บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]
๑๐. ทุติยมารกถา
๑๐. ทุติยมารกถา ว่าด้วยมาร เรื่องที่ ๒ เรื่องทรงแนะวิธีให้ได้อนุตตรวิมุตติ [๓๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุทั้งหลาย เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดย แยบคายเราจึงได้บรรลุอนุตตรวิมุตติ ได้ทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย เพราะทำไว้ในใจโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดยแยบคาย แม้ท่าน ทั้งหลายย่อมบรรลุอนุตตรวิมุตติได้ ย่อมทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้งได้ ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า ท่านได้ถูกผูกด้วยบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ท่านได้ถูกเครื่องผูกหลายประการรัดรึงแล้ว แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นเราได้ดอก พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เราได้พ้นแล้วจากบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหลายประการ แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้ จักเรา มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้นทุติยมารกถา จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๔}
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]
๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ ว่าด้วยภิกษุภัททวัคคีย์ เรื่องทรงแสดงธรรมโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน [๓๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ตามพระอัธยาศัย แล้วได้เสด็จจาริกไปทางตำบลอุรุเวลา เสด็จหลีกจากทาง เข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ครั้นเสด็จถึงไพรสณฑ์แห่งนั้นแล้ว ได้ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง สมัยนั้น สหายภัททวัคคีย์ประมาณ ๓๐ คนพร้อมภรรยาบำเรอกันใน ไพรสณฑ์แห่งนั้น สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกสหายจึงนำหญิงแพศยามาเพื่อ ประโยชน์แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกเขาเผอเรอมัวบำเรอ กัน สหายเหล่านั้นเมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหาหญิงแพศยาจนไปถึงไพรสณฑ์ แห่งนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วจึงเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระองค์ทรงเห็นหญิงคนหนึ่งบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า กุมารทั้งหลาย พวกเธอมีความต้องการ หญิงไปทำไม สหายภัททวัคคีย์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็น สหายภัททวัคคีย์มีประมาณ ๓๐ คนในตำบลนี้ พร้อมภรรยาบำเรอกันในไพรสณฑ์ แห่งนี้ สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกข้าพระองค์จึงได้นำหญิงแพศยามาเพื่อประโยชน์ แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกข้าพระองค์ เผอเรอมัวบำเรอ กัน เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์เป็นสหายกัน เมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหา หญิงแพศยาจนมาถึงไพรสณฑ์แห่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า กุมารทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร การที่พวกเธอจะแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตน อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๕}
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]
๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
การที่พวกข้าพระองค์แสวงหาตนนี่แหละ ประเสริฐกว่า พระพุทธเจ้าข้า กุมารทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่พวกเธอ สหายภัททวัคคีย์เหล่านั้นทูลรับว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่พวกเขา เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป เป็นธรรมดา เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว๑- บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้นภัททวัคคิยวัตถุ จบ ภาณวารที่ ๒ จบ @เชิงอรรถ : @๑ เห็นธรรม หมายถึงได้ธรรมจักษุ คือ บางพวกได้บรรลุโสดาปัตติมรรค บางพวกได้บรรลุสกทาคามิมรรค @บางพวกได้บรรลุอนาคามิมรรค มรรคทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ธรรมจักษุ (วิ.อ. ๓/๓๖/๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๖}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๔-๔๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=15 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=811&Z=863 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=35 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=35&items=2 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=541 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=35&items=2 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=541 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic13 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:13.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.12.5
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]