ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. สจิตตวรรค ๒. สารีปุตตสูตร

๒. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตร
[๕๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย หากภิกษุเป็นผู้ไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงสำเหนียกว่า ‘เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน’ ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราเป็นผู้ มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีอภิชฌา เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมาก หรือหนอ หรือมีจิตไม่พยาบาท เราเป็นผู้มีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปราศจากถีนมิทธะ เราเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีจิตฟุ้งซ่าน เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือข้ามพ้นความสงสัยแล้ว เราเป็นผู้ มักโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มักโกรธ เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมาก หรือหนอ หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง เราเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปรารภ ความเพียร เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีจิตตั้งมั่น’ เปรียบ เหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนใน กระจกเงาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้นก็ พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจ ด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้ มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาป อกุศลธรรมเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๑๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. สจิตตวรรค ๓. ฐิติสูตร

ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่ โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม เหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
สารีปุตตสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๑๑๒-๑๑๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=24&siri=50              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=2273&Z=2313                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=52              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=52&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=52&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i051-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an10.52/en/sujato https://suttacentral.net/an10.52/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :