ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต]

๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)

๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
ว่าด้วยบุคคลทั้ง ๔ รักษาอุโบสถ
(วรุณนาคราชกล่าวว่า) [๒๔] นรชนใดไม่ทำความโกรธในบุคคลที่ควรโกรธ และไม่โกรธในกาลไหนๆ นรชนนั้นเป็นสัตบุรุษ สัตบุรุษนั้นแม้จะโกรธก็ไม่เปิดเผยความโกรธ นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก (พญาครุฑกล่าวว่า) [๒๕] นรชนใดมีท้องพร่องอยู่ ยังอดทนต่อความหิวได้ ฝึกตนได้ มีตบะ ดื่มน้ำและบริโภคอาหารพอประมาณ ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๒๖] นรชนใดละการเล่นและความยินดีในกามทั้งปวงเสียได้ ไม่พูดเหลาะแหละอะไรๆ ในโลก งดเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายและจากเมถุนธรรม นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก (พระเจ้าธนัญชัยได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๒๗] อนึ่ง นรชนใดสละความหวงแหนและโลภธรรมทั้งปวงได้ ด้วยปัญญาเครื่องกำหนดรู้ นรชนนั้นแลผู้ฝึกตน มีความมั่นคง ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นของเรา หมดความหวัง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต]

๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)

(พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันถามวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๒๘] พวกข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีปัญญาไม่ทราม รู้สิ่งที่ควรทำ พวกข้าพเจ้าเกิดมีการโต้แย้งกันในถ้อยคำทั้งหลาย ในวันนี้ ขอท่านจงตัดความสงสัยลังเลใจให้ด้วย จงช่วยข้าพเจ้าทั้งหมดให้ข้ามพ้นความสงสัยลังเลใจนั้นเสีย (วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๒๙] บัณฑิตเหล่าใดได้เห็นเนื้อความ บัณฑิตเหล่านั้นจึงจะกล่าวได้อย่างแยบคายในกาลนั้น ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย จะแนะนำเนื้อความแห่งถ้อยคำที่ยังมิได้บอกกล่าวได้อย่างไรหนอ [๓๐] ก็พญานาคราชกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร ราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร (พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๓๑] พญานาคกล่าวสรรเสริญขันติ พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญการละความอภิรมย์ พระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญความไม่กังวล (วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๓๒] คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสุภาษิต ก็ในคำเหล่านี้ หาคำที่เป็นทุพภาษิตไม่ได้สักข้อเดียว และคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้มีอยู่ในนรชนใดอย่างมั่นคง เหมือนอย่างซี่กำที่สอดใส่ไว้ในดุมเกวียน นรชนนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต]

๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)

(พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสว่า) [๓๓] ท่านประเสริฐจริงหนอ ยอดเยี่ยม เป็นผู้ถึงธรรม รู้ธรรม มีปัญญาดี สางปัญหาได้ด้วยปัญญา เป็นนักปราชญ์ ขจัดความสงสัยลังเลใจเสียได้ เหมือนนายช่างงาตัดงาช้างด้วยเลื่อยอันคม [๓๔] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน นี้เป็นผ้าสีดอกอุบล ผุดผ่อง เนื้อละเอียดเสมือนควันไฟ หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม [๓๕] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน นี้เป็นพวงมาลาทองคำ แย้มบาน มีกลีบถึง ๑๐๐ กลีบ มีเกษรที่ประดับประดาด้วยรัตนะถึง ๑,๐๐๐ ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม [๓๖] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน แก้วมณีหาค่ามิได้ สวยงาม ผุดผ่อง เป็นเครื่องประดับคล้องคอ ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม [๓๗] ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน ขอมอบโคนม โคผู้ และช้าง อย่างละ ๑,๐๐๐ ตัว รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลเหล่านี้ให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม (พระบรมศาสดาทรงประมวลชาดกมาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า) [๓๘] พญานาคในครั้งนั้น คือ พระสารีบุตร ส่วนพญาครุฑ คือ โกลิตะ๑- ราชาแห่งคนธรรพ์ คือ พระอนุรุทธะ พระราชา คือ พระอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต ส่วนวิธุรบัณฑิต คือ พระโพธิสัตว์ เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
จตุโปสถิยชาดกที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ โกลิตะ คือ พระมหาโมคคัลลานเถระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๒๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๓๒๕-๓๒๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=441              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=5524&Z=5576                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1342              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=1342&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=8839              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=1342&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=8839                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja441/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :