บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๑. อุรคสูตร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต _____________ ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๑. อุรควรรค หมวดว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ ๑. อุรคสูตร ว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ [๑] ภิกษุผู้กำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นได้ เหมือนหมองูกำจัดพิษงูที่แผ่ซ่านไปด้วยยากำจัดพิษ ชื่อว่าละฝั่งในได้๑- ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๒] ภิกษุผู้ตัดราคะ๒- พร้อมทั้งอนุสัยกิเลสได้ทั้งหมด เหมือนคนลงไปตัดดอกปทุมที่งอกขึ้นในสระจนหมดสิ้น ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @๑ ฝั่งใน หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน) @(๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลและวัตร) @(๔) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) (๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑/๑๒) @๒ ราคะ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑/๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๙๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๑. อุรคสูตร
[๓] ภิกษุตัดตัณหาที่ท่วมทับสัตว์โลก เป็นไปรวดเร็ว ให้เหือดแห้งไปทีละน้อยๆ จนหมดสิ้น ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๔] ภิกษุผู้กำจัดมานะได้หมดสิ้น เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดสะพานไม้อ้อที่อ่อนกำลังให้ทะลายไปหมดสิ้น ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๕] ภิกษุผู้ใช้ปัญญาค้นคว้าอยู่ ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย๑- เหมือนพราหมณ์ค้นหาดอกมะเดื่อบนต้นไม่พบ ฉะนั้น ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสกำเริบภายในจิต และล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมมีประการต่างๆ ได้ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๗] ภิกษุผู้ระงับวิตกทั้งหลายได้ กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในตนได้ด้วยดี ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๘] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ล่วงพ้นปปัญจธรรม๒- ได้ทั้งหมด ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @๑ ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย หมายถึงไม่พบนิจจภาวะ(ภาวะเที่ยง) หรืออัตตภาวะ(ภาวะที่เป็นอัตตา) @ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และ @ปัญจโวการภพ (ขุ.สุ.อ. ๑/๕/๑๘) @๒ ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มี ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๘/๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๑. อุรคสูตร
[๙] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป รู้สิ่งทั้งหมด๑- ในโลกว่า มีภาวะผันแปร ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๐] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโลภะ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๑] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากราคะ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๒] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโทสะ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๓] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโมหะ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๔] ภิกษุผู้ไม่มีอนุสัยกิเลส๒- ใดๆ และถอนรากอกุศลธรรม๓- ได้หมดสิ้น ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @๑ สิ่งทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ และอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙/๒๐) @๒ อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ ประการ คือ (๑) กามราคะ (ความกำหนัด @ในกาม) (๒) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) @(๕) มานะ (ความถือตัว) (๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (๗) อวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๔/๒๑) @๓ รากอกุศลธรรม หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๔/๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๒. ธนิยสูตร
[๑๕] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากความกระวนกระวายใดๆ อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากตัณหานุสัยดุจป่าใดๆ ซึ่งเป็นเหตุกำหนดความผูกพันไว้ในภพ ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น [๑๗] ภิกษุผู้ละนิวรณ์๑- ๕ ได้ ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสเพียงดังลูกศร ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้นอุรคสูตรที่ ๑ จบ ๒. ธนิยสูตร ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่างนายธนิยะกับพระพุทธเจ้า [๑๘] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้) ข้าพเจ้าปรุงอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รีดน้ำนมโคไว้แล้ว อยู่ร่วมกับบริวารช่วยเหลือกัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี มุงหลังคากั้นฝาเรือน นำไฟมาติดไว้เรียบร้อย ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด [๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากกิเลสดุจตะปูตรึงใจ พักแรม ๑ ราตรี ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี เพิงที่พักคืออัตภาพ ก็ปราศจากหลังคาเครื่องมุงบัง กองไฟคือราคะเป็นต้นก็ดับหมดแล้ว ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด @เชิงอรรถ : @๑ นิวรณ์ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องกั้นความดี มี ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) @(๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) @(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗/๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๒}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๔๙๙-๕๐๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=228 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=6835&Z=6894 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=294 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=294&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=294&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.01.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.01.nypo.html https://suttacentral.net/snp1.1/en/mills https://suttacentral.net/snp1.1/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]