงสัยในสภาคาบัติ ๒๓. เรื่องภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมามากกว่า ๒๔. เรื่อง ภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาเท่ากัน ๒๕. เรื่องภิกษุเจ้าถิ่นพวกอื่นมาน้อยกว่า ๒๖. เรื่องวัน ปวารณาของเจ้าถิ่นเป็น ๑๔ ค่ำ ๒๗. เรื่องลักษณะเจ้าถิ่น ๒๘. เรื่องภิกษุสองสังวาสปวารณา ๒๙. เรื่องไม่ควรไป ๓๐. เรื่องไม่ควรปวารณาในบริษัทมีภิกษุณีเป็นต้นนั่งอยู่ด้วย ๓๑. เรื่อง ให้ฉันทะ ๓๒. เรื่องห้ามปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา ๓๓. เรื่องคนชาวดง ๓๔. เรื่อง ราตรีจวนสว่าง ๓๕. เรื่องฝน ๓๖. เรื่องมีอันตราย ๓๗. เรื่องภิกษุมีอาบัติปวารณา ๓๘. เรื่องไม่ยอมทำโอกาส ๓๙. เรื่องงดปวารณาของพวกเราก่อน ๔๐. เรื่องไม่เป็นอันงด ปวารณา ๔๑. เรื่องงดปวารณาของภิกษุ งดเพราะเรื่องอะไรเป็นต้น เป็นอย่างไร งดด้วย ได้เห็น ได้ยิน หรือรังเกียจโจทก์และจำเลย ๔๒. เรื่องภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย ๔๓. เรื่อง วัตถุปรากฏ ๔๔. เรื่องก่อความบาดหมาง ๔๕. เรื่องเลื่อนปวารณา ๔๖. เรื่องไม่เป็นใหญ่ ในปวารณา.
หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๗๓๐๔-๗๔๕๐ หน้าที่ ๒๙๙-๓๐๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=7304&Z=7450&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=250&items=3&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=250&items=3&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=4&item=250&items=3&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=4&item=250&items=3&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=250              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]