ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์
เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
[๒๘๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง พาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใน กรุงพาราณสีนั้น สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ทั้ง ๒ คนมีศรัทธาทั้งเป็น ทายก เป็นกัปปิยการก เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ในกรุงพาราณสี วันหนึ่งอุบาสิกา สุปปิยาไปที่อาราม เดินเที่ยวไปตามวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่งแล้วถามภิกษุทั้งหลาย ว่า “ภิกษุรูปใดอาพาธ รูปใดจะให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า” สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่าย ลำดับนั้น ท่านได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยา ดังนี้ว่า “น้องหญิง อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำต้มเนื้อ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา

อุบาสิกาสุปปิยากล่าวว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะนำมาถวายเป็นพิเศษ” แล้ว กลับไปบ้านสั่งคนรับใช้ว่า “เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่มีขายมา”๑- คนรับใช้รับคำแล้วไปเที่ยวหาซื้อเนื้อทั่วกรุงพาราณสีก็ไม่เห็นเนื้อสัตว์ที่มีขาย ลำดับนั้น คนรับใช้นั้นจึงกลับเข้าไปหาอุบาสิกาสุปปิยาบอกว่า “แม่เจ้า ไม่มีเนื้อ สัตว์ที่เขาขาย วันนี้เป็นวันห้ามฆ่าสัตว์” ครั้งนั้น อุบาสิกาสุปปิยาได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุเป็นไข้รูปนั้นเมื่อไม่ได้ ฉันน้ำต้มเนื้อ อาพาธจะกำเริบหรือถึงมรณภาพได้ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไป ถวายไม่สมควรเลย” จึงได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาอ่อนตนส่งให้หญิงรับใช้สั่ง ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุไข้ที่วิหารหลังโน้น และใครถาม ถึงเราก็จงบอกว่าเราเป็นไข้” แล้วใช้ผ้าห่มพันขาเข้าห้องนอนบนเตียง ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะไปบ้านถามหญิงรับใช้ว่า “แม่สุปปิยาไปไหน” หญิงรับใช้ตอบว่า “นายท่าน แม่เจ้าสุปปิยานั่นนอนอยู่ในห้อง” อุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยาดังนี้ว่า “เธอนอนทำไม” อุบาสิกาตอบว่า “ดิฉันเป็นไข้” อุบาสกถามว่า “เธอเป็นโรคอะไร” อุบาสิกาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ แม่สุปปิยามีศรัทธาถึงกับสละเนื้อตนเอง สิ่งใดอื่น ทำไมนางจะให้ไม่ได้” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มี พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลใน วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ @เชิงอรรถ : @ เนื้อสัตว์ที่มีขาย หมายถึงเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว (วิ.อ. ๓/๒๘๐/๑๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา

ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก จากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป เมื่อผ่านราตรีนั้นไป อุบาสกสุปปิยะสั่งให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้ว ให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปนิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วยืน ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุบาสกสุปปิยะดังนี้ว่า “อุบาสิกาสุปปิยาอยู่ที่ไหน” อุบาสกกราบทูลว่า “นางเป็นไข้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอให้นางมาเถอะ” อุบาสกกราบทูลว่า “นางไม่สามารถมาได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอช่วยพยุงมาเถิด” อุบาสกสุปปิยะพยุงภรรยามาเฝ้า ทันทีที่นางได้เห็นพระผู้มีพระภาค แผลใหญ่ กลับหายเป็นปกติ มีผิวพรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่า อัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพียงได้เห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่กลับหายเป็นปกติ มีผิว พรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุ สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาเห็นชัด ชวน ให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ ถามพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครเล่าออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ได้ออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เขานำมาถวายแล้วหรือ” ภิกษุกราบทูลว่า “นำมาถวาย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอฉันแล้วหรือ” ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอพิจารณาแล้วหรือ” ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอยังไม่ได้พิจารณาเลย จึงฉันเนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว โมฆบุรุษ การกระทำของเธอมิได้ทำคนที่ยัง ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผู้มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ คนแม้เหล่านั้น ได้สละเนื้อของตนถวาย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติ ถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังไม่ได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อช้างเป็นต้น
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
[๒๘๑] สมัยนั้น ช้างหลวงล้ม ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลาย พากันกินเนื้อช้าง ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อช้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา

คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงฉันเนื้อช้างเล่า ช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่” ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยนั้น ม้าหลวงตาย ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกิน เนื้อม้า ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อม้า คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงฉันเนื้อม้าเล่า ม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้อสุนัข ได้ ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อสุนัข คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงฉันเนื้อสุนัขเล่า สุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียดสกปรก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้องู ได้ถวาย แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้องู คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากย- บุตรจึงฉันเนื้องูเล่า งูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง” ฝ่ายพญานาคสุปัสสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่สมควร พญานาคสุปัสสะซึ่งยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า นาคงูที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่ นาคเหล่านั้น พึงเบียดเบียนภิกษุแม้ด้วยเหตุเล็กน้อยได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่พึงฉันเนื้องูเลย” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พญานาคสุปัสสะเห็นชัด ชวนให้ อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถา ลำดับนั้น พญานาคสุปัสสะผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้ อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถาแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วจากไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าราชสีห์กิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ราชสีห์ไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อ ราชสีห์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เสือโคร่งไล่ตะครุบภิกษุ เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือเหลืองแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เสือเหลืองไล่ตะครุบภิกษุ เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใด ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าหมีแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อหมีแล้วอยู่ในป่า หมีไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่น เนื้อหมี ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือดาวแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เสือดาวไล่ตะครุบภิกษุเพราะ ได้กลิ่นเนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สุปปิยภาณวารที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๘๐-๘๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=14              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=1372&Z=1508                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=58              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=58&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3972              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=58&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3972                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:23.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.23



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :