หมวด ๕
ว่าด้วยอาบัติเป็นต้น
[๙๗๙] อาบัติมี ๕ กองอาบัติมี ๕ วินีตวัตถุมี ๕. อนันตริยกรรมมี ๕. บุคคลที่
แน่นอนมี ๕ อาบัติมีการตัดเป็นวินัยกรรมมี ๕ ต้องอาบัติด้วยอาการ ๕ อาบัติมี ๕ เพราะ
มุสาวาทเป็นปัจจัย.
ภิกษุไม่เข้ากรรมด้วยอาการ ๕ คือ ตนเองไม่ทำกรรม ๑ ไม่เชิญภิกษุอื่น ๑ ไม่ให้
ฉันทะหรือปาริสุทธิ ๑ เมื่อสงฆ์ทำกรรมย่อมคัดค้าน ๑ เมื่อสงฆ์ทำกรรมเสร็จแล้ว เห็นว่าไม่เป็น
ธรรม ๑.
ภิกษุเข้ากรรมด้วยอาการ ๕ คือ ตนเองทำกรรม ๑ เชิญภิกษุอื่น ๑ ให้ฉันทะหรือ
ปาริสุทธิ ๑ เมื่อสงฆ์ทำกรรม ไม่คัดค้าน ๑ เมื่อสงฆ์ทำกรรมเสร็จแล้ว เห็นว่าเป็นธรรม ๑
ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาต กิจ ๕ อย่างควร คือไม่บอกลาเที่ยวไป ๑ ฉันเป็นหมู่ได้ ๑
ฉันโภชนะทีหลังได้ ๑ ความไม่ต้องคำนึง ๑ ความไม่ต้องกำหนดหมาย ๑
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ จะเป็นภิกษุเลวทรามก็ดี จะเป็นภิกษุมีธรรมอันไม่กำเริบก็ดี
ย่อมถูกระแวง ถูกรังเกียจ คือ มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ๑ มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ๑ มีสาว
เทื้อเป็นโคจร ๑ มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ๑ มีภิกษุณีเป็นโคจร ๑.
น้ำมันมี ๕ คือ น้ำมันงา ๑ น้ำมันเมล็ดพันธุ์ ผักกาด ๑ น้ำมันมะทราง ๑ น้ำมัน
ละหุ่ง ๑ น้ำมันเปลวสัตว์ ๑.
น้ำมันเปลวสัตว์หมี ๕ คือ น้ำมันเปลวหมี ๑ น้ำมันเปลวปลา ๑ น้ำมันเปลวปลา
ฉลาม ๑ น้ำมันเปลวหมู ๑ น้ำมันเปลวลา ๑.
ความเสื่อมมี ๕ คือ ความเสื่อมญาติ ๑ ความเสื่อมโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อม คือ
โรค ๑ ความเสื่อมศีล ๑ ความเสื่อมทางทิฏฐิ คือ เห็นผิด ๑.
ความถึงพร้อมมี ๕ คือ ความถึงพร้อมแห่งญาติ ๑ ความถึงพร้อมแห่งโภคสมบัติ ๑
ความถึงพร้อมแห่งความไม่มีโรค ๑ ความถึงพร้อมแห่งศีล ๑ ความถึงพร้อมแห่งความเห็นชอบ.
นิสัยระงับจากพระอุปัชฌาย์มี ๕ คือ พระอุปัชฌาย์หลีกไป ๑ สึก ๑ ถึงมรณภาพ ๑
ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ๑ สั่งบังคับ ๑.
บุคคล ๕ จำพวกไม่ควรให้อุปสมบท คือ มีกาลบกพร่อง ๑ มีอวัยวะบกพร่อง ๑
มีวัตถุวิบัติ ๑ มีความกระทำเสียหาย ๑ ไม่บริบูรณ์ ๑.
ผ้าบังสุกุลมี ๕ คือ ผ้าตกที่ป่าช้า ๑ ผ้าตกที่ตลาด ๑ ผ้าหนูกัด ๑ ผ้าปลวกกัด ๑
ผ้าถูกไฟไหม้ ๑.
ผ้าบังสุกุลแม้อื่นอีก ๕ คือ ผ้าที่วัวกัด ๑ ผ้าที่แพะกัด ๑ ผ้าที่ห่มสถูป ๑ ผ้าที่เขา
ทิ้งในที่อภิเษก ๑ ผ้าที่เขานำไปสู่ป่าช้าแล้วนำกลับมา ๑.
อวหารมี ๕ คือ เถยยาวหาร ๑ ปสัยหาวหาร ๑ ปริกัปปาวหาร ๑ ปฏิจฉันนาวหาร ๑
กุสาวหาร ๑.
มหาโจรที่มีปรากฏอยู่ในโลก มี ๕.
ภัณฑะที่ไม่ควรจ่าย มี ๕.
ภัณฑะที่ไม่ควรแบ่ง มี ๕.
อาบัติที่เกิดแต่กาย มิใช่วาจา มิใช่จิต มี ๕.
อาบัติที่เกิดแต่กายและวาจา มิใช่จิต มี ๕.
อาบัติที่เป็นเทสนาคามินี มี ๕.
สงฆ์ มี ๕ ปาติโมกขุเทศ มี ๕.
ในชนบทชายแดนทุกแห่ง คณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ ให้กุลบุตรอุปสมบทได้.
การกรานกฐินมีอานิสงส์ ๕ กรรม มี ๕.
อาบัติที่เป็นยาวตติยกา มี ๕.
ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ให้ ด้วยอาการ ๕ ต้องอาบัติปาราชิก.
ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ให้ ด้วยอาการ ๕ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.
ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นไม่ให้ ด้วยอาการ ๕ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ภิกษุไม่ควรบริโภคอกัปปิยวัตถุ ๕ คือ ของที่เขาไม่ให้ ๑ ไม่ทราบ ๑ เป็นอกัปปิยะ ๑
ยังไม่ได้รับประเคน ๑ ไม่ทำให้เป็นเดน ๑.
ภิกษุควรบริโภคกัปปิยวัตถุ ๕ คือ ของที่เขาให้ ๑ ทราบแล้ว ๑ เป็นกัปปิยะ ๑
รับประเคนแล้ว ๑ ทำให้เป็นเดน ๑.
การให้ไม่จัดเป็นบุญ แต่โลกสมมติว่าเป็นบุญมี ๕ คือ ให้น้ำเมา ๑ ให้มหรสพ ๑
ให้สตรี ๑ ให้โคผู้ ๑ ให้จิตรกรรม ๑.
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว บรรเทาได้ยากมี ๕ คือ ราคะบังเกิดแล้วบรรเทาได้ยาก ๑ โทสะ
บังเกิดแล้วบรรเทาได้ยาก ๑ โมหะบังเกิดแล้วบรรเทาได้ยาก ๑ ปฏิภาณบังเกิดแล้วบรรเทาได้ยาก
๑ จิตที่คิดจะไปบังเกิดแล้ว บรรเทาได้ยาก ๑.
การกวาดมีอานิสงส์ ๕ คือ จิตของตนเลื่อมใส ๑ จิตของผู้อื่นเลื่อมใส ๑ เทวดา
ชื่นชม ๑ สั่งสมกรรมที่เป็นไปเพื่อให้เกิดความเลื่อมใส ๑ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อม
เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑.
การกวาดมีอานิสงส์แม้อื่นอีก ๕ คือ จิตของตนเลื่อมใส ๑ จิตของผู้อื่นเลื่อมใส ๑
เทวดาชื่นชม ๑ เป็นอันทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา ๑ ชุมชนมีในภายหลังถือเป็น
ทิฏฐานุคติ ๑.
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๘๐๖๒-๘๑๒๒ หน้าที่ ๓๐๗-๓๐๙.
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=8062&Z=8122&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=979&items=1
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=979&items=1&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=8&item=979&items=1
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=8&item=979&items=1
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=979
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘
https://84000.org/tipitaka/read/?index_8
https://84000.org/tipitaka/english/?index_8
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]