ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท นิทานวัตถุ

๗. วิหารการสิกขาบท
ว่าด้วยการสร้างวิหาร
เรื่องพระฉันนะ
[๓๖๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น เศรษฐีผู้อุปัฏฐากท่านพระฉันนะ บอกท่านพระฉันนะว่า “ท่านผู้ เจริญ ท่านโปรดตรวจดูสถานที่สร้างวิหาร ข้าพเจ้าจักให้สร้างวิหารถวาย” ต่อมา ท่านพระฉันนะให้แผ้วถางสถานที่สร้างวิหาร ใช้คนตัดต้นไม้รุกขเจดีย์ ต้นหนึ่งที่ชาวบ้านชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้นเคารพบูชา พวกชาว บ้านจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงใช้คนตัด ต้นไม้รุกขเจดีย์ที่ชาวบ้าน ชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้นเคารพบูชาเล่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร เบียดเบียนต้นไม้ซึ่งมีอินทรีย์เดียว” ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก น้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระฉันนะจึงใช้คนตัดต้น ไม้รุกขเจดีย์ที่ชาวบ้าน ฯลฯ ชาวแว่นแคว้นเคารพบูชาเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ ท่านพระฉันนะโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธอใช้คนตัดต้นไม้รุกขเจดีย์ที่ ชาวบ้าน ชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้นเคารพบูชาจริงหรือ” ท่านพระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ว่า “โมฆบุรุษไฉนเธอจึงใช้คนตัดต้นไม้รุกขเจดีย์ที่ชาวบ้าน ชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้นเคารพบูชาเล่า โมฆบุรุษ เพราะพวกชาวบ้านมีความ สำคัญว่า ‘ต้นไม้มีชีวะ’ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ
[๓๖๖] ก็ ภิกษุจะสร้างวิหารใหญ่ ที่มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของ ส่วนตัว ต้องพาภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ถ้าภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ หรือไม่พาภิกษุทั้งหลายไป แสดงพื้นที่ให้ เป็นสังฆาทิเสส
เรื่องพระฉันนะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๗] วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ ได้แก่ วิหารมีเจ้าของสร้างถวาย ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบภายในหรือภายนอกหรือโบกฉาบทั้ง ภายในภายนอก คำว่า สร้าง คือ สร้างเองหรือใช้คนอื่นสร้าง คำว่า ที่มีเจ้าของสร้างถวาย คือ ที่มีหญิงหรือชาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เป็นเจ้าของสร้างถวาย คำว่า สร้างเป็นของส่วนตัว คือ เพื่อประโยชน์ตน คำว่า ต้องพาภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ อธิบายว่า ภิกษุผู้จะสร้าง วิหารนั้น พึงให้แผ้วถางพื้นที่สร้างวิหารแล้วเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้า ภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผม ต้องการจะสร้างวิหารใหญ่ มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว กระผมขอ ให้สงฆ์ตรวจดูพื้นที่สร้างวิหาร ขอรับ” พึงกล่าวขอภิกษุทั้งหลายดังนี้เป็นครั้งที่ ๒ พึงกล่าวขอภิกษุทั้งหลายดังนี้เป็นที่ ๓ ถ้าสงฆ์ทั้งปวงสามารถไปตรวจดูพื้นที่สร้าง วิหารได้ ก็ต้องไปตรวจดูด้วยกันทุกรูป ถ้าสงฆ์ทั้งปวงไม่สามารถจะไปตรวจดูพื้นที่ สร้างวิหารได้หมดทุกรูป ก็ต้องขอพวกภิกษุที่ฉลาดสามารถรู้จักพื้นที่ ว่าเป็นพื้นที่มี อันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ แล้วแต่งตั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

วิธีแต่งตั้ง และกรรมวาจาแต่งตั้ง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ สงฆ์ทราบว่า [๓๖๘] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ต้องการจะสร้างวิหาร ใหญ่ที่มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว ภิกษุนั้นขอให้สงฆ์ตรวจดูพื้นที่ สร้างวิหาร ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้และชื่อนี้ ให้ตรวจดูที่สร้าง วิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ต้องการจะสร้างวิหารใหญ่ ที่มี เจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว ภิกษุนั้นขอให้สงฆ์ตรวจดูพื้นที่สร้างวิหาร สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้และชื่อนี้ ให้ตรวจดูพื้นที่สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใด เห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้และชื่อนี้ ให้ตรวจดูพื้นที่สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง ภิกษุชื่อนี้และชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจดูพื้นที่สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
วิธีขอสงฆ์แสดงพื้นที่สร้างวิหาร
[๓๖๙] ภิกษุทั้งหลายที่ได้รับแต่งตั้งเหล่านั้น ต้องไปที่นั้นแล้วพึงตรวจดู พื้นที่สร้างวิหาร ให้รู้ว่า เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มี บริเวณโดยรอบ เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ถ้าเป็นพื้นที่มีอันตรายทั้งไม่มีบริเวณ โดยรอบ พึงบอกภิกษุรูปนั้นว่า “อย่าสร้างในที่นี้” ถ้าเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายทั้งมี บริเวณโดยรอบ พึงบอกสงฆ์ว่า “เป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายทั้งมีบริเวณโดยรอบ” ภิกษุผู้จะสร้างวิหารนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา กว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมต้องการสร้าง วิหารใหญ่ ที่มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว กระผมขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่ สร้างวิหาร” พึงกล่าวขอภิกษุทั้งหลายดังนี้เป็นครั้งที่ ๒ พึงกล่าวขอภิกษุทั้งหลาย ดังนี้เป็นครั้งที่ ๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

กรรมวาจาขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่สร้างวิหาร
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ดังนี้ [๓๗๐] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ต้องการจะสร้างวิหาร ใหญ่ที่มีเจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว ภิกษุนั้นขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่สร้าง วิหาร ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงไปแสดงพื้นที่สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ต้องการจะสร้างวิหารใหญ่ที่มี เจ้าของสร้างถวาย สร้างเป็นของส่วนตัว ภิกษุนั้นขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่สร้างวิหาร สงฆ์แสดงพื้นที่สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแสดงพื้นที่ สร้างวิหารให้แก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง พื้นที่สร้างวิหารสงฆ์แสดงให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้ [๓๗๑] ที่ชื่อว่า เป็นพื้นที่มีอันตราย คือ เป็นที่อยู่ของมด เป็นที่อยู่ของ ปลวก เป็นที่อยู่ของหนู เป็นที่อยู่ของงู เป็นที่อยู่ของแมงป่อง เป็นที่อยู่ของตะขาบ เป็นที่อยู่ของช้าง เป็นที่อยู่ของม้า เป็นที่อยู่ของราชสีห์ เป็นที่อยู่ของเสือโคร่ง เป็นที่ อยู่ของเสือเหลือง เป็นที่อยู่ของหมี เป็นที่อยู่ของสุนัขป่า หรือเป็นที่อยู่ของสัตว์ ดิรัจฉานบางเหล่า อยู่ใกล้นา อยู่ใกล้สวน อยู่ใกล้ตะแลงแกง อยู่ใกล้ที่ทรมาน นักโทษ อยู่ใกล้สุสาน อยู่ใกล้อุทยาน อยู่ใกล้ที่หลวง อยู่ใกล้โรงช้าง อยู่ใกล้โรงม้า อยู่ใกล้เรือนจำ อยู่ใกล้โรงสุรา อยู่ใกล้ร้านขายเนื้อ อยู่ใกล้ถนน อยู่ใกล้ทางสี่แยก อยู่ใกล้ที่ประชุม หรืออยู่ใกล้ทางเดิน นี่ชื่อว่า พื้นที่มีอันตราย ที่ชื่อว่า เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ คือ เกวียนที่เขาเทียมวัวตามปกติไม่ สามารถวนไปได้ บันไดไม่สามารถจะทอดเวียนไปได้โดยรอบ นี้ชื่อว่า พื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ที่ชื่อว่า เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย คือ ไม่ใช่ที่อยู่ของมด ฯลฯ ไม่ใกล้ทางเดิน นี่ชื่อว่า พื้นที่ไม่มีอันตราย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ คือ เกวียนที่เขาเทียมวัวตามปกติ สามารถวนไปได้ บันไดสามารถทอดเวียนไปได้โดยรอบ นี่ชื่อว่า พื้นที่มีบริเวณโดยรอบ วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ คือ วิหารที่มีเจ้าของ ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบเฉพาะภายในหรือภายนอก หรือโบก ฉาบทั้งภายในภายนอก คำว่า สร้าง คือ สร้างเองหรือใช้คนอื่นสร้าง คำว่า ไม่พาภิกษุทั้งหลายไปแสดงพื้นที่ให้ คือ ไม่ขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่ สร้างวิหารด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก่อน สร้างเองหรือใช้คนอื่นสร้าง ต้องอาบัติ ทุกกฏ เพราะความพยายามแต่ละครั้ง ยังเหลืออิฐอีกก้อนหนึ่งจึงจะเสร็จ ต้องอาบัติ ถุลลัจจัย อิฐก้อนสุดท้ายเสร็จแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ฯลฯ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”
บทภาชนีย์
สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้
[๓๗๒] ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัวกับอาบัติสังฆาทิเสส ๑ ตัว ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มี บริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มี บริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท บทภาชนีย์

สงฆ์แสดงพื้นที่ให้
ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณ โดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มี บริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ
สั่งสร้างวิหาร สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้
[๓๗๓] ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้ แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัวกับอาบัติสังฆาทิเสส ๑ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
สั่งสร้างวิหาร สงฆ์แสดงพื้นที่ให้
ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่ มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท บทภาชนีย์

หลีกไป ไม่ได้สั่ง สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้
[๓๗๔] ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป แต่ไม่ได้สั่งว่า “วิหารนั้น สงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดย รอบ” ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัวกับอาบัติสังฆาทิเสส ๑ ตัว ฯลฯ เป็น พื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับ อาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้อง อาบัติสังฆาทิเสส
หลีกไป ไม่ได้สั่ง สงฆ์แสดงพื้นที่ให้
ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไปแต่ไม่ได้สั่งไว้ว่า “วิหารนั้นสงฆ์ ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบ” ผู้รับคำสั่ง สร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้อง อาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติ ทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ
สร้างผิดคำสั่ง สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้
[๓๗๕] ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป แต่ได้สั่งว่า “วิหาร นั้นสงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบ” ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ภิกษุนั้นทราบข่าวว่า “เขาสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้เรา เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ” ภิกษุนั้นพึงไปเองหรือส่งทูตไป บอกว่า “วิหารนั้นสงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมี บริเวณโดยรอบ” ถ้าไม่ไปเองหรือไม่ส่งทูตไปบอก ต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ วิหารนั้น สงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้และต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย ฯลฯ วิหารนั้นสงฆ์ต้องแสดง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท บทภาชนีย์

พื้นที่ให้และต้องมีบริเวณโดยรอบ ฯลฯ วิหารนั้นสงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้ หากไม่ไป เองหรือไม่ส่งทูตไปบอก ต้องอาบัติทุกกฏ
สร้างผิดคำสั่ง สงฆ์แสดงพื้นที่ให้
ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป และได้สั่งว่า “วิหารนั้นสงฆ์ ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบด้วย ผู้รับคำ สั่งสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ภิกษุนั้นทราบข่าวว่า “เขาสร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้เรา เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ” ภิกษุนั้นพึงไปเองหรือพึงส่งทูตไปบอกว่า “วิหารนั้น ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบ” ฯลฯ “ต้องเป็นที่ไม่มีอันตราย” ฯลฯ “ต้องมีบริเวณโดยรอบ” ฯลฯ ไม่ต้องอาบัติ
สร้างผิดคำสั่ง สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้
[๓๗๖] ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป แต่ได้สั่งว่า “วิหาร นั้นสงฆ์ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบ” ผู้ รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี บริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มี อันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ
สร้างผิดคำสั่ง สงฆ์แสดงพื้นที่ให้
ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป แต่ได้สั่งว่า “วิหารนั้นสงฆ์ ต้องแสดงพื้นที่ให้ ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีอันตรายและต้องมีบริเวณโดยรอบ” ผู้รับคำสั่ง สร้างวิหารที่สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณ โดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท บทภาชนีย์

บริเวณโดยรอบ ภิกษุผู้สร้างต้องอาบัติทุกกฏ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มี บริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ
สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ สร้างค้าง
[๓๗๗] ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป ผู้รับคำสั่งสร้างวิหาร ที่สงฆ์ไม่ได้แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ถ้า เขาสร้างค้างไว้ ภิกษุนั้นกลับมา พึงให้วิหารนั้นแก่ภิกษุอื่นหรือรื้อสร้างใหม่ ถ้า ไม่ให้ภิกษุอื่นหรือไม่รื้อสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว กับอาบัติสังฆาทิเสส ๑ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติ สังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติ ทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ สร้างค้าง
ภิกษุสั่งว่า “จงสร้างวิหารให้เรา” แล้วหลีกไป ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารที่สงฆ์ แสดงพื้นที่ให้ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ถ้าเขาสร้างค้างไว้ ภิกษุนั้นกลับมา พึงให้วิหารนั้นแก่ภิกษุอื่นหรือรื้อสร้างใหม่ ถ้าไม่ให้ภิกษุอื่นหรือไม่ รื้อสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ฯลฯ เป็นพื้นที่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณ โดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่ไม่มีบริเวณโดยรอบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯลฯ เป็นพื้นที่ไม่มีอันตราย เป็นพื้นที่มีบริเวณโดยรอบ ไม่ต้องอาบัติ
สร้างค้าง สร้างต่อ
[๓๗๘] วิหารตนสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส วิหารตนสร้างค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นสร้างต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๗. วิหารการสิกขาบท อนาปัตติวาร

วิหารผู้อื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส วิหารผู้อื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นสร้างต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๓๗๙] ๑. ภิกษุสร้างเงื้อมผามีประตู ๒. ภิกษุตบแต่งถ้ำ ๓. ภิกษุสร้างกุฎีหญ้า ๔. ภิกษุสร้างวิหารเพื่อภิกษุอื่น ๕. ภิกษุสร้างอาคารนอกจากนั้น ยกเว้นอาคารที่พักของตน ๖. ภิกษุวิกลจริต ๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
วิหารการสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐๒-๔๑๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=1&siri=50              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=16994&Z=17309                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=521              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=521&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=1586              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=521&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=1586                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss7/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :