ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๐. ธาตุวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกธาตุ
[๓๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ ถึงกรุงราชคฤห์แล้ว เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะถึงที่อยู่ แล้วได้ตรัสว่า “ภัคควะ ถ้าท่านไม่ หนักใจ เราขอพักในศาลาสักคืนหนึ่ง” นายภัคควะกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่หนักใจเลย แต่ในศาลานี้ มีบรรพชิตเข้าไปพักอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตรูปนั้นอนุญาต ก็ขอเชิญท่านพักตาม สบายเถิด” ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา อุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาค ปุกกุสาติกุลบุตรนั้น เข้าไปพักอยู่ในศาลาของนายช่าง หม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติถึงที่อยู่แล้ว ได้ตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าเธอไม่หนักใจ เราขอพักในศาลาสักคืนหนึ่ง” ท่านปุกกุสาติตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ศาลาของนายช่างหม้อกว้างขวาง เชิญ ท่านพักตามสบายเถิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังศาลาของนายช่างหม้อ ทรงลาด สันถัดหญ้า ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระวรกายตรง ดำรง พระสติไว้เฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งจนล่วงเลยราตรีไปมาก แม้ท่านปุกกุสาติ ก็นั่งจนล่วงเลยราตรีไปมากเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ ทางที่ดี เราควรจะถามดู” จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติว่า “ภิกษุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” ท่านปุกกุสาติตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จ ออกจากศากยราชตระกูลทรงผนวชแล้ว ก็พระสมณโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น มี พระกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าบวช อุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดาของ ข้าพเจ้า และข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น” “ภิกษุ ก็บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับ อยู่ ณ ที่ไหน” “ท่านผู้มีอายุ บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี ในอุตตรชนบท” “ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็นแล้วจะรู้จักหรือ” “ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย และเห็น แล้วก็ไม่รู้จัก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา ทางที่ดี เรา พึงแสดงธรรมแก่เขา” ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกท่านปุกกุสาติมา ตรัสว่า “ภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา จักกล่าว” ท่านปุกกุสาติทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

[๓๔๓] “ภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖ ๑- มีผัสสายตนะ(แดนเกิดแห่งผัสสะ) ๖ มี มโนปวิจาร(ความนึกหน่วงทางใจ) ๑๘ มีอธิษฐานธรรม(ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ) ๔ เมื่อความกำหนดหมาย ซึมซาบไม่ถึงบุรุษผู้คงอยู่ในอธิษฐานธรรม บัณฑิต จึงเรียกบุรุษนั้นว่า ‘มุนีผู้สงบแล้ว’ บุรุษไม่พึงประมาทปัญญา๒- พึงตามรักษา สัจจะ๓- พึงเพิ่มพูนจาคะ๔- พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น’ นี้เป็นอุทเทสแห่งธาตุวิภังค์ ๖ ประการ [๓๔๔] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖ ประการ’ เพราะ อาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุ ธาตุ ๖ ประการ นี้ คือ ๑. ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ๒. อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ๓. เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ๔. วาโยธาตุ (ธาตุลม) ๕. อากาสธาตุ (ธาตุคืออากาศ) ๖. วิญญาณธาตุ (ธาตุคือวิญญาณ) คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖ ประการ’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๔๕] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีผัสสายตนะ ๖ ประการ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ @เชิงอรรถ : @ ธาตุ ๖ ในที่นี้หมายถึงข้อปฏิบัติเป็นส่วนเบื้องต้นของกุลบุตรมี ๖ ประการ คือ (๑) ความสำรวมในศีล @(๒) ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ ๖ (๓) ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (๔) การประกอบเนืองๆ @ซึ่งธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง (๕) สัทธรรม ๗ (๖) รูปฌาน ๔ (ม.อุ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๒) @ ไม่พึงประมาทปัญญา ในที่นี้หมายถึงไม่พึงประมาทปัญญาในสมาธิและวิปัสสนา เพื่อแทงตลอดปัญญา @ในอรหัตตผล (ม.อุ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๓) @ พึงตามรักษาสัจจะ ในที่นี้หมายถึงรักษาสัจจะมาแต่ต้น เพื่อกระทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งคือนิพพาน @(ม.อุ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๓) @ พึงเพิ่มพูนจาคะ หมายถึงเพิ่มพูนการสละกิเลส(อย่างหยาบ)มาแต่ต้น เพื่อทำการสละกิเลสทั้งหมดด้วย @อรหัตตมรรค (ม.อุ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

๑. ผัสสายตนะคือจักขุ ๒. ผัสสายตนะคือโสตะ ๓. ผัสสายตนะคือฆานะ ๔. ผัสสายตนะคือชิวหา ๕. ผัสสายตนะคือกาย ๖. ผัสสายตนะคือมโน คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีผัสสายตนะ ๖ ประการ’ นั่น เพราะ อาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๔๖] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีมโนปวิจาร ๑๘’ เพราะอาศัย เหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ บุคคลเห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมนึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ย่อม นึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ย่อมนึกหน่วงรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์อันเป็น ที่ตั้งแห่งอุเบกขา ความนึกหน่วงโสมนัส ๖ ความนึกหน่วงโทมนัส ๖ ความนึกหน่วงอุเบกขา ๖ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีมโนปวิจาร ๑๘’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๔๗] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีอธิษฐานธรรม ๔ ประการ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. อธิษฐานธรรมคือปัญญา ๒. อธิษฐานธรรมคือสัจจะ ๓. อธิษฐานธรรมคือจาคะ ๔. อธิษฐานธรรมคืออุปสมะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุ บุรุษนี้มีอธิษฐานธรรม ๔ ประการ’ นั่น เพราะ อาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
ธาตุ ๖ ประการ
[๓๔๘] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘บุรุษไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าว ไว้เช่นนั้น บุรุษไม่พึงประมาทปัญญา เป็นอย่างไร คือ ธาตุ ๖ ประการนี้ ได้แก่ ๑. ปฐวีธาตุ ๒. อาโปธาตุ ๓. เตโชธาตุ ๔. วาโยธาตุ ๕. อากาสธาตุ ๖. วิญญาณธาตุ [๓๔๙] ปฐวีธาตุ เป็นอย่างไร คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ปฐวีธาตุภายนอกก็มี ปฐวีธาตุภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูป๑- ภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น ของหยาบ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือ อุปาทินนกรูปภายในอื่นใดที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่าปฐวีธาตุภายใน @เชิงอรรถ : @ อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน คำนี้เป็นชื่อของรูปที่ดำรงอยู่ภายในสรีระ ที่ยึดถือ จับต้อง @ลูบคลำได้ เช่น ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า คำนี้กำหนดจำแนกหมายเอาปฐวีธาตุภายใน @แต่สำหรับอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน พึงทราบความพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิ @มรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๐๒/๑๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ปฐวีธาตุภายใน และปฐวีธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นปฐวีธาตุนั่นเอง บัณฑิตควร เห็นปฐวีธาตุนั้น ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วย ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด จากปฐวีธาตุ [๓๕๐] อาโปธาตุ เป็นอย่างไร คือ อาโปธาตุภายในก็มี อาโปธาตุภายนอกก็มี อาโปธาตุภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความ เอิบอาบ ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำตา มันข้น เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรืออุปาทินนกรูปภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็น ของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ นี้เรียกว่าอาโปธาตุภายใน อาโปธาตุภายในและอาโปธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นอาโปธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง เห็นอาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ และทำจิตให้คลาย กำหนัดจากอาโปธาตุ [๓๕๑] เตโชธาตุ เป็นอย่างไร คือ เตโชธาตุภายในก็มี เตโชธาตุภายนอกก็มี เตโชธาตุภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้อบอุ่น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ให้ทรุดโทรม ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้เร่าร้อน ธรรมชาติที่เป็นเครื่อง ย่อยสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และลิ้มรสแล้ว หรืออุปาทินนกรูปภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน นี้เรียกว่าเตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายในและเตโชธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นเตโชธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง เห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วย ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด จากเตโชธาตุ [๓๕๒] วาโยธาตุ เป็นอย่างไร คือ วาโยธาตุภายในก็มี วาโยธาตุภายนอกก็มี วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความ พัดไปมา ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออุปาทินนกรูป ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่าวาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายในและวาโยธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นวาโยธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง เห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิตให้คลาย กำหนัดจากวาโยธาตุ๑- @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๓๐๒-๓๐๕/๓๓๐-๓๓๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

[๓๕๓] อากาสธาตุ เป็นอย่างไร คือ อากาสธาตุภายในก็มี อากาสธาตุภายนอกก็มี อากาสธาตุภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นสภาวะว่างเปล่า มีความ ว่างเปล่า ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม และ ช่องสำหรับของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม ไหลลงเบื้องต่ำ หรืออุปาทินนกรูป ภายในอื่นใดที่เป็นของเฉพาะตน เป็นสภาวะว่างเปล่า มีความว่างเปล่า นี้เรียกว่าอากาสธาตุภายใน๑- อากาสธาตุภายในและอากาสธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นอากาสธาตุนั่นเอง บัณฑิต พึงเห็นอากาสธาตุนั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอากาสธาตุนั้นตามความ เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ และทำจิต ให้คลายความกำหนัดจากอากาสธาตุ [๓๕๔] ทีนั้น วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหลืออยู่ บุคคลย่อมรู้เรื่องอะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือรู้ว่า ‘สุข’ บ้าง รู้ว่า ‘ทุกข์’ บ้าง รู้ว่า ‘อทุกขมสุข’ บ้าง เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา สุขเวทนาจึงเกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวย สุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาอยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้ง แห่งสุขเวทนานั้นนั่นแลดับ สุขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา ที่เสวยอยู่อันเกิดจากผัสสะนั้นก็ดับคือสงบไป’ [๓๕๕] เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ทุกขเวทนาจึงเกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาอยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นนั่นแลดับ ทุกขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัย ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ที่เสวยอยู่อันเกิดจากผัสสะนั้นก็ดับคือสงบไป’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๗๒-๑๗๗/๑๓๔-๑๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

[๓๕๖] เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา จึงเกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขม- สุขเวทนาอยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นนั่นแลดับ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ที่เสวย อยู่อันเกิดจากผัสสะนั้นก็ดับคือสงบไป’ [๓๕๗] ภิกษุ เปรียบเหมือนไม้ ๒ อัน เสียดสีกัน จึงเกิดความร้อน ไฟลุกขึ้น เพราะแยกไม้ทั้งสองนั้นออกจากกัน ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีนั้นจึงดับ ระงับไป แม้ฉันใด บุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา สุขเวทนาจึงเกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวย สุขเวทนาอยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นนั่นแลดับ สุขเวทนา ที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ที่เสวยอยู่อันเกิดจากผัสสะนั้น ก็ดับคือสงบไป’ [๓๕๘] เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ทุกขเวทนาจึงเกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาอยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นนั่นแลดับ ทุกขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัย ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ที่เสวยอยู่อันเกิดจากผัสสะนั้นก็ดับคือสงบไป’ [๓๕๙] เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งอทุกขมสุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาจึง เกิด บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา อยู่’ รู้ชัดว่า ‘เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นนั่นแลดับ อทุกขม- สุขเวทนาที่เกิดเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ที่เสวยอยู่อัน เกิดจากผัสสะนั้นก็ดับคือสงบไป’๑- [๓๖๐] ทีนั้น อุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน และ ผ่องใส เหลืออยู่ เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทองผู้ชำนาญ ตระเตรียม เบ้าแล้วสุมปากเบ้า เอาคีมคีบทองใส่ลงที่ปากเบ้า แล้วสูบลมตามสมควรแก่เวลา @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๘/๒๘๒-๒๘๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

เอาน้ำประพรมตามสมควรแก่เวลา เพ่งดูตามสมควรแก่เวลา ทองนั้นเป็นทองที่ ถูกไล่ขี้เขม่าหมดแล้ว จึงเป็นทองอ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ผุดผ่อง และ ช่างทองหรือลูกมือของช่างทองมุ่งหมายจะทำเครื่องประดับชนิดใดๆ คือ แผ่นทอง ต่างหู สร้อยคอ หรือมาลัยทอง ทองนั้นย่อมอำนวยประโยชน์ให้เขาได้ แม้ฉันใด๑- อุเบกขาอื่นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นอุเบกขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง อ่อน เหมาะแก่ การใช้งาน และผ่องใสเหลืออยู่ [๓๖๑] บุคคลนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควร๒- แก่ธรรมนั้น๓- เมื่อเป็นเช่นนั้น อุเบกขาของเรานี้ก็จะเป็นอุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้น ยึดอากาสานัญจายตนฌานนั้น คงอยู่ตลอดกาลนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น อุเบกขาของเรานี้ก็จะ เป็นอุเบกขาที่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ยึดวิญญาณัญจายตนฌานนั้น คงอยู่ตลอดกาลนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานนั้น ยึดอากิญจัญญายตนฌานนั้น คงอยู่ตลอดกาลนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตน ฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ยึดเนวสัญญานาสัญญายตน ฌานนั้น คงอยู่ตลอดกาลนาน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๐๓/๓๔๕-๓๔๖ @ ธรรมสมควร ในที่นี้หมายถึงรูปาวจรฌานฝ่ายกุศล (ม.อุ.อ. ๓/๓๖๑/๒๑๖) @ ธรรมนั้น ในที่นี้หมายถึงอรูปาวจรฌานฝ่ายวิบาก (ม.อุ.อ. ๓/๓๖๑/๒๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

[๓๖๒] ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็ จะเป็นจิตที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็จะเป็นจิตที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นจิตที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ถ้าเราน้อมอุเบกขาอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตน ฌาน และอบรมจิตให้มีธรรมสมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็จะเป็นจิตที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง แล้ว ภิกษุนั้นจะไม่ปรุงแต่ง จะไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย เธอเมื่อไม่ ปรุงแต่ง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่หวาดหวั่น เมื่อไม่หวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนเท่านั้น รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ [๓๖๓] ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา จึงรู้ชัดว่า ‘สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน‘๑- ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา จึงรู้ชัดว่า ‘ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่า หมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา จึงรู้ชัดว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ [๓๖๔] ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา จึงเป็นผู้ปราศจาก(กิเลส) เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา จึงเป็นผู้ปราศจาก(กิเลส) เสวยทุกขเวทนานั้น @เชิงอรรถ : @ ไม่น่าเพลิดเพลิน หมายถึงรู้ชัดว่า ‘ไม่ควรเพลิดเพลินด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ’ @(ม.อุ.อ. ๓/๓๖๓/๒๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา จึงเป็นผู้ปราศจาก(กิเลส)เสวยอทุกขมสุขเวทนา นั้น เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด จึงรู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด จึงรู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ รู้ชัดว่า ‘หลังจากตายไป เวทนาทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว’ [๓๖๕] ภิกษุ เปรียบเหมือนตะเกียงน้ำมันติดอยู่ได้ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ตะเกียงน้ำมันนั้นย่อมหมดเชื้อดับไป เพราะหมดน้ำมันและไส้ และเพราะไม่เติมน้ำ มันและไส้ใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด จึงรู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด จึงรู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ รู้ชัดว่า ‘หลังจากตายไป เวทนาทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว’๑- เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้เพียบพร้อมแล้วอย่างนี้๒- ชื่อว่าเป็น ผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญาอันยอดเยี่ยมนี้ เพราะว่าปัญญาอันประเสริฐ ยอดเยี่ยมนี้ คือความรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง๓- [๓๖๖] ความหลุดพ้นของภิกษุนั้น เป็นอันตั้งอยู่ ไม่กำเริบในสัจจะ เพราะ ว่าสิ่งใดมีความเลอะเลือนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นของเท็จ สิ่งใดไม่มีความ เลอะเลือนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นของจริงคือนิพพาน เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ เพียบพร้อมแล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะอัน ยอดเยี่ยมนี้ เพราะสัจจะนี้เป็นบรมอริยสัจคือนิพพานอันไม่มีความเลอะเลือนเป็น ธรรมดา [๓๖๗] อนึ่ง อุปธิทั้งหลาย๔- ของภิกษุผู้ไม่รู้แจ้งในกาลก่อนนั้นนั่นแล เป็น อันเธอสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เธอละอุปธิเหล่านั้นได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๕/๒๗๙ @ ผู้เพียบพร้อมแล้วอย่างนี้ หมายถึงผู้ประกอบด้วยอรหัตตผลปัญญาซึ่งเป็นอธิษฐานธรรมอันสูงสุด @(ม.อุ.อ. ๓/๓๖๕/๒๑๙) @ หมายความว่า ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ญาณ(ความรู้)ในอรหัตตผลเท่านั้น @(ม.อุ.อ. ๓/๓๖๕/๒๑๙) @ อุปธิทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอุปธิ ๔ คือ (๑) อุปธิคือขันธ์ (๒) อุปธิคือกิเลส (๓) อุปธิคืออภิสังขาร @(๔) อุปธิคือกามคุณ ๕ (ม.อุ.อ. ๓/๓๖๗/๒๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เพียบพร้อมแล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยอธิษฐาน ธรรมคือจาคะอันยอดเยี่ยมนี้ เพราะว่าจาคะอันประเสริฐ ยอดเยี่ยมนี้ คือความ สละคืนอุปธิทั้งปวง [๓๖๘] อนึ่ง อภิชฌา คือ ความพอใจ ความกำหนัดยินดีของภิกษุผู้ไม่รู้ แจ้งในกาลก่อนนั้นนั่นแลมีอยู่ เธอละอภิชฌา คือ ความพอใจ ความกำหนัด ยินดีได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่ พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ความอาฆาต คือ ความพยาบาท ความคิดประทุษร้ายของภิกษุผู้ไม่รู้แจ้งใน กาลก่อนนั้นนั่นแลมีอยู่ เธอละความอาฆาต คือ ความพยาบาท ความคิด ประทุษร้ายนั้นได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อวิชชา คือ ความหลง งมงายของภิกษุผู้ไม่รู้แจ้งในกาลก่อนนั้นนั่นแลมีอยู่ เธอละอวิชชา คือความหลง งมงายนั้นได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาล ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้เพียบพร้อมแล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือ อุปสมะอันยอดเยี่ยมนี้ ความสงบระงับราคะ โทสะ โมหะ นี้เป็นความสงบระงับ อันประเสริฐยอดเยี่ยม คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุรุษไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูน จาคะ พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๖๙] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘เมื่อความกำหนดหมาย๑- ซึมซาบไม่ถึงบุรุษผู้คง อยู่ในอธิษฐานธรรม บัณฑิตจึงเรียกบุรุษนั้นว่า ‘มุนีผู้สงบแล้ว’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น @เชิงอรรถ : @ ความกำหนดหมาย หมายถึงความกำหนดหมาย ๓ ประการ คือ (๑) ความกำหนดหมายด้วยอำนาจ @ตัณหา (๒) ความกำหนดหมายด้วยอำนาจมานะ (๓) ความกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิ @(ม.อุ.อ. ๓/๓๖๙/๒๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ภิกษุ ความกำหนดหมายว่า “เรามี” ความกำหนดหมายว่า “เราไม่มี” ความกำหนดหมายว่า “เราจักมี” ความกำหนดหมายว่า “เราจักไม่มี” ความ กำหนดหมายว่า “เราจักมีรูป” ความกำหนดหมายว่า “เราจักไม่มีรูป” ความ กำหนดหมายว่า “เราจักมีสัญญา” ความกำหนดหมายว่า “เราจักไม่มีสัญญา” ความกำหนดหมายว่า “เราจักมีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ความกำหนดหมายเป็นดุจโรค ความกำหนดหมายเป็นดุจหัวฝี ความ กำหนดหมายเป็นดุจลูกศร๑- แต่เราเรียกภิกษุว่า ‘มุนีผู้สงบแล้ว’ เพราะก้าวล่วง ความกำหนดหมายทั้งปวง เพราะว่ามุนีผู้สงบแล้ว ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่ต้องเกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้ อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘เมื่อความกำหนดหมาย ซึมซาบไม่ถึงบุรุษผู้คงอยู่ใน อธิษฐานธรรม บัณฑิตจึงเรียกบุรุษนั้นว่า ‘มุนีผู้สงบแล้ว’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ ภิกษุ เธอจงจำธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้ของเราไว้” [๓๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านปุกกุสาติรู้ว่า “ได้ยินว่า พระศาสดาของเราเสด็จมา ถึงแล้ว ได้ยินว่า พระสุคตของเราเสด็จมาถึงแล้ว ได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราเสด็จมาถึงแล้ว” จึงลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า หมอบลงแทบ พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา เบาปัญญา มีความผิดที่ข้าพระองค์ ได้สำคัญพระผู้มีพระภาคว่าควรเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาค จง ให้อภัยโทษแก่ข้าพระองค์ เพื่อสำรวมต่อไป”๒- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถอะ เธอผู้โง่ เขลา เบาปัญญา มีความผิดที่ ได้สำคัญเราว่าควรร้องเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ แต่เธอเห็นความผิดโดยเป็นความ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๘/๒๖๗, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๘/๑๖๗ @ ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๕/๒๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร

ผิดแล้วกระทำคืนตามธรรม เราก็ยกโทษให้เธอ ภิกษุ ก็การที่บุคคลเห็นความผิด โดยเป็นความผิด แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความ เจริญในอริยวินัย” ท่านปุกกุสาติกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้ อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด” “เธอมีบาตรและจีวรครบแล้วหรือ” “ไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ตถาคตทั้งหลายจะไม่ให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรไม่ครบอุปสมบท” ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกขึ้น จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไปแสวงหา บาตรและจีวร ทันใดนั้นเอง แม่โคได้ขวิดท่านปุกกุสาติผู้กำลังเที่ยวแสวงหาบาตรและจีวร เสียชีวิต ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “กุลบุตรชื่อ ปุกกุสาติที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทด้วยพระโอวาทโดยย่อนั้น ตายเสียแล้ว เขา มีคติเป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้ บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว และเธอไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ปุกกุสาติกุลบุตร จึงเป็นโอปปาติกะ๑- จะ นิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ธาตุวิภังคสูตรที่ ๑๐ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (จูฬปุณณมสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๐๑-๔๑๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=40              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=8748&Z=9019                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=673              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=673&items=25              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=5049              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=673&items=25              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=5049                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i673-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i673-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.140.than.html https://suttacentral.net/mn140/en/sujato https://suttacentral.net/mn140/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :