ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ ปริวาร
คาถาสังคณิกะอีกนัยหนึ่ง
เรื่องโจทเป็นต้น
[๑๐๖๙] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า การโจทเพื่อประสงค์อะไร? การสอบสวน เพื่อเหตุอะไร? สงฆ์เพื่อประโยชน์อะไร? ส่วนการลงมติเพื่อเหตุอะไร? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การโจทเพื่อประสงค์ให้ระลึกถึงความผิด. การสอบสวนเพื่อประสงค์จะข่ม สงฆ์เพื่อประโยชน์ให้ช่วยกันพิจารณา ส่วนการลงมติ เพื่อให้การวินิจฉัยแต่ละเรื่องเสร็จสิ้นไป. เธออย่าด่วนพูด อย่าพูดเสียงดุดัน อย่ายั่วความโกรธ ถ้าเธอเป็น ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ อย่าพูดโดยผลุนผลัน อย่ากล่าวถ้อยคำชวนวิวาท ไม่ กอปรด้วยประโยชน์ วัตรคือการซักถาม อนุโลมแก่สิกขาบทอันพระ- พุทธเจ้าผู้เฉียบแหลม มีพระปัญญาทรงวางไว้ ตรัสไว้ดีแล้ว ในพระสูตร อุภโตวิภังค์ ในพระวินัย คือ ขันธกะ ในอนุโลม คือ บริวาร ใน พระบัญญัติ คือ วินัยปิฎก และในอนุโลมิกะ คือ มหาประเทศ เธอ จงพิจารณา วัตรคือการซักถามนั้น อย่าให้เสียคติที่เป็นไปในสัมปรายภพ เธอผู้ใฝ่หาประโยชน์เกื้อกูล จงซักถามถ้อยคำที่กอปรด้วยประโยชน์ โดย กาล สำนวนที่กล่าวโดยผลุนผลันของจำเลย และโจทก์ เธออย่าพึงเชื่อถือ โจทก์ฟ้องว่าต้องอาบัติ แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องอาบัติ เธอต้อง สอบสวนทั้งสองฝ่าย พึงปรับตามคำรับสารภาพ และถ้อยคำสำนวน คำ รับสารภาพ เรากล่าวไว้ในหมู่ภิกษุลัชชี แต่ข้อนั้น ไม่มีในหมู่ภิกษุอลัชชี อนึ่ง ภิกษุอลัชชีพูดมาก เธอพึงปรับตามถ้อยคำสำนวน ดังกล่าวแล้ว.
อลัชชีบุคคล
[๑๐๗๐] อุ. อลัชชีเป็นคนเช่นไร คำรับสารภาพของผู้ใดฟังไม่ขึ้น ข้า พระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ถึงข้อนั้น คนเช่นไร พระองค์ตรัสเรียกว่า อลัชชีบุคคล? พ. ผู้ที่แกล้งต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และถึงอคติ คนเช่นนี้ เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล.
ลัชชีบุคคล
[๑๐๗๑] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่าคน เช่นนี้ เป็นอลัชชีบุคคล แต่ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น คน เช่นไร พระองค์ตรัสเรียกว่า ลัชชีบุคคล? พ. ผู้ที่ไม่แกล้งต้องอาบัติ ไม่ปกปิดอาบัติ ไม่ถึงอคติ คนเช่นนี้ เราเรียกว่า ลัชชีบุคคล.
บุคคลผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม
[๑๐๗๒] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่า คน เช่นนี้ตรัสเรียกว่า ลัชชีบุคคล แต่ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ถึงผู้อื่น คนเช่นไรตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม? พ. ภิกษุโจทโดยกาลไม่ควร ๑ โจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ๑ โจท ด้วยคำหยาบ ๑ โจทด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มุ่งร้ายโจท ไม่มี เมตตาจิตโจท ๑ คนเช่นนี้ เราเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม.
บุคคลผู้โจทก์เป็นธรรม
[๑๐๗๓] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่า คน เช่นนี้ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม แต่ข้าพระพุทธเจ้า ทูลถามพระองค์ ถึงข้ออื่น คนเช่นไรตรัสเรียกว่าผู้โจทก์เป็นธรรม? พ. ภิกษุโจทโดยกาล ๑ โจทด้วยเรื่องจริง ๑ โจทด้วยคำสุภาพ ๑ โจทด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีเมตตาจิตโจท ไม่มุ่งร้ายโจท ๑ คนเช่นนี้เราเรียกว่า ผู้โจทก์เป็นธรรม.
คนโจทก์ผู้โง่เขลา
[๑๐๗๔] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่า บุคคลเช่นนี้ ตรัสเรียกว่า ผู้โจทก์เป็นธรรม แต่ข้าพระพุทธเจ้า ทูลถาม พระองค์ถึงข้ออื่น คนเช่นไร ตรัสเรียกว่าโจทก์ผู้เขลา? พ. บุคคลไม่รู้คำต้นและคำหลัง ๑ ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง ๑ ไม่รู้ทางแห่งถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ๑ ไม่ฉลาดต่อทางแห่งถ้อยคำอัน ต่อเนื่องกัน ๑ คนเช่นนี้เราเรียกว่าโจทก์ผู้เขลา.
คนโจทก์ผู้ฉลาด
[๑๐๗๕] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่า คน เช่นนี้ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้เขลา แต่ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น คนเช่นไร ตรัสเรียก โจทก์ผู้ฉลาด? พ. บุคคลรู้คำต้นและคำหลัง ๑ ฉลาดในคำต้นและคำหลัง ๑ รู้ทางแห่งถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ๑ ฉลาดต่อทางแห่งถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ๑ คนเช่นนี้เราเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด.
การโจท
[๑๐๗๖] อุ. จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบเกล้าว่า คน เช่นนี้ ตรัสเรียกว่า โจทก์ผู้ฉลาด แต่ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ ถึงข้ออื่น อย่างไร พระองค์ตรัสว่าเรียกว่าการโจท? พ. เพราะเหตุที่โจทด้วยศีลวิบัติ ๑ อาจารวิบัติ ๑ ทิฏฐิวิบัติ ๑ และแม้ด้วยอาชีววิบัติ ๑ ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าการโจท.
คาถาสังคณิกะอีกนัยหนึ่ง จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๙๔๙๗-๙๕๖๔ หน้าที่ ๓๖๔-๓๖๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=9497&Z=9564&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1069&items=8              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1069&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=8&item=1069&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=8&item=1069&items=8              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1069              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8 https://84000.org/tipitaka/english/?index_8

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]