ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๖. อัสสชิสูตร
ว่าด้วยพระอัสสชิ
[๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้ เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก พักอยู่ที่กัสสปการาม ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมากล่าวว่า “มาเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของผมว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า’ และขอพวกท่านจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จ ไปเยี่ยมภิกษุอัสสชิถึงที่อยู่เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๖. อัสสซิสูตร

ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ ประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จไปเยี่ยม ภิกษุอัสสชิถึงที่อยู่เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปเยี่ยม ท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอัสสชิดังนี้ว่า “อย่าเลย อัสสชิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย เราจักนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้นั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามว่า “อัสสชิ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ฯลฯ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบ ไม่ปรากฏหรือ” ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย จะ เป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า” “อัสสชิ เธอไม่รำคาญ ไม่ทุรนทุรายบ้างหรือ” “ความจริง ข้าพระองค์รำคาญ ทุรนทุรายมาก พระพุทธเจ้าข้า” “อัสสชิ เธอติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่” “ข้าพระองค์ติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” “อัสสชิ ถ้าเธอติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรำคาญ ทุรนทุรายไปทำไม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๖. อัสสซิสูตร

“เมื่อก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) บรรเทาความ ป่วยไข้อยู่จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่เสื่อม จากสมาธินั้นหรือ’ พระพุทธเจ้าข้า” “อัสสชิ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีสมาธิเป็นแก่นสาร มีสมาธิเป็นคุณแห่ง สมณะ เมื่อไม่ได้สมาธินั้นจึงคิดว่า ‘เรายังไม่เสื่อมจากสมาธินั้นหรือ’ อัสสชิ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ถ้าอริยสาวกนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้า เธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ ฯลฯ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอ เสวยทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ถ้าอริยสาวกนั้นเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกาย เป็นที่สุด’ ถ้าอริยสาวกเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามี ชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจากตายไปก็รู้ชัดว่า ‘ความเสวยอารมณ์ทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว’ อัสสชิ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ตะเกียงน้ำมันจึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมัน และไส้ ตะเกียงน้ำมันนั้นจึงหมดเชื้อดับไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวย เวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจากตายไป ก็รู้ชัดว่า ‘ความเสวยอารมณ์ทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว”๑-
อัสสชิสูตรที่ ๖ จบ
๗. เขมกสูตร
ว่าด้วยพระเขมกะ
[๘๙] สมัยหนึ่ง พระเถระจำนวนมากอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น ท่านพระเขมกะอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก พักอยู่ที่พทริการาม ครั้นในเวลาเย็น พระเถระทั้งหลายออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เรียกท่านพระ ทาสกะมากล่าวว่า “มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้ว บอกว่า ‘ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านว่า ‘เธอยังสบายดีหรือ ยังพอ เป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการ กำเริบไม่ปรากฏหรือ'’ ท่านพระทาสกะรับคำแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ได้กล่าวว่า ‘ท่าน เขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านว่า ‘เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ” ท่านพระเขมกะตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนา มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ” ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้วเรียนว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวว่า ‘ผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกข- เวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ ปรากฏ” “มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘ท่าน เขมกะ พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๕/๒๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๖๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๖๓-๑๖๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=88              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2800&Z=2857                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=222              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=222&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7595              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=222&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7595                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta6 https://suttacentral.net/sn22.88/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.88/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :