บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๓. โอวาทวรรค ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ
๓. โอวาทวรรค ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ เรื่องพระอุทายี [๑๙๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระอุทายี บวชในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีนั้นมาที่สำนักท่านพระอุทายีเป็นประจำ ท่าน พระอุทายีก็ไปสำนักของภิกษุณีนั้นเป็นประจำ สมัยนั้น ท่านพระอุทายีนั่งในที่ลับ กับภิกษุณีนั้นสองต่อสอง บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ไฉนท่าน พระอุทายีจึงนั่งในที่ลับกับภิกษุณีสองต่อสองเล่า ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระ อุทายีโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า อุทายี ทราบว่า เธอนั่งในที่ลับกับภิกษุณีสองต่อสอง จริงหรือ ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งอยู่ในที่ลับกับภิกษุณีสองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่ เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท นี้ขึ้นแสดงดังนี้พระบัญญัติ [๑๙๙] ก็ ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับภิกษุณีสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์เรื่องพระอุทายี จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๑}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๓. โอวาทวรรค ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์ [๒๐๐] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน คำว่า สองต่อสอง ได้แก่ ภิกษุกับภิกษุณี ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ที่ลับหู ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง ที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะขึ้น ใครๆ ก็ไม่สามารถแลเห็นได้ ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติ คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อภิกษุณีนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้กัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ [๒๐๑] เมื่อภิกษุนั่ง ภิกษุณีนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุและภิกษุณีทั้งสองนั่งใกล้หรือนอนใกล้กัน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์บทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าเป็นที่ลับ นั่งสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ลับ ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ที่ลับ นั่งสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๒}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๓. โอวาทวรรค ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าเป็นที่ลับ นั่งสองต่อสอง ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งสองต่อสอง ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ที่ลับ ไม่ต้องอาบัติอนาปัตติวาร ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๐๒] ๑. ภิกษุมีบุรุษรู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๒. ภิกษุยืน ไม่ได้นั่ง ๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งว่าเป็นที่ลับ ๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น ๕. ภิกษุวิกลจริต ๖. ภิกษุต้นบัญญัติรโหนิสัชชสิกขาบทที่ ๑๐ จบ โอวาทวรรคที่ ๓ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๓}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๓. โอวาทวรรค รวมสิกขาบทที่มีในโอวาทวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในโอวาทวรรค โอวาทวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ ๑. โอวาทสิกขาบท ว่าด้วยการสั่งสอนภิกษุณี ๒. อัตถังคตสิกขาบท ว่าด้วยการสั่งสอนภิกษุณีในเวลาที่ดวงอาทิตย์อัสดงแล้ว ๓. ภิกขุนูปัสสยสิกขาบท ว่าด้วยการไปสั่งสอนภิกษุณีถึงที่สำนัก ๔. อามิสสิกขาบท ว่าด้วยการสั่งสอนภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส ๕. จีวรทานสิกขาบท ว่าด้วยการถวายจีวร ๖. จีวรสิพพนสิกขาบท ว่าด้วยการเย็บจีวรให้ภิกษุณี ๗. สังวิธานสิกขาบท ว่าด้วยการชักชวนเดินทางร่วมกัน ๘. นาวาภิรูหนสิกขาบท ว่าด้วยการโดยสารเรือลำเดียวกัน ๙. ปริปาจิตสิกขาบท ว่าด้วยการฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๔}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๖๑-๓๖๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=66 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10128&Z=10194 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=466 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=466&items=4 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8061 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=466&items=4 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8061 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc30/en/brahmali
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]