ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร
ว่าด้วยเทพบุตรผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ต่างๆ
[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของ เดียรถีย์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร อาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร อสมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี พระภาค ปรารภปูรณะ กัสสปะว่า ท่านปูรณะ กัสสปะมองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน ในเพราะการตัด การฆ่า การโบย การเสื่อมทรัพย์ ท่านจึงบอกให้เบาใจเสีย สมควรที่จะยกย่องท่านว่าเป็นศาสดาในโลกนี้ ลำดับนั้น สหลีเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ มักขลิ โคศาลต่อไปว่า ท่านมักขลิ โคศาล สำรวมตนดีแล้ว ด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ ละวาจาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เป็นผู้สม่ำเสมอ งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ พูดจริง เป็นผู้คงที่ ไม่ทำบาปแน่นอน ลำดับนั้น นิกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ นิครนถ์ นาฏบุตรต่อไปว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้กีดกันบาป มีปัญญาเครื่องบริหาร เห็นภัยในสังสารวัฏ เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม๑- เปิดเผยสิ่งที่ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว เป็นผู้ไม่หยาบช้าแน่นอน ลำดับนั้น อาโกฏกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภพวกเดียรถีย์ต่างๆ ต่อไปอีกว่า ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านมักขลิ โคศาล และท่านปูรณะ กัสสปะเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นครูของหมู่คณะ บรรลุความเป็นสมณะ๒- ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ไกลจากสัตบุรุษแน่นอน ลำดับนั้น เวฏัมพรีเทพบุตรได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตรด้วยคาถาว่า ในกาลไหนๆ สุนัขจิ้งจอกสัตว์เล็กๆ ชั้นเลว จะแสดงจริตกริยาให้เสมอราชสีห์ไม่ได้เลย ครูของหมู่คณะเป็นคนเปลือย มักพูดคำเท็จ มีพฤติกรรมน่าระแวงสงสัย จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้เลย ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก ของพระผู้มีพระภาคว่า สัตว์เหล่าใดประกอบด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ รักษาความสงบสงัด ติดอยู่ในรูป เพลิดเพลินในเทวโลก สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าสั่งสอนโดยชอบเพื่อปรโลกโดยแท้ @เชิงอรรถ : @ ๔ ยาม หมายถึงส่วน ๔ เหล่านี้ คือ (๑) ห้ามน้ำเย็นทั้งปวง (๒) ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง @(๓) กำจัดบาปทั้งปวง (๔) ห้ามบาปทั้งปวงถูกต้อง (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๑/๑๒๐, สํ.ฏีกา ๑/๑๑๑/๑๗๘, ดูเทียบ @ที.สี. (แปล) ๙/๑๗๗/๕๘-๕๙) @ บรรลุความเป็นสมณะ หมายถึงบรรลุจุดหมายสูงสุดแห่งสมณธรรม (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๑/๑๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงได้ตรัสตอบ มารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า รูปใดๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า และแม้จะอยู่ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที นมุจิมาร รูปทั้งหมดนั้นท่านก็สรรเสริญแล้ววางดักไว้ เหมือนบุคคลใช้เหยื่อล่อฆ่าปลา ฉะนั้น ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตรได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภพระผู้มีพระภาคว่า คนพูดกันว่า บรรดาภูเขาในกรุงราชคฤห์ ภูเขาวิปุละเยี่ยมที่สุด บรรดาภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ ภูเขาเสตบรรพตเยี่ยมที่สุด บรรดาสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ดวงอาทิตย์เยี่ยมที่สุด บรรดาห้วงน้ำทั้งหลาย สมุทรเยี่ยมที่สุด บรรดาดวงดาวทั้งหลาย ดวงจันทร์เยี่ยมที่สุด บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเลิศกว่ามนุษย์และเทวดา
นานาติตถิยสาวกสูตรที่ ๑๐ จบ
นานาติตถิยวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สิวสูตร ๒. เขมสูตร ๓. เสรีสูตร ๔. ฆฏิการสูตร ๕. ชันตุสูตร ๖. โรหิตัสสสูตร ๗. นันทสูตร ๘. นันทิวิสาลสูตร ๙. สุสิมสูตร ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร
เทวปุตตสังยุต จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๒๔-๑๒๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=111              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2091&Z=2152                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=313              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=313&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3144              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=313&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3144                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i278-e.php#sutta10 https://suttacentral.net/sn2.30/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :