ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๗. โลกายติกสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ชำนาญคัมภีร์โลกายัต๓-
[๓๘] ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายัต ๒ คน เข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านปูรณะ กัสสปะ เป็นสัพพัญญู เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้เห็นโลกอันไม่มี ที่สุดด้วยญาณอันไม่มีที่สุด’ ท่านพระโคดม แม้แต่ท่านนิครนถ นาฎบุตรนี้ก็เป็น สัพพัญญู เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ น้อมไปไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงไม่น้อมไปตามอำนาจราคะ (องฺ.นวก.อ. ๓/๓๗/๓๑๑) @ นำไปไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงไม่ถูกชักนำไปตามอำนาจโทสะ (องฺ.นวก.อ. ๓/๓๗/๓๑๑) @ โลกายัต หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือ ศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดยการอ้างทฤษฎีและ @ประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่อย่างใด @(ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. มหาวรรค ๗. โลกายติกสูตร

‘เรารู้เห็นโลกอันไม่มีที่สุดด้วยญาณอันไม่มีที่สุด’ ท่านพระโคดม ทั้ง ๒ คนนี้ต่างพูด อวดความรู้กัน ต่างพูดขัดแย้งกัน ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย พราหมณ์ เรื่องที่คนทั้ง ๒ คนนี้ต่างพูดอวด ความรู้กัน ต่างพูดขัดแย้งกัน ใครพูดจริง ใครพูดเท็จนี้จงพักไว้ก่อน เราจักแสดง ธรรมแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” พราหมณ์ เหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “พราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษ ๔ คน ยืนอยู่ ๔ ทิศ ต่างมีฝีเท้าวิ่งได้เร็ว และก้าวได้เร็ว พวกเขาต่างมีฝีเท้าเร็วเช่นนี้ เปรียบเหมือนนายขมังธนูถือธนูไว้มั่น ศึกษามาเจนจบ ฝีมือช่ำชอง ผ่านการประลองฝีมือมาแล้ว พึงใช้ลูกธนูชนิดเบาๆ ยิงเงาตาลด้านขวางให้ผ่านไปได้โดยไม่ยาก และยิงได้รวดเร็วกว่าการก้าวเท้าดังที่ กล่าวมา เปรียบเหมือนจากมหาสมุทรในทิศตะวันออกถึงมหาสมุทรในทิศตะวันตก ถ้าบุรุษผู้ยืนอยู่ทางทิศตะวันออก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจะเดินไปถึงที่สุดโลก’ เขางดกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม งดถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ งดหลับและพักผ่อน เขามีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปได้ตลอด ๑๐๐ ปี ยังไปไม่ถึงที่สุดโลกเลย จะพึงตายเสียก่อนในระหว่าง ถ้าบุรุษผู้ยืนอยู่ทางทิศตะวันตก ฯลฯ ทางทิศเหนือ ฯลฯ ถ้าบุรุษผู้ยืนอยู่ทางทิศใต้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจะเดินไปถึงที่สุดของโลก’ เขางดกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม งดถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ งดหลับและพักผ่อน เขามีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปได้ตลอด ๑๐๐ ปี ยังไปไม่ถึงที่สุดโลกเลย ก็จะพึง ตายเสียก่อนในระหว่าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราจะไม่กล่าวว่า ‘บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงที่สุดโลกได้ด้วยการวิ่งไปเช่นนี้’ แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ‘บุคคลยังไม่ถึง ที่สุดโลกจะทำที่สุดทุกข์ได้’ พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่า ‘โลก’ ในอริยวินัย กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. มหาวรรค ๗. โลกายติกสูตร

๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ ๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด พราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้แล เรียกว่า ‘โลก’ ในอริยวินัย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกว่า ภิกษุนี้ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่ในที่สุดโลก คนพวกอื่นกล่าวถึงภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ แม้เราเองก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน ฯลฯ เราก็เรียกว่า ภิกษุนี้ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่ในที่สุดโลก คนพวกอื่นกล่าวถึงภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ แม้เราเองก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา เราก็เรียกว่า ภิกษุนี้ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่ในที่สุดโลก คนพวกอื่นกล่าวถึงภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน- ฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ฯลฯ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. มหาวรรค ๘. เทวาสุรสังคามสูตร

ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตน- ฌานอยู่ เราก็เรียกว่า ภิกษุนี้ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่ในที่สุดโลก คนพวกอื่นกล่าวถึง ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ แม้เราก็ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้ภิกษุนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลก สลัดตนออกจากโลกไม่ได้’ ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิต- นิโรธอยู่ อาสวะทั้งหลายของเธอหมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา เราเรียกว่า ภิกษุนี้ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่ในที่สุดโลก ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกได้”
โลกายติกสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๕๑๕-๕๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=201              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=9188&Z=9255                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=242              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=242&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7032              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=242&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7032                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i236-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an09/an09.038.than.html https://suttacentral.net/an9.38/en/sujato https://suttacentral.net/an9.38/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :