ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

กุสาวดีราชธานี

๔. มหาสุทัสสนสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
[๒๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ ในสมัยครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่าง ไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันของพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคอย่าได้ปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่น ยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มาก ในเมืองเหล่านั้น ท่านเหล่านี้จะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต” [๒๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูด อย่างนั้นว่า ‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
กุสาวดีราชธานี
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีกษัตราธิราชพระนามว่ามหาสุทัสสนะผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้วทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากุสาวดี ได้เป็นราชธานีของ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี เหมือนกับกรุงอาฬกมันทาซึ่ง เป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครมเพราะเสียง ๑๐ ชนิดทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

กุสาวดีราชธานี

กรุงกุสาวดีราชธานี มีกำแพงล้อม ๗ ชั้น ได้แก่ (๑) กำแพงทอง (๒) กำแพงเงิน (๓) กำแพงแก้วไพฑูรย์ (๔) กำแพงแก้วผลึก (๕) กำแพงแก้วโกเมน (๖) กำแพงแก้ว บุษราคัม (๗) กำแพงทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีประตู ๔ สี ได้แก่ (๑) ประตูทอง (๒) ประตูเงิน (๓) ประตูแก้วไพฑูรย์ (๔) ประตูแก้วผลึก แต่ละประตูมีเสาระเนียด ปักไว้ประตูละ ๗ ต้น ได้แก่ (๑) เสาทอง (๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก (๕) เสาแก้วโกเมน (๖) เสาแก้วบุษราคัม (๗) เสาทำด้วยรัตนะ ทุกอย่าง แต่ละเสาวัดโดยรอบ ๓ ชั่วบุรุษ ฝังลึก ๓ ชั่วบุรุษ สูง ๑๒ ชั่วบุรุษ๑- กรุงกุสาวดีราชธานีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว ได้แก่ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน ๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน ๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก ต้นตาลแก้วผลึก มีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้วโกเมน มีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัม มีลำต้น เป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้น ทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้ เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า๒- ที่บุคคลปรับเสียงดี ประโคมดีแล้ว บรรเลง โดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้มฉันใด แถวต้น ตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียงแถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ ชั่วบุรุษ ในที่นี้หมายถึงชื่อมาตราวัดโบราณ ๑ ชั่วบุรุษเท่ากับ ๕ ศอก (ที.ม.อ. ๒๔๑-๒๔๒/๒๒๕) @ ดนตรีเครื่องห้า คือ (๑) อาตฏะ กลองที่หุ้มหนังหน้าเดียว (เช่น กลองยาว) (๒) วิตฏะ กลองหุ้มทั้ง ๒ หน้า @(เช่น ตะโพน) (๓) อาตฏวิตฏะ กลองหุ้มหนังโดยรอบ(เช่น บัณเฑาะว์) (๔) สุสิระ เครื่องเป่า(เช่น ปี่และสังข์) @(๕) ฆนะเครื่องประโคม (เช่น ฉาบฉิ่ง) (ที.ม.อ. ๒๔๒/๒๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

จักรแก้ว

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ๑-
จักรแก้ว
[๒๔๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์(ความสำเร็จ) ๔ ประการ แก้ว ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ในเรื่องแก้ว ๗ ประการนี้ ๑. เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา อุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทอดพระเนตรแล้ว ทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้ว่า ‘กษัตราธิราชพระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียรในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม จะปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบ ทุกอย่าง กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ กระมัง” [๒๔๔] ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษา เฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้น ตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไป ทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๘๕-๘๗/๕๒-๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๕๖-๒๕๙/๒๒๓-๒๒๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

จักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อ ท้าวเธอ จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทางทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปยัง มหาสมุทรทิศตะวันตก แล้วกลับเวียนไปทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินี- เสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้ว หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด” พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ [๒๔๕] ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต อย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับยังกรุงกุสาวดีราชธานี มาปรากฏแก่พระเจ้ามหา สุทัสสนะที่พระทวารภายในพระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายใน พระราชวังของท้าวเธอให้สว่างไสว จักรแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ม้าแก้ว

ช้างแก้ว
[๒๔๖] ๒. ช้างแก้วซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไป ในอากาศได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ๑- ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือช้าง ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ ทันใดนั้น ช้างแก้วเชือกนั้นได้รับการ ฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยพันธุ์ดีตระกูลคันธหัตถี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอด กาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบช้างแก้วเชือกนั้น โดยเสด็จ ขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จเลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จ กลับกรุงกุสาวดีราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ม้าแก้ว
[๒๔๗] ๓. ม้าแก้วซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้า ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท‘’ ทันใดนั้น ม้าแก้วตัวนั้นได้รับการ ฝึกหัด เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบม้านั้น โดยเสด็จขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จ เลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกรุงกุสาวดีราชธานี ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้า มหาสุทัสสนะ @เชิงอรรถ : @ พญาช้างตระกูลอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงช้างมงคลตระกูล ๑ ในบรรดา ๑๐ ตระกูล คือ (๑) กาฬวกหัตถี @(สีดำ) (๒) คังไคยหัตถี (สีเหมือนน้ำไหล) (๓) ปัณฑรหัตถี (สีขาวดังเขาไกรลาส) (๔) ตามพหัตถี (สีทองแดง) @(๕) ปิงคลหัตถี (สีทองอ่อนดังสีตาแมว) (๖) คันธหัตถี (สีไม้กฤษณา มีกลิ่นตัวหอม) (๗) มังคลหัตถี @(สีนิลอัญชัน มีกิริยาท่าทางเดินงดงาม) (๘) เหมหัตถี (สีเหลืองดั่งทอง) (๙) อุโบสถหัตถี (สีทองคำ) @(๑๐) ฉัททันตหัตถี (กายสีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง) (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน @พ.ศ. ๒๕๒๕) ในช้างมงคล ๑๐ ตระกูลนี้ ช้างอุโบสถประเสริฐที่สุด (ที.ม.อ. ๒๔๖/๒๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

คหบดีแก้ว

มณีแก้ว
[๒๔๘] ๔. มณีแก้วซึ่งเป็นแก้วไพฑูรย์งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มีแปด เหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกแวววาวได้สัดส่วน แสงสว่างของมณีแก้วดวงนั้น มีรัศมี แผ่ซ่านออกรอบๆ ประมาณ ๑ โยชน์ อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรง ทดสอบมณีแก้วดวงนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรงยกมณีแก้ว นั้นขึ้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ สำคัญว่าเป็นเวลากลางวัน จึงทำการงานด้วยแสงสว่างแห่งมณีแก้วนี้ มณีแก้วที่ ทรงคุณวิเศษเห็นปานนั้น ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
นางแก้ว
[๒๔๙] ๕. นางแก้วซึ่งเป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่อง ยิ่งนัก ไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก งดงามเกิน ผิวพรรณหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นสัมผัสอ่อนนุ่มดุจ ปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน กลิ่นจันทน์หอมฟุ้ง ออกจากกาย กลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากปากของนาง นางตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำอันชวนให้รัก นางไม่ เคยประพฤตินอกพระทัยของท้าวเธอแม้ทางใจ ไหนเลยจะประพฤตินอกพระทัย ทางกาย นางแก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
คหบดีแก้ว
[๒๕๐] ๖. คหบดีแก้วซึ่งเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดจากผลกรรม ซึ่งสามารถ เห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่ากังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้า จะจัดการเรื่อง(ขุม)ทรัพย์ให้สำเร็จเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์” อานนท์ เรื่องมี มาว่า ท้าวเธอทรงเคยทดสอบคหบดีแก้วมาแล้ว โดยเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไป กลางแม่น้ำคงคาตรัสกับคหบดีแก้วดังนี้ว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทอง’ เขา กราบทูลว่า ‘มหาราชเจ้า ถ้าเช่นนั้น โปรดเทียบเรือที่ริมตลิ่งด้านหนึ่ง’ ท้าวเธอ ตรัสว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทองที่นี่’ ทันใดนั้น คหบดีแก้วจึงเอามือทั้งสอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

จุ่มลงไปในน้ำแล้วยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและทองขึ้นมากราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า ‘มหาราชเจ้า เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ ท้าวเธอ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ คหบดี แก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ปริณายกแก้ว
[๒๕๑] ๗. ปริณายกแก้วซึ่งเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญาสามารถทำให้ พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไป ณ ที่ควรเสด็จไป ให้เสด็จหลีกไปยังสถานที่ที่ควร เสด็จหลีกไป หรือให้ทรงยับยั้ง ณ สถานที่ที่ควรยับยั้ง ได้ปรากฏแก่ท้าวเธอ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่า กังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายคำปรึกษา” ปริณายกแก้ว ผู้ทรงคุณวิเศษ เห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการนี้
ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ
[๒๕๒] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ (ความสำเร็จ) ๔ ประการ ฤทธิ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวี ผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่าคนอื่น ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการ ที่ ๑ นี้ ๒. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระชนมายุยืนยาวนานเกินกว่าคนอื่น ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๒ นี้ ๓. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระโรคาพาธน้อย มีความทุกข์น้อย ทรงมีไฟธาตุทำงานสม่ำเสมอยิ่งกว่าคนอื่น คือไม่เย็นนักและไม่ ร้อนนัก ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๓ นี้ ๔. พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์ และคหบดีทั้งหลาย อานนท์ บิดาเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบุตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

ทั้งหลาย ฉันใด ท้าวเธอทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์ และคหบดีทั้งหลาย ฉันนั้น อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ อานนท์ บุตรทั้งหลาย เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบิดา ฉันใด พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ก็เป็น ที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ ฉันนั้น อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนา พวกพราหมณ์และคหบดีเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์อย่าเพิ่งด่วนเสด็จไป พวกข้า พระพุทธเจ้าจะได้เฝ้านานๆ’ ท้าวเธอตรัสกับสารถีว่า ‘เธอ อย่ารีบขับรถไป เราจะได้เห็นพวกพราหมณ์และคหบดีนานๆ’ ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๔ นี้ อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี
[๒๕๓] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาลเหล่านี้’ แล้วรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาล เหล่านั้น สระโบกขรณีเหล่านั้นก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด ได้แก่ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก สระโบกขรณีเหล่านั้น แต่ละสระมีบันได ๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทอง มีลูกกรงทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและ หัวเสาทำด้วยแก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสา ทำด้วยแก้วไพฑูรย์ สระโบกขรณีเหล่านั้น มีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและ หัวเสาทำด้วยทอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ในสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า จะให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้ เพื่อมอบให้แก่ทุกๆ คน ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า’ จึงรับสั่งให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้ เพื่อมอบให้แก่ทุกๆ คน ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า [๒๕๔] ต่อมา พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณี เหล่านี้ ทางที่ดี เราน่าจะตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้ มาแล้วๆ ให้อาบน้ำ’ จึงทรงตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้มาแล้วๆ ให้อาบน้ำ จากนั้น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า จะจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้ คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทอง’ จึงทรงจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทองไว้ที่ ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น [๒๕๕] อานนท์ ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีถือเอาทรัพย์สมบัติเป็น อันมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า ทรัพย์สมบัติมากมายนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้านำมาถวายเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระ บาทเท่านั้น ขอพระองค์ทรงรับไว้ด้วยเถิด’ ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านทั้งหลายนำทรัพย์สมบัติมากมายนี้มาเพื่อเรา ด้วยพลีอันชอบธรรม สิ่งนี้จงเป็นของพวกท่าน(ต่อไป)เถิด และจงนำกลับไปให้ มากกว่านี้’ เมืองท้าวเธอทรงปฏิเสธ พวกเขาจึงหลีกไปอยู่ ณ ที่สมควรแล้วปรึกษาหารือ กันอย่างนี้ว่า ‘การที่พวกเราจะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้กลับคืนไปยังเรือนของตนอีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

นั้นไม่สมควร ทางที่ดี พวกเราควรช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้ามหา สุทัสสนะ’ จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาท’ ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี [๒๕๖] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระราชดำริของพระเจ้า มหาสุทัสสนะ จึงมีเทวบัญชาเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า ‘มาเถิด สหาย วิสสุกรรม เธอจงไปสร้างพระนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาท ถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ’ วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับเทวบัญชาแล้ว อันตรธานจากภพดาวดึงส์ไปปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น กราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า จะเนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระองค์’ ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระเจ้า มหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและ ทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ มีฐานสูงกว่า ๓ ชั่วบุรุษ ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก ธรรมปราสาทมีเสา ๘๔,๐๐๐ ต้น แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เสาทอง (๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก ปูด้วยแผ่นกระดาน ๔ ชนิด คือ (๑) กระดานทอง (๒) กระดานเงิน (๓) กระดานแก้วไพฑูรย์ (๔) กระดานแก้วผลึก ธรรมปราสาทมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำด้วย ทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วย ทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

สวนตาล

ธรรมปราสาทมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เรือน ยอดทอง (๒) เรือนยอดเงิน (๓) เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ (๔) เรือนยอดแก้วผลึก ในเรือนยอดทองตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดเงินตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแก้ว ไพฑูรย์ตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแก้วผลึกตั้งบัลลังก์แก้วบุษราคัมไว้ ที่ใกล้ประตู เรือนยอดทองตั้งต้นตาลเงิน ซึ่งมีลำต้นเป็นเงิน ใบและผลเป็นทอง ที่ใกล้ประตู เรือนยอดเงินตั้งต้นตาลทอง ซึ่งมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ที่ใกล้ประตู เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ตั้งต้นตาลแก้วผลึก ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็น แก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแก้วผลึกตั้งต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้ว ไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก
สวนตาล
[๒๕๗] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะให้ สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ๑- สำหรับนั่งพักผ่อนกลางวัน’ จึงรับสั่งให้สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ สำหรับทรงนั่ง พักผ่อนกลางวัน ธรรมปราสาทมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง [๒๕๘] ธรรมปราสาทมีข่ายกระดิ่งแวดล้อม ๒ ชั้น คือ ข่ายทองชั้นหนึ่ง ข่ายเงินชั้นหนึ่ง ข่ายทองมีกระดิ่งเงิน ข่ายเงินมีกระดิ่งทอง ข่ายกระดิ่งเหล่านั้นยาม เมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรี เครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียง ไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด ข่ายกระดิ่งเหล่านั้น ยามเมื่อ ต้องลมเกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ มหาวิยูหะ เป็นชื่อเรือนยอดหลังใหญ่ที่ทำด้วยเงิน (ที.ม.อ. ๒๖๐/๒๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

สระธรรมโบกขรณี

สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานีมีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียงกระดิ่งยามที่ต้องลมเหล่านั้น ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว มองดูได้ยาก เพราะมีแสงสะท้อนบาดตา อานนท์ ในสารทกาลคือเดือนท้ายฤดูฝน เมื่ออากาศ แจ่มใสไร้เมฆหมอก ดวงอาทิตย์ส่องนภากาศ มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา ฉันใด ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว ก็มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา ฉันนั้น
สระธรรมโบกขรณี
[๒๕๙] อานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะให้สร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท’ จึงรับสั่งให้สร้าง สระธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ สระธรรมโบกขรณีก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก สระธรรมโบกขรณีมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำ ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสา ทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วย แก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้ว ไพฑูรย์ สระธรรมโบกขรณีมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง สระธรรมโบกขรณีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว คือ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน ๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน ๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

ต้นตาลแก้วผลึกมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้ว โกเมนมีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัมมี ลำต้นเป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้นทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้ เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดย ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด แถวต้นตาล เหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียง แถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น เมื่อธรรมปราสาทและสระธรรมโบกขรณีสร้างสำเร็จแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้ทรงเลี้ยงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร ตามที่ต้องการทุกอย่างแล้ว เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท
ภาณวารที่ ๑ จบ
ทรงเจริญฌานสมาบัติ
[๒๖๐] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’ ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง คือ (๑) การให้ (๒) การข่มใจ (๓) การสำรวม แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า ‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[๒๖๑] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก๑- วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่ [๒๖๒] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๒- ทิศเบื้องล่าง๓- ทิศเฉียง๔- แผ่ไป ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๕- ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ @เชิงอรรถ : @ วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ ๑ ในองค์ฌาน ๕ มิใช่ @วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก @(ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. ๙๖/๑๑๒) @ ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕) @ ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕) @ ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕) @ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้ @และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น

ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น
[๒๖๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็น ที่ประทับ ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ เป็นช้างทรง ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ พระที่นั่ง ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็น หัวหน้า ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัวที่พร้อมจะให้น้ำนม จนสามารถเอาภาชนะรองรับได้ ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ [๒๖๔] อานนท์ สมัยนั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทั้งเช้าและเย็น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ช้างของเราทั้ง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้มาหาเรา ทั้งเช้าและเย็น ทางที่ดี ควรให้ช้างของเรา ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง’ จึงรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า “สหายปริณายกแก้ว ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

มาหาเราทั้งเช้าและเย็น อย่ากระนั้นเลย ควรให้ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี ต่อครั้งเถิด’ ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมา ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง
พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า
[๒๖๕] อานนท์ ครั้นล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระนางสุภัททา- เทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทางที่ดี เราควร เข้าเฝ้าพระองค์อีก‘จึงรับสั่งเรียกพระสนมมาตรัสว่า “มาเถิด เธอทั้งหลาย จงอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เราจะ ไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’ พวกพระสนมทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้วอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง เข้าไปเฝ้าพระนางสุภัททาเทวีถึงที่ประทับ ทีนั้น พระนางสุภัททาเทวีรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า ‘พ่อปริณายกแก้ว ท่านจงจัดหมู่จาตุรงคินีเสนาให้พร้อม นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เราจะไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’ ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้ว จัดหมู่จาตุรงคินีเสนาไว้ให้ เรียบร้อย กราบทูลพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า “ขอเดชะพระเทวี ข้าพระพุทธเจ้าจัด หมู่จตุรงคินีเสนาพร้อมแล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า’ จากนั้น พระนางสุภัททาเทวีพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนาและพระสนม ได้เสด็จ เข้าไปยังธรรมปราสาทขึ้นสู่ธรรมปราสาทเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืน เหนี่ยวบานพระทวารเรือนยอดมหาวิยูหะอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสดับเสียง จึงทรงดำริดังนี้ว่า ‘เสียง อะไรหนอ เหมือนเสียงของหมู่มหาชน’ จึงเสด็จออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะ ทอดพระเนตรเห็นพระนางสุภัททาเทวีประทับยืนเหนี่ยวบานพระทวารอยู่ จึงตรัส กับพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า ‘เทวี เธอหยุดอยู่ที่นั่นแหละ อย่าเข้ามาเลย’ รับสั่ง เรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อผู้เจริญ มาทางนี้ พ่อจงนำบัลลังก์ทองจาก เรือนยอดมหาวิยูหะไปตั้งในสวนตาลทอง’ ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เชิญบัลลังก์ทองจากเรือนยอดมหา- วิยูหะไปตั้งไว้ในสวนตาลทอง จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสำเร็จสีหไสยาโดย พระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ [๒๖๖] อานนท์ ลำดับนั้น พระนางสุภัททาเทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘พระอินทรีย์ ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะผ่องใสยิ่งนัก พระฉวีวรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท้าวเธออย่าได้ สวรรคตเลย’ จึงกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดทรง เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท เป็นที่ประทับ โปรดทรงพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง พระชนม์เถิด ทรงทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ โปรดทรงพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงพอพระทัย บัลลังก์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ เป็นช้างทรง โปรดทรงพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง พระชนม์เถิด ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดทรง เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่อง ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง โปรดทรงพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี แก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดทรง เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี คหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยใน การดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง พระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อ ดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง พระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง พระชนม์เถิด’
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช
[๒๖๗] อานนท์ เมื่อพระนางสุภัททาเทวี กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามหา สุทัสสนะได้ตรัสตอบดังนี้ว่า ‘เทวี เธอพูดทักทายเราด้วยสิ่งอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจมาช้านาน แต่มาครั้งสุดท้าย เธอทักทายเราด้วยสิ่งอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเลย’ พระนางสุภัททาเทวีทูลถามว่า ‘หม่อมฉันจะกราบทูล อย่างไรเล่า จึงจะพอพระทัย เพคะ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ท้าวเธอตรัสว่า 'เทวี เธอจงทักทายเราอย่างนี้ว่า 'ขอเดชะ ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมีความอาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความ อาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมี เมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความ พอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาท เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็น บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยในบัลลังก์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่อง ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง โปรดทรงละความพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่า ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ พระที่นั่ง โปรดทรงละความพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละ ความพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี สตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี โปรดทรงละความพอพระทัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

สตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรง เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายก- แก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมา ถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหาร เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’ [๒๖๘] อานนท์ เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสอย่างนี้ พระนางสุภัททา- เทวีทรงพระกันแสงหลั่งพระอัสสุชล ทรงเช็ดพระอัสสุชลแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้า มหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยน เป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมี อาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้ ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่า ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท เป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็น ที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง ทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยบัลลังก์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง โปรดทรงละความ พอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้า วลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วย หนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง โปรดทรงละความ พอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละความพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้ว เป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง ละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง ละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระ ชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี รวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดอย่า ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จสู่พรหมโลก
[๒๖๙] อานนท์ ต่อจากนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็ได้สวรรคต ท้าวเธอ ทรงมีความรู้สึกขณะใกล้จะสวรรคตเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้บริโภคโภชนะที่ ชอบใจและก็ย่อมเมาในรสอาหาร ฉะนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เมื่อสวรรคตแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรง ตำแหน่งอุปราช ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงเพศคฤหัสถ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในธรรมปราสาท ๘๔,๐๐๐ ปี เพราะทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วจึงไปเกิดในพรหมโลก
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา
[๒๗๐] อานนท์ เธอคงเห็นอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในสมัยนั้น คงจะเป็นคนอื่นแน่’ แต่ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เราเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะในสมัยนั้น เรามีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่อยู่ มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอด มหาวิยูหะเป็นที่อยู่ มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง ทั้ง ๒ ข้าง มีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย ตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง มีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่อง ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง มีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด มีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี มีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า มีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้ว เป็นหัวหน้า มีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะ รองรับได้ มีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ มีสำรับอาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ [๒๗๑] บรรดาเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง ในสมัยนั้น เราอยู่ครอบครองเมือง เดียวเท่านั้น คือ กรุงกุสาวดีราชธานี ปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ เราอยู่ในปราสาท หลังเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท เรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง เราอยู่ในเรือนยอด หลังเดียวเท่านั้น คือ เรือนยอดมหาวิยูหะ บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ บัลลังก์ที่เรา ใช้สอย คือ บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา หรือบัลลังก์แก้วบุษราคัม บัลลังก์ใด บัลลังก์หนึ่งเท่านั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง ช้างที่เราขี่เชือกเดียวเท่านั้น คือ พญาช้าง ตระกูลอุโบสถ ม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า ม้าที่เราขี่ตัวเดียวเท่านั้น คือ พญาม้าวลาหก ราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน ราชรถที่เราใช้คันเดียวเท่านั้น คือ เวชยันต์ราชรถ สตรี ๘๔,๐๐๐ นาง นางกษัตริย์หรือนางแพศย์คนเดียวเท่านั้นที่ปรนนิบัติเรา ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ ผ้าที่เรานุ่งมีเพียงคู่เดียวเท่านั้น จะเป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้าย เนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี หรือผ้ากัมพลเนื้อดีก็ตาม สำรับอาหาร ๘๔,๐๐๐ สำรับ สำรับอาหารที่เราบริโภคเพียงสำรับเดียวเท่านั้น คือ ข้าวสุกทะนานหนึ่งเป็นอย่างมาก พร้อมด้วยกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น [๒๗๒] ดูเถิด อานนท์ สังขารเหล่านั้นทั้งปวงล่วงลับดับไป ผันแปรไปแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลาย ไม่น่ายินดีอย่างนี้แล อานนท์ ข้อนี้จึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรจะหลุด พ้นไปจากสังขารทั้งปวงโดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]

พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

อานนท์ เรารู้ว่า การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ได้ทอดทิ้งสรีระไว้ ณ สถานที่นี้ถึง ๖ ครั้งแล้ว การทอดทิ้งสรีระครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่อื่นใด ในโลกพร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระเป็นครั้งที่ ๘ เลย” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส พระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”
มหาสุทัสสนสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๘๑-๒๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=4              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=3916&Z=4464                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=163              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=10&item=163&items=24              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=5807              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=10&item=163&items=24              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=5807                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/dn17/en/sujato https://suttacentral.net/dn17/en/tw_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :