บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
[๒๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-เรื่องทีฆาวุกุมาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่า พรหมทัต ทรงเป็นกษัตริย์มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มี พระราชพาหนะมาก มีพระราชอาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร บริบูรณ์ ส่วนพระเจ้าโกศลพระนามทีฆีติ ทรงเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มี พระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราชอาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธ- *ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จกรีธาจาตุรงคเสนาไปโจมตีพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเสด็จกรีธา- *จาตุรงคเสนามาโจมตีพระองค์ จึงทราบพระราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชทรงเป็นกษัตริย์ มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มีพระราชพาหนะมาก มีพระราช อาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารบริบูรณ์ ส่วนเราเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มีพระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราช อาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ เราไม่สามารถจะต่อ ยุทธกับพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช แม้แต่เพียงศึกเดียว ถ้ากระไร เราพึงรีบหนีออกจากพระนคร ไปเสียก่อนดีกว่า ครั้นแล้วทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนครไปเสียก่อน ฝ่ายพระเจ้า พรหมทัตกาสิกราชทรงยึดรี้พลพาหนะ ชนบท คลังศัตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหาร ของ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชไว้ได้แล้วเสด็จเข้าครอบครองแทน. ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมกับพระมเหสีได้เสด็จหนีไปทางพระนครพาราณสี เสด็จบทจรโดยลำดับมรรคถึงพระนครพาราณสีแล้ว ข่าวว่าท้าวเธอพร้อมกับมเหสี ทรงปลอม แปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่ง ตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งเขตพระนครพาราณสีนั้น ครั้นต่อมาไม่นานเท่าไรนัก พระมเหสีของ พระเจ้าทีฆีติโกศลทรงตั้งพระครรภ์ พระนางเธอนั้นทรงแพ้พระครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ ทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะทรง เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ จึงกราบทูลคำนี้แด่พระสวามีในทันทีว่า ขอเดชะ หม่อมฉันมีครรภ์ ได้แพ้ครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ หม่อมฉันปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พระพุทธเจ้าข้า พระราชารับสั่งว่า แม่เทวี เราทั้งสองกำลังตกยาก จะได้จตุรงคเสนาผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และน้ำล้างพระแสงขรรค์มาแต่ไหน พระราชเทวีกราบทูลว่า ถ้าหม่อมฉันไม่ได้ คงตายแน่ พระพุทธเจ้าข้า. ก็สมัยนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเป็นสหายของพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช จึงพระเจ้าทีฆีติโกศลราช เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ครั้นถึงแล้วได้ตรัสคำนี้แก่ท่านพราหมณ์ว่า เกลอเอ๋ย เพื่อนหญิงของเพื่อนมีครรภ์ นางแพ้ท้อง มีอาการเห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ นางปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืน อยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้ากระนั้น หม่อมฉันจะขอเฝ้าพระเทวีก่อน ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของ เจ้าพรหมทัตกาสิกราช พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ได้แลเห็นพระมเหสี ของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช กำลังเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช แล้วเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า ท่านผู้เจริญ พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้า โกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว เพราะฉะนั้น พระเทวีอย่าได้เสียพระทัย เมื่อยามรุ่งอรุณ จักได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจักได้ทรงเสวย น้ำล้างพระแสงขรรค์เป็นแน่ จึงพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เข้าไปในพระราชสำนัก ครั้งถึงแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ นิมิตทั้งหลายปรากฏตามกำหนดวิธีการ คือ ในเวลารุ่งอรุณพรุ่งนี้ จตุรงคเสนาจะผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และเจ้าพนักงานจะ เอาน้ำล้างพระแสงขรรค์ด้วย พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชจึงมีพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย พราหมณ์ปุโรหิตสั่งการอย่างใด พวกเจ้าจงทำอย่างนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะ ยืนอยู่ในสนามรบ และได้เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ในเวลารุ่งอรุณ สมความปรารถนา ครั้นต่อมา ทรงอาศัยความแก่แห่งพระครรภ์นั้น ได้ประสูติพระราชโอรส พระชนกชนนีได้ขนานพระนาม พระราชโอรสนั้นว่า ทีฆาวุ และต่อมาไม่ช้านานเท่าไร ทีฆาวุราชกุมารก็ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้ ก่อความพินาศให้แก่พวกเรา มากมาย ได้ช่วงชิงเอารี้พล พาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร ของพวกเราไป ถ้าท้าวเธอจักสืบทราบถึงพวกเรา คงสั่งให้ประหารชีวิตหมดทั้งสามคน ถ้ากระไร เราพึงให้พ่อทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นแล้วได้ให้ทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ศึกษาศิลปะสำเร็จทุกสาขา.เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๖๑๑๔-๖๑๗๓ หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=6114&Z=6173&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=5&item=243&items=1 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=5&item=243&items=1&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=5&item=243&items=1 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=5&item=243&items=1 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=243 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]