บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑. โสตานุคตสูตร
๕. มหาวรรค หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่ ๑. โสตานุคตสูตร ว่าด้วยธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท [๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่ง ธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๑- อันบุคคลพึงหวังได้๒- อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ๓- เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ แก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติเกิดขึ้นช้า๔- ต่อมา เธอระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษ๕- เร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ ที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ @เชิงอรรถ : @๑ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ หมายถึงทำให้ประจักษ์ชัดด้วยปัญญาทั้งโดยผลและโดยเหตุ @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑) @๒ พึงหวังได้ หมายถึงจำต้องปรารถนา จำต้องได้อย่างแน่นอน (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๐/๒๑๔, @องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๕/๑๕๓) @๓ หลงลืมสติ ในที่นี้หมายถึงการตายแบบปุถุชน มิได้หมายถึงการไม่มีสติเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธพจน์ @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑) @๔ สติเกิดขึ้นช้า หมายถึงความระลึกได้ช้า ถึงพระพุทธพจน์ที่เคยเล่าเรียนมา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑) @๕ บรรลุคุณวิเศษ ในที่นี้หมายถึงบรรลุพระนิพพาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๗๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑. โสตานุคตสูตร
๒. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มี ความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทาง จิต แสดงธรรมแก่หมู่เทพ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า นี้คือธรรม วินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอ ระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดในเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ใช่เสียง กลองหรือไม่หนอ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เป็นเสียง กลองแน่นอน ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ๓. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความ สุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางจิตก็ไม่ ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรแสดงธรรมในหมู่เทพ เธอมี ความคิดอย่างนี้ว่า นี้คือธรรมวินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ยิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๗๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑. โสตานุคตสูตร
เสียงสังข์ เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ใช่เสียง สังข์หรือไม่หนอ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เป็นเสียง สังข์แน่นอน ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ๔. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่ เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้ มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญ ทางจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดง ธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรผู้เป็นโอปปาติกะ๑- เตือนเทพบุตร ผู้ เป็นโอปปาติกะว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านระลึกถึงธรรมวินัยที่พวก เราเคยประพฤติพรหมจรรย์มาได้ไหม เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ระลึกได้ ระลึกได้ ท่านผู้นิรทุกข์ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึง บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน เปรียบเหมือนสหาย ๒ คนผู้เคยเล่นฝุ่นด้วยกันมาพบกันบาง ครั้งบางคราวในที่บางแห่ง คนหนึ่งพึงกล่าวกับอีกคนหนึ่งอย่างนี้ ว่า สหาย ท่านระลึกถึงกรรมนี้ได้บ้างไหม เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ระลึกได้ ระลึกได้ สหาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้โสตานุคตสูตรที่ ๑ จบ @เชิงอรรถ : @๑ หมายถึงเทพบุตรผู้เกิดก่อน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๗๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๒. ฐานสูตร
๒. ฐานสูตร ว่าด้วยฐานะที่พึงรู้ด้วยฐานะ [๑๙๒] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ ประการ ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มี ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ ๒. ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแลพึงรู้ได้ โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ ๓. กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้ เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ ๔. ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้ เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแล พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีปกติทำให้ขาด ทำให้ทะลุ ทำให้ด่าง ทำให้พร้อย ไม่ทำต่อเนื่อง ไม่ประพฤติต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย ตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่เป็นผู้มีศีล อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีปกติไม่ทำให้ขาด ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องใน ศีลทั้งหลายตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล ไม่ใช่เป็นผู้ทุศีล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๗๙}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๒. ฐานสูตร
ข้อที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้ เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์ นั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว เป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสองคนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสามคนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนหลายคนเป็นอย่างหนึ่ง ท่านผู้นี้พูดคราวหลังต่างไปจากพูดคราวก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ หามีถ้อยคำบริสุทธิ์ไม่ อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว เป็นอย่างไร พูดกับคนสองคน สามคน หลายคนก็อย่างนั้น ท่านผู้นี้พูดคราวหลัง ก็ไม่ต่างจากพูดคราวก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำบริสุทธิ์ หามีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ไม่ ข้อที่เรากล่าวว่า ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแล พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ เรากล่าวเช่นนี้แลว่า กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง กล่าวไว้เช่นนั้น คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพตาม ความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ (๔) เสื่อมยศ (๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๐}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๒. ฐานสูตร
หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึง ความเลอะเลือน ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพ ตามความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ (๔) เสื่อมยศ (๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความ เสื่อมโภคทรัพย์ หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน ข้อที่เรากล่าวว่า กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้ โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแล พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีการ แสวงหาปัญหา๑- อย่างไร เตรียมปัญหา๒- อย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้ มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทที่มี ความหมาย ลึกซึ้ง สงบ ประณีต ที่สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้ ท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด ก็ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย @เชิงอรรถ : @๑ แสวงหาปัญหา หมายถึงการพิจารณาเนื้อความที่ตนปรารถนาจะรู้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๒/๔๑๒, @องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๙๒/๔๕๔) @๒ หมายถึงนำจิตไปด้วยอำนาจการตระเตรียมปัญหา หรือการตกแต่งปัญหา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๒/๔๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๑}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๒. ฐานสูตร
จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มี ปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีการแสวงหาปัญหาอย่างไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่ ริมฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวเล็กๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ปลาตัวนี้มี กิริยาผุดเป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวเล็ก ไม่ใช่ตัวไหญ่ ฉะนั้น ส่วนบุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มีการแสวงหา ปัญหาอย่างไร เตรียมปัญหาอย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่มีปัญญาทราม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ อ้างบทที่มีความหมาย ลึกซึ้ง สงบ ประณีต สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้ และท่านผู้นี้ กล่าวธรรมใด ก็สามารถที่จะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่มีปัญญาทราม บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แสวงหาปัญหาอย่างไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่มีปัญญาทราม เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ริมฝั่ง ห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ปลาตัวนี้มีกิริยาผุด เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวใหญ่ ไม่ใช่ ตัวเล็กฉะนั้น ข้อที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แลอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ ประการนี้ฐานสูตรที่ ๒ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๒}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
๓. ภัททิยสูตร๑- ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะ [๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อมรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์กลับใจ สาวกอัญเดียรถีย์เหล่านั้น พากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ทรงรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของ พวกอัญเดียรถีย์กลับใจ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเขากล่าวตามที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริงหรือ ย่อมพยากรณ์ธรรม สมควรแก่ธรรม และการคล้อยตามวาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอัน ควรติเตียนหรือ แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาเถิด ภัททิยะ ท่าน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา @เชิงอรรถ : @๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๕๗-๒๖๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๓}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรม เหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ โลภะ (ความอยากได้) เมื่อเกิดขึ้น ภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล ภัททิยลิจฉวีทูลว่า ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีโลภะนี้ถูกโลภะครอบงำ มีจิตถูกโลภะกลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูด เท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานบ้างหรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) ฯลฯ โมหะ (ความหลง) ฯลฯ๑- สารัมภะ (การแข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อม เกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีสารัมภะนี้ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตถูกสารัมภะ กลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวน ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานบ้างหรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าข้า เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ เป็นธรรมที่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน พระพุทธเจ้าข้า @เชิงอรรถ : @๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๕๗-๒๕๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๔}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ ทุกข์หรือไม่ หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด ภัททิยะ ท่าน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่ บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่าน ควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น มาเถิด ภัททิยะ ท่าน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์ แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข เมื่อนั้นท่านควรเข้าถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโลภะ (ความไม่อยากได้) เมื่อ เกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโลภะนี้ ไม่ถูกโลภะครอบงำ มีจิตไม่ถูกโลภะ กลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้ อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุข ตลอดกาลนานบ้างหรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย) ฯลฯ อโมหะ (ความไม่หลง) ฯลฯ๑- อสารัมภะ (ความไม่แข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายใน บุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีสารัมภะนี้ไม่ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตไม่ถูก สารัมภะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานบ้างหรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า @เชิงอรรถ : @๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๖๐-๒๖๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกุศล พระพุทธเจ้าข้า เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าข้า ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขหรือไม่ หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด ภัททิยะ ท่าน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข เมื่อนั้นท่านควรเข้า ถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๓. ภัททิยสูตร
ภัททิยะ ชนเหล่าใดในโลกเป็นคนสงบ เป็นสัตบุรุษ ชนเหล่านั้นย่อมชักชวน สาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงกำจัดโลภะเสียเถิด เมื่อกำจัดโลภะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โลภะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโทสะเสียเถิด เมื่อกำจัด โทสะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โทสะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโมหะเสียเถิด เมื่อกำจัดโมหะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โมหะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดความ แข่งดีเสียเถิด เมื่อกำจัดความแข่งดีได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปจนตลอดชีวิต ภัททิยะ เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเรา เถิด เราจักเป็นศาสดาของท่านหรือ ไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ บอกอย่างนี้ ด้วยถ้อยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริงว่า สมณโคดมมีมายา รู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์มานับถือ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ดีนัก มายาที่เป็นเหตุให้ กลับใจนี้งามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์จะพึงกลับใจด้วยมายา ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บรรดาญาติพี่น้องอัน เป็นที่รักของข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายา ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวง ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง ... แพศย์ทั้งปวง ... ศูทรทั้งปวงจะพึง กลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนี้พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทร ทั้งปวงตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๔. สาปุคิยาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้น ภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุ ให้กลับใจเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง ... แพศย์ทั้งปวง ... ศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้ กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทรทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ตลอดกาลนาน ภัททิยะ ถ้าแม้พวกผู้มั่งคั่งเหล่านี้จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ ผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้าผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตั้งใจ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผู้เป็น มนุษย์ธรรมดาภัททิยสูตรที่ ๓ จบ ๔. สาปุคิยาสูตร ว่าด้วยโกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม [๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุลชื่อสาปุคะ แคว้น โกฬิยะ๑- ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม๒- จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระ อานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับโกฬิยบุตร ชาวสาปุคิยนิคมดังนี้ว่า @เชิงอรรถ : @๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๗ (สุปปวาสาสูตร) หน้า ๙๕ ในเล่มนี้ @๒ หมายถึงชนผู้อยู่ในนิคมชื่อว่า สาปุคะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๘๙}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๔. สาปุคิยาสูตร
ท่านพยัคฆปัชชะ๑- ทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ (ความบริสุทธิ์) ๔ ประการพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ องค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและ ปริเทวะ (ความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ) เพื่อดับทุกข์ (ความทุกข์กาย) และ โทมนัส (ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ ๒. องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ ๓. องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ ๔. องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ๒- สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกว่า สีลปาริสุทธิ ความพอใจ๓- ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้น ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองสีลปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ ด้วยปัญญา ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ๔- บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่า จิตตปาริสุทธิ @เชิงอรรถ : @๑ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิยะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชชนคร @(นครทางเสือผ่าน) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓) @๒ ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๗ (อปริหานิยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้ @๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๓ (ทุติยสมาธิสูตร) หน้า ๑๔๑ ในเล่มนี้ @๔ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๑๖๓ (อสุภสูตร) หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๐}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๔. สาปุคิยาสูตร
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า เราจักบำเพ็ญจิตตปาริสุทธิ เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองจิตตปาริสุทธิที่บริบูรณ์ ไว้ในฐานะนั้นๆ ด้วยปัญญา ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ เพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกข- นิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ทิฏฐิปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า เราจักบำเพ็ญทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่ บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ ด้วยปัญญา ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกนี้แลเป็นผู้ประกอบองค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ ประกอบ องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ ประกอบองค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว ย่อมคลายจิตในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด๑- ย่อมเปลื้องจิตในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความเปลื้องแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ๒- นี้เรียกว่า วิมุตติปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า เราจักบำเพ็ญวิมุตติปาริสุทธิ เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิที่บริบูรณ์ ไว้ในฐานะนั้นๆ ด้วยปัญญา ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ เพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ @เชิงอรรถ : @๑ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด หมายถึงอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา)อันเป็นปัจจัยให้เกิดราคะ @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓) @๒ สัมมาวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ วิมุตติคืออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๑}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๕. วัปปสูตร
ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการนี้แล พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัส ไว้ชอบแล้วเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อ ดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพานสาปุคิยาสูตรที่ ๔ จบ ๕. วัปปสูตร ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ [๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าวัปปศากยะ๑- สาวกนิครนถ์เสด็จเข้าไปหาท่าน พระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหา- โมคคัลลานะได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า เจ้าวัปปะ บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชา สำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกข- เวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพหรือไม่ เจ้าวัปปะตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ บุคคลในโลก นี้พึงทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่ง ทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพที่มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ ท่านพระ มหาโมคคัลลานะกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาเรื่องค้างไว้เท่านี้ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า โมคคัลลานะ บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และเรื่อง อะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้ @เชิงอรรถ : @๑ หมายถึงเป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๒}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๕. วัปปสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน วโรกาส ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ว่า วัปปะ บุคคล ในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชาสำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลใน สัมปรายภพนั้นหรือไม่ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ ได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ ถ้าบุคคลทำ บาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งเวทนาจะ พึงไปตามบุคคลผู้มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุในสัมปรายภพ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ กับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า วัปปะ ถ้าท่านจะพึงยอมรับข้อที่ควรยอมรับและคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อเรา และท่านไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของเราข้อใด ท่านพึงซักถามเราในข้อนั้นยิ่งขึ้น ไปว่า พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เราพึง สนทนากันในเรื่องนี้ได้ เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยอมรับ ข้อที่ควรยอมรับและจักคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อพระผู้มีพระภาค อนึ่ง ข้าพระองค์ ไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคข้อใด ข้าพระองค์จักซักถามพระผู้มี พระภาคในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้ เป็นอย่างไร ขอเราจงสนทนากันในเรื่องนี้เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน๑- เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางกายเป็นปัจจัย เมื่อ บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางกายแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ @เชิงอรรถ : @๑ เดือดร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๓}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๕. วัปปสูตร
ข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะ ที่เป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้น หรือไม่ เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางวาจาเป็นปัจจัย เมื่อ บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางวาจาแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ ข้อปฎิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะ อันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้น หรือไม่ เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางใจเป็นปัจจัย เมื่อบุคคล เว้นขาดจากการกระทำทางใจแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มี แก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อ ปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะอัน เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพ นั้นหรือไม่ เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะอวิชชาสำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อนย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรม ใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๔}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๕. วัปปสูตร
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่ เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วัปปะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมบรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ๑- ไม่เสียใจ๒- มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด๓- ย่อม รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่ ไม่น่าเพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง วัปปะ เงาปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ ครั้งนั้น บุรุษถือจอบและตะกร้ามา เขาตัด ต้นไม้นั้นที่โคน ครั้นแล้วขุดคุ้ยเอารากขึ้น ตัดไม่ให้เหลือแม้ขนาดเท่าต้นแฝก เขา ตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนๆ ทำให้เป็นซีกๆ แล้วผึ่งลมและแดด ครั้นผึ่งลมและแดด แห้งแล้ว เผาทำให้เป็นขี้เถ้า โปรยในที่มีลมพัดจัดหรือลอยในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว เมื่อเป็นเช่นนั้น เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ที่ถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาล ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมได้บรรลุธรรม เป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ @เชิงอรรถ : @๑ ไม่ดีใจ หมายถึงไม่เกิดโสมนัสในอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ด้วยอำนาจราคะ @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔) @๒ ไม่เสียใจ หมายถึงไม่เกิดโทมนัสในอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) ด้วยอำนาจปฏิฆะ @(ความขัดใจ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔) @๓ มีกายเป็นที่สุด หมายถึงเวทนาที่เป็นไปในทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายยังเป็นไปอยู่ตราบเท่า @ที่กายคือทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๖. สาฬหสูตร
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เรา เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่ไม่น่า เพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษต้องการกำไร เลี้ยงลูกม้าไว้ขาย แต่ไม่ได้กำไร ซ้ำยังต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องการกำไร เข้าคบหานิครนถ์ผู้โง่ก็ไม่ได้กำไร ทั้งเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์นี้จักโปรย ความเลื่อมใสในพวกนิครนถ์ผู้โง่เสียในที่ลมพัดจัดหรือลอยเสียในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระ สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตวัปปสูตรที่ ๕ จบ ๖. สาฬหสูตร ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะ [๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและพระนามว่าอภัยเสด็จ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร เจ้าสาฬหลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๖. สาฬหสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการข้ามโอฆะ๑- เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) เพราะสีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล) เป็นเหตุ (๒) เพราะการ เกลียดตบะ๒- เป็นเหตุ ส่วนในธรรมวินัยนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า เป็นองค์แห่ง สมณธรรมอย่างหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ๓- ถือการ เกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถ ข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความ ประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัสสนะ๔- เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม๕- เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง ใหญ่ในป่านั้นลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน๖- ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขุดเป็นร่อง ขัดด้วย ลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำนั้นไปได้หรือไม่ เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง เกลี้ยงเกลาในภายนอก แต่ภายในไม่เรียบร้อย บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะ ต้องจมและบุรุษนั้นจักถึงความพินาศ พระพุทธเจ้าข้า @เชิงอรรถ : @๑ โอฆะหมายถึงกิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ มี ๔ประการ (คือ (๑) กาโมฆะ โอฆะคือกาม (๒) ภโวฆะ @โอฆะคือภพ (๓) ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ (๔) อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘) @๒ เกลียดตบะ หมายถึงการรังเกียจบาปด้วยตบะ คือ การบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อย่างกิเลส @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘) @๓ วาทะ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ คือ คติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๖/๒๐๒) @๔ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทัสสนะคือมรรคญาณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘) @๕ ตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘) @๖ หมายถึงต้นไม้ที่มีแก่น แต่ยังเป็นไม้รุ่น ยังไม่เป็นไม้แก่เต็มที่ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๖. สาฬหสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดถือ การเกลียดตบะเป็นวาทะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความ ประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อ ญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน ส่วนพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะ เป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทาง วาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง ใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขีดแต่งด้วยสิ่ว ทำภายใน ให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง ขัดด้วยลูกหิน ทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือแล้ว ปล่อยลงแม่น้ำ สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่ เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า ได้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง เกลี้ยงเกลาดีในภายนอก และภายในก็เรียบร้อยดี ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและ หางเสือ บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษนั้นจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือ การเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะ อยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๖. สาฬหสูตร
ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติ ทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกันแล สาฬหะ เปรียบเหมือนนักรบอาชีพถึงแม้จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก แต่ เขาจะชื่อว่าเป็นนักรบ คู่ควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็น ราชองครักษ์โดยแท้ด้วยองค์ ๓ ประการ องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ยิงลูกศรได้ไกล ๒. ยิงไม่พลาด ๓. ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ สาฬหะ นักรบอาชีพยิงลูกศรได้ไกลแม้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็น นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา พิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... พิจารณาเห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว หรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา สาฬหะ นักรบอาชีพยิงไม่พลาดฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สาฬหะ นักรบอาชีพทำลายกายขนาดใหญ่ได้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมา- วิมุตติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้สาฬหสูตรที่ ๖ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๙๙}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๗. มัลลิกาเทวีสูตร
๗. มัลลิกาเทวีสูตร ว่าด้วยพระนางมัลลิกาเทวี [๑๙๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระนางมัลลิกาเทวีเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดูและเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์๑- ขัดสนโภคะ๒- ต่ำศักดิ์๓- อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่า เลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก๔- แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่า เลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มาก ไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ เธอไม่ให้ ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย @เชิงอรรถ : @๑ หมายถึงไม่มีทรัพย์และธัญชาติอันเป็นของตน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๗/๔๑๙) @๒ หมายถึงไม่มีเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภค (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๗/๔๑๙) @๓ หมายถึงมีบริวารน้อย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๗/๔๑๙) @๔ หมายถึงมีวรรณะและมีร่างกายสมส่วน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๗/๔๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๐}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๗. มัลลิกาเทวีสูตร
และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้า มาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อม เป็นผู้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์ มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าว แม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการ โกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะ หรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอจุติจาก อัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณไม่ งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่า กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคืองใจ ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอไม่ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้า เธอจุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็น ผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสน โภคะ ต่ำศักดิ์ มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่า กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธความขัดเคืองและความไม่พอใจ เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๑}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๗. มัลลิกาเทวีสูตร
แก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มี รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ มัลลิกา นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางมัลลิกาเทวีได้กราบทูลพระ ผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติอื่น ชะรอยหม่อมฉันจะเป็นคนโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ ในชาตินี้ หม่อมฉันจึงมีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่ในชาติอื่นหม่อมฉันคงได้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ ในชาตินี้หม่อมฉันจึงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ในชาติอื่นหม่อมฉันคงจะไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ในชาตินี้ หม่อมฉันจึงเป็นผู้สูงศักดิ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางกษัตริย์บ้าง นางพราหมณีบ้าง นางคหปตานีบ้างมีอยู่ในราชสกุลนี้ หม่อมฉันได้ดำรงความเป็นใหญ่เหนือหญิง เหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หม่อมฉันจักไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๒}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
ถึงจะถูกว่ากล่าวมากก็จักไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้าง กระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ และจักให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ จักไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น จักไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ริษยา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ๑- ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตมัลลิกาเทวีสูตรที่ ๗ จบ ๘. อัตตันตปสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน [๑๙๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ ประเภท๒- ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน ๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้ เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบใน การทำผู้อื่นให้เดือดร้อน @เชิงอรรถ : @๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๑๙๕ (วัปปสูตร) หน้า ๒๙๖ ในเล่มนี้ @๒ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๗๔-๑๗๗/๒๐๖-๒๐๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๓}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบันเทียว บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ คนเปลือยบางคนในโลกนี้ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาเจาะจงทำไว้ ไม่ยินดีกิจนิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากกระเช้า ไม่รับภิกษา คร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาที่ คนสองคนบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่กำลังให้ ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่คลอเคลียคน ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่ รับภิกษาในที่ที่รับเลี้ยงดูลูกสุนัข ไม่รับภิกษาในที่ที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับ ปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาเฉพาะที่ เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียว รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยา อัตภาพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ หรือรับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษา ในถาดน้อย ๒ ใบบ้าง ฯลฯ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้ ๒ วันบ้าง ฯลฯ กิน อาหารที่เก็บ ค้างไว้ ๗ วันบ้าง เขาหมั่นประกอบในการบริโภคที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน เช่นนี้อยู่ คนเปลือยนั้นกินผักดองเป็นอาหารบ้าง กินข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง กินลูก เดือยเป็นอาหารบ้าง กินกากข้าวเป็นอาหารบ้าง กินยาง๑- เป็นอาหารบ้าง กินรำ เป็นอาหารบ้าง กินข้าวตังเป็นอาหารบ้าง กินกำยานเป็นอาหารบ้าง กินหญ้าเป็น อาหารบ้าง กินมูลโคเป็นอาหารบ้าง กินเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง กิน ผลไม้ที่หล่นเยียวยาอัตภาพ เขานุ่งห่มผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าแกมกันบ้าง นุ่งห่ม ผ้าห่อศพบ้าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังเสือบ้าง @เชิงอรรถ : @๑ ยาง (หฏะ) หมายรวมถึงสาหร่ายและยางไม้ด้วย (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๔/๒๔๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๔}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
นุ่งห่มหนังเสือที่มีเล็บติดอยู่บ้าง นุ่งห่มคากรองบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรองบ้าง นุ่งห่มผ้าผลไม้ กรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำ ด้วยขนสัตว์ร้ายบ้าง นุ่งห่มผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง ถอนผมและหนวด หมั่น ประกอบการถอนผมและหนวดบ้าง ยืนอย่างเดียวปฏิเสธการนั่งบ้าง นั่งกระโหย่ง ประกอบความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่งบ้าง นอนบนหนาม สำเร็จการนอนบน หนามบ้าง อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง หมั่นประกอบการลงน้ำบ้าง เขาหมั่นประกอบ การทำร่างกายให้เดือดร้อนหลายวิธีดังกล่าวมานี้อยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็น นายพรานเนื้อ เป็นชาวประมง เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต เป็นคนฆ่าโค เป็นผู้คุม หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำ ผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และ เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษก หรือว่า เป็นพราหมณมหาศาล เขาให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร แล้วโกนผมและหนวด นุ่งหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยและน้ำมัน เกาหลัง ด้วยเขามฤค เข้าไปสู่สัณฐาคารใหม่พร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต เขาสำเร็จการนอนบนพื้นอันปราศจากการปูลาดไว้ด้วยมูลโคสด พระราชาให้พระ ชนม์ชีพเป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๑ ของแม่โคตัวหนึ่งที่มีลูกอ่อน พระมเหสี ให้พระชนม์ชีพเป็นไปด้วยนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตให้อัตภาพเป็น ไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๓ พระราชาทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๔ ลูกโคให้อัตภาพเป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย จงฆ่าโคเท่านี้ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้ จงฆ่าแพะเท่านี้ จงฆ่าแกะ เท่านี้เพื่อบูชายัญ (จงฆ่าม้าเท่านี้เพื่อบูชายัญ) จงตัดต้นไม้เท่านี้เพื่อทำเสา จงเกี่ยว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
หญ้าคาเท่านี้เพื่อบังและลาด แม้เหล่าชนทั้งที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นคนงาน ของพระราชานั้นก็ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้ ทำการงานอยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบใน การทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ บุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๑- มีความงามในท่ามกลาง๒- และมีความงามในที่สุด๓- ประกาศพรหมจรรย์๔- พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน @เชิงอรรถ : @๑ หมายถึงศีล (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @๒ หมายถึงอริยมรรค (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @๓ หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @๔ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐมีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้)เวยยาวัจจะ (การ @ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจศีล (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่มีขอบเขต) เมถุน- @วิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร) @อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมาย @ถึงศาสนา (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่งฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต ได้ศรัทธาแล้วพิจารณาเห็นว่า ฆราวาส(การอยู่ครองเรือน) คับแคบ๑- เป็นทางมาแห่งธุลี๒- บรรพชาปลอดโปร่ง๓- การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะ ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาได้ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่แล้ว ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๔- เสมอกับภิกษุทั้งหลาย ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ เป็นผู้ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือ ประพฤติพรหมจรรย์๕- เว้นห่างไกลอสัทธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน @เชิงอรรถ : @๑ ฆราวาส ชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่มีเวลาว่างที่จะทำกุศลกรรมได้อย่างสะดวก แม้เรือนมีเนื้อที่กว้างขวางถึง @๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามีภรรยา ก็ยังถือว่า @คับแคบ เพราะต้องคอยห่วงใยและกังวลต่อกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๑) @๒ เป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมองเช่นราคะเป็นต้น @(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๒) @๓ บรรพชา ชื่อว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้ว หรือเทพวิมานซึ่งมี @ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใดๆ เลย ทั้งยังมีเวลา @ว่างที่จะทำกุศลกรรมได้อย่างสะดวกอีกด้วย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๑-๔๒๒) @๔ สิกขา ในที่นี้หมายถึงอธิสีลสิกขาของภิกษุ สาชีพ ในที่นี้หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ @ไว้แก่ภิกษุ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓ @๕ ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม อันได้แก่ การร่วมประเวณี การร่วม @สังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาวบ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ @เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ๆ (วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอก ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลาย ฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลิน ต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี เป็นผู้ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว ไม่ฉัน ตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๑- เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง การแต่งตัว เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจาก การรับธัญญาหารดิบ๒- เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาด จากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เว้นขาดจากการ รับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย เครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้น ขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่ กรรโชก @เชิงอรรถ : @๑ เวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามใช้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงวัน @จนถึงเวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕) @๒ หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ด มีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกได้ เช่น ข้าวเปลือก (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที เหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ เธอ ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมใน จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอผู้ประกอบด้วยอริยอินทรีย- สังวรอย่างนี้ จึงชื่อว่าเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การ เหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้วก็นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือ พยาบาท (ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ อยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก วิจิกิจฉา เธอครั้นละนิวรณ์เหล่านี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอนกำลัง ปัญญาแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๐๙}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๘. อัตตันตปสูตร
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้ เธอระลึกชาติก่อนได้หลาย ชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่ สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็น ชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะ ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๐}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร
เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์๑- แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น ผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล และบุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลกอัตตันตปสูตรที่ ๘ จบ ๙. ตัณหาสูตร ว่าด้วยตัณหา [๑๙๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่ง เหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ ให้ล่วงพ้นอบาย๒- ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยว อยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ นั้นเป็นอย่างไร คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจก๓- ภายใน @เชิงอรรถ : @๑ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ @ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ชื่อว่า อเสขบุคคล (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓) @๒ อบาย ในที่นี้หมายถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และอสุรกาย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๙/๔๓๔) @๓ ขันธปัญจก หมายถึงหมวดห้าแห่งขันธ์ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ @วิญญาณขันธ์ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑/๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๑}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน อะไรบ้าง คือ ๑. เมื่อมีตัณหาว่า เราเป็น ๒. ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนี้ จึงมี ๓. ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้น จึงมี ๔. ตัณหาว่า เราเป็นโดยประการอื่น จึงมี ๕. ตัณหาว่า เราเป็นผู้เที่ยง จึงมี ๖. ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยง จึงมี ๗. ตัณหาว่า เราพึงเป็น จึงมี ๘. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ จึงมี ๙. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้น จึงมี ๑๐. ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่น จึงมี ๑๑. ตัณหาว่า เราพึงเป็นบ้าง จึงมี ๑๒. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง จึงมี ๑๓. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง จึงมี ๑๔. ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง จึงมี ๑๕. ตัณหาว่า เราจักเป็น จึงมี ๑๖. ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนี้ จึงมี ๑๗. ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้น จึงมี ๑๘. ตัณหาว่า เราจักเป็นโดยประการอื่น จึงมี นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก อะไรบ้าง คือ ๑. เมื่อมีตัณหาว่า เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ ๒. ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๓. ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๔. ตัณหาว่า เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๕. ตัณหาว่า เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๖. ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๒}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๙. ตัณหาสูตร
๗. ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๘. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๙. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๑๐. ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๑๑. ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ๑๒. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ๑๓. ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ๑๔. ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ๑๕. ตัณหาว่า เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๑๖. ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๑๗. ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ๑๘. ตัณหาว่า เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อาศัยขันธปัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริต ๓๖ ประการ ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ ที่เป็นอดีต ๓๖ ประการ อนาคต ๓๖ ประการ ปัจจุบัน ๓๖ ประการ รวมเป็นตัณหาวิจริต๑- ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ตัณหาสูตรที่ ๙ จบ @เชิงอรรถ : @๑ ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มีวิธีการคำนวณ ดังนี้ คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน @ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก รวมเป็น ๓๖ ประการ คูณด้วยกาล ๓ คือ @ปัจจุบัน อดีต อนาคต เท่ากับ ๑๐๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๓}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑๐. เปมสูตร
๑๐. เปมสูตร ว่าด้วยความรักและความชัง [๒๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเกิด ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความรักเกิดเพราะความรัก ๒. ความชังเกิดเพราะความรัก ๓. ความรักเกิดเพราะความชัง ๔. ความชังเกิดเพราะความชัง ความรักเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างไร คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ ประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้นด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บุคคลนั้นมี ความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ ประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ของเราด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาจึงเกิดความรักในคนเหล่านั้น ความรักเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างนี้แล ความชังเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างไร คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ ประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ ประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเราด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาจึงเกิด ความชังในคนเหล่านั้น ความชังเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างนี้แล ความรักเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างไร คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ ก็ประพฤติต่อบุคคลที่ชังนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่ น่าพอใจ บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ ประพฤติต่อบุคคลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของเราด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาจึงเกิดความรักในคนเหล่านั้น ความรักเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างนี้แล ความชังเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๔}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑๐. เปมสูตร
คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ ก็ประพฤติต่อคนที่ชังนั้นด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ ประพฤติต่อคนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของเราด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาจึงเกิดความชัง ในบุคคลเหล่านั้น ความชังเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเกิด สมัยใด ภิกษุสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่ เกิดเพราะความรักย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่ ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น สมัยใด เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะ ปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุ ตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความรักย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ ความรักที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความชัง ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น สมัยใด ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรักเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ความชังที่เกิดเพราะความรักเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ความรักที่เกิดเพราะความชังเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ความชังที่เกิดเพราะความชังเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑๐. เปมสูตร
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่ยึดถือ๑- ไม่โต้ตอบ๒- ไม่บังหวนควัน๓- ไม่ลุกโพลง๔- ไม่ถูกไฟไหม้๕- ภิกษุชื่อว่ายึดถือ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็น อัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป พิจารณา เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนา พิจารณาเห็นเวทนา ในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในเวทนา พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญา พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตา หรือพิจารณาเห็น อัตตาในสัญญา พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็น อัตตาว่ามีสังขาร พิจารณาเห็นสังขารในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในสังขาร พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่ายึดถือ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถือ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่เห็นรูปในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในรูป ไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ไม่ เห็นอัตตาว่ามีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในเวทนา ไม่เห็น สัญญาโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในอัตตา หรือ ไม่เห็นอัตตาในสัญญา ไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีสังขาร @เชิงอรรถ : @๑ หมายถึงไม่ยกขึ้นด้วยอำนาจทิฏฐิ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๐๐/๔๓๗) @๒ หมายถึงไม่เป็นผู้ขัดแย้งยกขึ้นด้วยอำนาจความทะเลาะแตกร้าว (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๐๐/๔๓๗) @๓ หมายถึงไม่บังหวนควันด้วยอำนาจตัณหาวิจริต ๑๘ ประการที่อาศัยขันธปัญจกภายใน ดูข้อ ๑๙๙ @(ตัณหาสูตร) ประกอบ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๐๐/๔๓๗) @๔ หมายถึงไม่ลุกโพลงด้วยอำนาจตัณหาวิจริต ๑๘ ประการที่อาศัยขันธปัญจกภายนอก ดูข้อ ๑๙๙ @(ตัณหาสูตร) ประกอบ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๐๐/๔๓๗) @๕ หมายถึงไม่ถูกไฟไหม้ด้วยอำนาจอัสมิมานะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๐๐/๔๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑๐. เปมสูตร
ไม่เห็นสังขารในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในสังขาร ไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็น อัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาใน วิญญาณ ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถือ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าโต้ตอบ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ด่าโต้ตอบคนที่ด่า โกรธตอบคนที่โกรธ เถียงโต้ตอบ คนที่ถียง ภิกษุชื่อว่าโต้ตอบ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ด่าโต้ตอบคนที่ด่า ไม่โกรธตอบคนที่โกรธ ไม่ เถียงโต้ตอบคนที่ถียง ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าบังหวนควัน เป็นอย่างไร คือ เมื่อมีตัณหาว่า เราเป็น ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้น จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นโดยประการอื่น จึงมี ตัณหาว่า เราเป็น ผู้เที่ยง จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็น จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้น จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่น จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นบ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็น จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างน จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้น จึงมี ตัณหาว่า เราจัก เป็นโดยประการอื่น จึงมี ภิกษุชื่อว่าบังหวนควัน เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าไม่บังหวนควัน เป็นอย่างไร คือ เมื่อไม่มีตัณหาว่า เราเป็น ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นโดยประกอบอื่น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นผู้เที่ยง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึง เป็น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นบ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค ๑๐. เปมสูตร
จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้น จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นโดยประการอื่น จึงไม่มี ภิกษุชื่อว่าไม่บังหวนควัน เป็น อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าลุกโพลง เป็นอย่างไร คือ เมื่อมีตัณหาว่า เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วย ขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นผู้เที่ยงด้วย ขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เรา พึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจก นี้บ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้นด้วย ขันธปัญจกนี้ จึงมี ตัณหาว่า เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงมี ภิกษุชื่อว่าลุกโพลง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าไม่ลุกโพลง เป็นอย่างไร คือ เมื่อไม่มีตัณหาว่า เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ ตัณหาว่า เราเป็น อย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วย ขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วย ขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๕. มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็น อย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจก นี้บ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มีตัณหาว่า เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ตัณหาว่า เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้ จึงไม่มี ภิกษุชื่อว่าไม่ ลุกโพลง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าถูกไฟไหม้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังละอัสมิมานะไม่ได้เด็ดขาด ยังไม่ได้ตัดรากถอนโคน ให้เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น ต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าถูกไฟไหม้ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าไม่ถูกไฟไหม้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือน ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าไม่ถูกไฟไหม้ เป็นอย่างนี้แลเปมสูตรที่ ๑๐ จบ มหาวรรคที่ ๕ จบ รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. โสตานุคตสูตร ๒. ฐานสูตร ๓. ภัททิยสูตร ๔. สาปุคิยาสูตร ๕. วัปปสูตร ๖. สาฬหสูตร ๗. มัลลิกาเทวีสูตร ๘. อัตตันตปสูตร ๙. ตัณหาสูตร ๑๐. เปมสูตรจตุตถปัณณาสก์ จบบริบูรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๑๙}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๗๖-๓๑๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=136 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=4991&Z=5844 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=191 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=191&items=10 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=9429 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=191&items=10 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=9429 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i191-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i191-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.192.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.199.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.200.than.html https://suttacentral.net/an4.191/en/sujato https://suttacentral.net/an4.192/en/sujato https://suttacentral.net/an4.192/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.193/en/sujato https://suttacentral.net/an4.194/en/sujato https://suttacentral.net/an4.195/en/sujato https://suttacentral.net/an4.196/en/sujato https://suttacentral.net/an4.197/en/sujato https://suttacentral.net/an4.198/en/sujato https://suttacentral.net/an4.199/en/sujato https://suttacentral.net/an4.199/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.200/en/sujato https://suttacentral.net/an4.200/en/thanissaro
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]