ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๖. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑- เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย คาถาว่า [๙๑] ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม [๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย๒- ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย ผู้เจริญใคร่ธรรม๓- ผู้เสื่อมชังธรรม @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑ หน้า ๖ ในเล่มนี้ @ ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ในที่นี้หมายถึงผู้พัฒนาแล้ว ใครๆ ก็รู้ได้ง่ายเพราะได้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับการ @ประพฤติปฏิบัติของเขา (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑) @ ใคร่ธรรม หมายถึงปรารถนาที่จะฟังและปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๖. ปราภวสูตร

[๙๓] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ ว่าเป็นอย่างไร [๙๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๙๕] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ ว่าเป็นอย่างไร [๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม๑- ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๙๗] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ ว่าเป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @ ชอบสมาคม หมายถึงชอบคลุกคลีและพูดคุยในเรื่องไร้สาระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๖/๑๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๖. ปราภวสูตร

[๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้ แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๙๙] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ ว่าเป็นอย่างไร [๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์ หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่นๆ นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๐๑] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖ ว่าเป็นอย่างไร [๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ กินของอร่อยเพียงคนเดียว๑- นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม @เชิงอรรถ : @ กินของอร่อยเพียงคนเดียว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ตระหนี่ลาภ กินโดยไม่แบ่งให้แม้กระทั่งบุตรและภรรยา @(ขุ.สุ.อ. ๑/๑๐๒/๑๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๖. ปราภวสูตร

[๑๐๓] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗ ว่าเป็นอย่างไร [๑๐๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนกระด้างเพราะชาติ กระด้างเพราะทรัพย์ และกระด้างเพราะโคตร ชอบดูหมิ่นญาติของตน นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๐๕] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘ ว่าเป็นอย่างไร [๑๐๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน ชอบล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้ นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๐๗] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙ ว่าเป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๖. ปราภวสูตร

[๑๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้ไม่ยินดีภรรยาของตน ชอบเที่ยวหญิงแพศยา ชอบคบชู้สู่สาวภรรยาคนอื่น นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๐๙] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐ ว่าเป็นอย่างไร [๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ชายแก่ได้หญิงสาววัยรุ่น มีถันเท่าผลมะพลับมาเป็นภรรยา มักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหึงหญิงสาวรุ่นนั้น นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๑๑] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑ ว่าเป็นอย่างไร [๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนแต่งตั้งหญิงหรือชายผู้เป็นนักเลง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ไว้ในความเป็นใหญ่ นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๑๓] (เทวดาทูลถามดังนี้) ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๒ ว่าเป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๗. วสลสูตร

[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์ นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม [๑๑๕] บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้ว ท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน
ปราภวสูตรที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๒๓-๕๒๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=233              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7218&Z=7291                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=303              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=303&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=4071              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=303&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=4071                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.06.piya.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.06.nara.html https://suttacentral.net/snp1.6/en/mills https://suttacentral.net/snp1.6/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :