บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค]
๑๑. วิชยสูตร
๑๑. วิชยสูตร ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) [๑๙๕] การที่คนเรายืน เดิน นั่ง หรือนอน คู้เข้าหรือเหยียดออก นี้จัดเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย [๑๙๖] ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น๑- มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง [๑๙๗] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ตับ มูตร หัวใจ ปอด ไต ม้าม [๑๙๘] น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน [๑๙๙] อนึ่ง ร่างกายนี้มีของไม่สะอาด ไหลออกทางทวารทั้ง ๙ เสมอ คือ มีขี้ตาไหลออกทางเบ้าตา มีขี้หูไหลออกทางรูหู [๒๐๐] มีน้ำมูกไหลออกจากทางช่องจมูก บางคราวก็อาเจียน สำรอกน้ำดี ขากเสลดออกทางปาก มีหยาดเหงื่อออกตามขุมขน มีหนองฝีไหลออกตรงที่เป็นแผล @เชิงอรรถ : @๑ ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน และเอ็น ๙๐๐ เส้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๖/๒๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๔๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค]
๑๑. วิชยสูตร
[๒๐๑] อนึ่ง ร่างกายนี้มีศีรษะเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาครอบงำ หลงเข้าใจว่าเป็นของสวยงาม [๒๐๒] และเมื่อร่างกายนั้นตาย ขึ้นอืด มีสีเขียวคล้ำ ถูกทิ้งให้นอนอยู่ในป่าช้า หมู่ญาติต่างหมดความอาลัยไยดี [๒๐๓] ร่างกายที่เปื่อยเน่านั้น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า หมู่หนอน ฝูงกา ฝูงแร้งและสัตว์ที่กินซากศพอื่นๆ ย่อมรุมยื้อแย่งกันกิน [๒๐๔] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังพุทธพจน์แล้วเกิดปัญญา ย่อมกำหนดรู้และพิจารณาเห็นร่างกายนั้น ตามความเป็นจริงทีเดียว [๒๐๕] ร่างกายที่ตายแล้วนั้นได้เคยเป็นเหมือนร่างกายที่มีชีวิตนี้ และร่างกายที่มีชีวิตนี้ก็จะเป็นเหมือนร่างกายที่ตายแล้วนั้น ภิกษุจึงควรคลายความยินดีพอใจในร่างกาย ทั้งภายในและภายนอก [๒๐๖] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปัญญา ไม่ยินดีด้วยฉันทราคะ ได้บรรลุนิพพานที่เป็นอมตะอันสงบ ดับ และไม่จุติ [๒๐๗] ร่างกายนี้ มี ๒ เท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ขับถ่ายของไม่สะอาด มีน้ำลายน้ำมูกเป็นต้นออกทางทวารทั้ง ๙ ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกทางรูขุมขนนั้นๆ ต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๔๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๑๒. มุนิสูตร
[๒๐๘] ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้ การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร นอกจากการไม่เห็นอริยสัจวิชยสูตรที่ ๑๑ จบ เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๔๖-๕๔๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=238 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7571&Z=7599 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=312 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=312&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=6424 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=312&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=6424 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta11 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.11.than.html https://suttacentral.net/snp1.11/en/mills https://suttacentral.net/snp1.11/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]