ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
ว่าด้วยเทพธิดาอลัมพุสา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงทำเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า) [๙๕] ครั้งนั้น พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ทรงปราบปรามวัตรอสูร ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งเหล่าเทพบุตรผู้มีชัย ทรงเล็งเห็นอลัมพุสาเทพกัญญาว่ามีความสามารถ ณ สุธรรมาเทวสถานแล้วจึงมีเทวโองการว่า [๙๖] แม่นางมิสสาเทพกัญญา เทวดาชั้นดาวดึงส์ พร้อมทั้งพระอินทร์ขอร้องแม่นาง แม่นางอลัมพุสาผู้สามารถจะประเล้าประโลมฤๅษีได้ แม่นางจงไปหาอิสิสิงคดาบสเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

(ท้าวสักกะทรงพระบัญชานางอลัมพุสาแล้วตรัสว่า) [๙๗] ดาบสองค์นี้เป็นผู้มีวัตร ประพฤติพรหมจรรย์ ยินดียิ่งในนิพพาน เป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม อย่าล่วงเลยพวกเราไปก่อนเลย เธอจงกั้นทางที่จะไปสู่เทวโลกของท่านไว้ (นางอลัมพุสาเทพกัญญาได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงตรัสว่า) [๙๘] ขอเดชะพระเทวราช พระองค์ทรงทำอะไรอยู่ พระองค์จึงทรงเห็นแต่หม่อมฉันเท่านั้นว่า แม่นางผู้สามารถจะประเล้าประโลมฤๅษีได้ เธอจงไป นางเทพอัปสรแม้อื่นก็มีอยู่ [๙๙] นางเทพอัปสรผู้ทัดเทียมกับหม่อมฉัน และประเสริฐกว่าหม่อมฉัน ในอโศกนันทวันก็มีอยู่ ขอวาระแห่งการไปจงมีแก่นางเทพอัปสรเหล่านั้นเถิด แม้นางเทพอัปสรเหล่านั้นก็จงไปประเล้าประโลมเถิด (ท้าวสักกเทวราชได้ตรัสว่า) [๑๐๐] เธอพูดถูกต้องอย่างแท้จริง ถึงนางเทพอัปสรเหล่าอื่นที่ทัดเทียมกับเธอ และประเสริฐกว่าเธอในอโศกนันทวันก็มีอยู่ [๑๐๑] แม่นางผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย แต่นางเทพอัปสรเหล่านั้นไปแล้ว ไม่รู้จักการบำเรอชายอย่างที่เธอรู้ [๑๐๒] เชิญไปเถิด แม่นางผู้มีความงาม เพราะเธอประเสริฐกว่าหญิงทั้งหลาย เธอจักใช้รูปร่างผิวพรรณของเธอ นำดาบสมาสู่อำนาจได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

(พระนางอลัมพุสาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า) [๑๐๓] หม่อมฉันถูกพระเทวราชทรงใช้จะไม่ทำก็ไม่ได้ แต่หม่อมฉันหวั่นเกรงการที่จะประเล้าประโลมให้ดาบสนั้นยินดี เพราะท่านเป็นพราหมณ์ มีเดชสูงส่ง [๑๐๔] ชนทั้งหลายประเล้าประโลมฤๅษีให้ยินดีแล้วตกนรก ถึงสังสารวัฏเพราะความงมงายมีจำนวนมิใช่น้อย เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงขนพองสยองเกล้า (พระศาสดาตรัสว่า) [๑๐๕] อลัมพุสา มิสสาเทพอัปสร ผู้มีวรรณะน่าใคร่ ปรารถนาเพื่อจะให้อิสิสิงคดาบสคลุกเคล้าระคนด้วยกิเลส ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็หลีกไป [๑๐๖] ก็อลัมพุสาเทพอัปสรนั้นได้ลงสู่ป่าที่อิสิสิงคดาบสรักษา ซึ่งดารดาษด้วยเถาตำลึงสุกมีประมาณกึ่งโยชน์โดยรอบนั้น [๑๐๗] นางเข้าไปหาอิสิสิงคดาบสผู้กำลังปัดกวาดโรงไฟแต่เช้าตรู่ ก่อนเวลาอาหารเช้า ใกล้เวลาอาทิตย์อุทัย (ลำดับนั้น ดาบสถามนางว่า) [๑๐๘] เธอเป็นใครหนอ รัศมีช่างงามผ่องใสดังสายฟ้า ประดุจดาวประกายพรึก ประดับกำไลมืออันวิจิตร สวมใส่ต่างหูแก้วมณี [๑๐๙] มีประกายดุจแสงอาทิตย์ ร่างกายมีกลิ่นหอมด้วยจันทน์เหลือง ลำขากลมกลึงสวยงาม มีมายามากมาย กำลังสาวแรกรุ่น น่าทัศนาเชยชม [๑๑๐] เท้าทั้ง ๒ ของเธออ่อนละมุน สะอาดหมดจด ไม่แหว่งเว้า ตั้งลงเรียบเสมอด้วยดี ทุกย่างก้าวของเธอน่ารักใคร่ ดึงใจอาตมาให้วาบหวาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

[๑๑๑] อนึ่ง ลำขาของเธอเป็นปล้องๆ เหมือนกับงวงช้าง สะโพกของเธอเกลี้ยงเกลากลมกลึงผึ่งผายสวยงาม เหมือนแผ่นกระดานสะกา [๑๑๒] นาภีของเธอตั้งอยู่เรียบร้อยดีเหมือนฝักดอกอุบล ปรากฏได้แต่ไกลเหมือนเกษรดอกอัญชันเขียว [๑๑๓] ถันเกิดที่ทรวงอกทั้งคู่หาขั้วมิได้ เต่งเต้าสวยงามทรงเกษียรรสไว้ ไม่หย่อนยาน เสมอเหมือนกับผลน้ำเต้าครึ่งผล [๑๑๔] ลำคอของเธอยาวประดุจลำคอนางเนื้อทราย เปล่งปลั่งดั่งพื้นแผ่นทองคำ ริมฝีปากของเธองามเปล่งปลั่งดั่งลิ้นหัวใจห้องที่ ๔ [๑๑๕] ฟันของเธอทั้งข้างบนข้างล่าง ขัดสีได้อย่างเลิศด้วยไม้ชำระฟัน เกิดขึ้น ๒ คราว เป็นฟันที่ปราศจากโทษ ดูสวยงาม [๑๑๖] ดวงเนตรทั้ง ๒ ของเธอดำขลับ ตามขอบดวงตาเป็นสีแดง เปล่งปลั่งดั่งเมล็ดมะกล่ำ ทั้งยาวทั้งกว้าง ดูสวยงาม [๑๑๗] เส้นผมที่งอกขึ้นที่ศีรษะของเธอไม่ยาวเกินไป เกลี้ยงเกลาดี ตกแต่งด้วยหวีทองคำ มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นจันทน์ [๑๑๘] ชาวนาชาวไร่ คนเลี้ยงโค พ่อค้ามีความสำเร็จ และฤๅษีผู้มีความสำรวม บำเพ็ญตบะ มีความบากบั่น มีประมาณเท่าใด [๑๑๙] ชนมีประมาณเท่านั้นในปฐพีมณฑลนี้ แม้คนหนึ่งที่เสมอเหมือนเธอ อาตมายังไม่เห็น เธอเป็นใคร เป็นลูกของใครหรือ อาตมาจะรู้จักเธอได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

(นางอลัมพุสาเทพกัญญารู้ว่าอิสิสิงคดาบสนั้นหลงใหลแล้ว จึงกล่าวว่า) [๑๒๐] ท่านกัสสปะผู้เจริญ เมื่อจิตของท่านเป็นไปอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ใช่กาลที่จะเป็นปัญหา มาเถิด สหาย เราทั้ง ๒ จักอภิรมย์กันในอาศรมของเรา มาเถิด ดิฉันจักคลุกเคล้าท่าน ขอท่านเป็นผู้ฉลาดในความยินดีในเบญจกามคุณเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า) [๑๒๑] อลัมพุสา มิสสาเทพอัปสร ผู้มีวรรณะน่าใคร่ ปรารถนาเพื่อจะให้อิสิสิงคดาบสคลุกเคล้าระคนด้วยกิเลส ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็หลีกไป [๑๒๒] ก็ดาบสนั้นตัดความเฉื่อยชาเสียแล้ว รีบออกไปโดยเร็ว ประชิดตัวนาง ลูบเรือนผมบนศีรษะ [๑๒๓] เทพอัปสรกัลยาณีผู้มีความสวยสดงดงาม หันกลับมาสวมกอดดาบสนั้น นางมีความยินดีที่ดาบสเคลื่อนจากพรหมจรรย์นั้น ตามที่ท้าวสักกะปรารถนา [๑๒๔] นางได้มีใจรำลึกถึงพระอินทร์ซึ่งประทับอยู่ในนันทวัน ท้าวมัฆวานเทพกุญชรทรงทราบความดำริของนางแล้ว [๑๒๕] ทรงส่งบัลลังก์ทอง พร้อมทั้งเครื่องบริวาร พร้อมทั้งทับทรวง ๕๐ อัน และเครื่องปูลาด ๑,๐๐๐ ผืน ไปโดยเร็วพลัน [๑๒๖] แม่โฉมงามโอบอุ้มดาบสนั้นไว้แนบทรวงอก กกกอดอยู่ตลอด ๓ ปีบนบัลลังก์นั้น เป็นเหมือนเพียงครู่เดียวเท่านั้น [๑๒๗] โดยล่วงไป ๓ ปี ดาบสพราหมณ์จึงสร่างเมา รู้สึกตัว ได้เห็นต้นไม้เขียวชะอุ่มขึ้นอยู่โดยรอบเรือนไฟ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

[๑๒๘] ป่าไม้ผลัดใบใหม่ ออกดอกบานสะพรั่ง กึกก้องไปด้วยฝูงนกดุเหว่า ครั้นท่านเหลียวมองดูโดยรอบ ก็หลั่งน้ำตาร้องไห้รำพันว่า [๑๒๙] เรามิได้บูชาไฟ มิได้สาธยายมนต์ อะไรบันดาลการบูชาไฟให้เสื่อมสิ้นไป ใครหนอประเล้าประโลมบำเรอจิตของเราในกาลก่อน [๑๓๐] เมื่อเราอยู่ป่า ผู้ใดหนอมายึดเอาฌานคุณ ที่เกิดมีพร้อมกับเดชของเราไป ประดุจยึดเอานาวาที่เต็มเปี่ยมด้วยรัตนะนานาชนิดในท้องทะเลหลวง (นางอลัมพุสาเทพกัญญาได้ฟังดังนั้น จึงปรากฏกายยืนอยู่กล่าวว่า) [๑๓๑] ดิฉันถูกท้าวเทวราชทรงใช้มาเพื่อบำเรอท่าน ได้ใช้จิตฆ่าจิตท่าน เพราะความประมาท ท่านจึงไม่รู้สึกตัว (อิสิสิงคดาบสได้ฟังนางอลัมพุสาเทพกัญญาแล้ว ระลึกถึงโอวาทที่บิดาให้ไว้ คร่ำครวญอยู่ได้กล่าวว่า) [๑๓๒] เดิมที พ่อกัสสปะพร่ำสอนถ้อยคำเหล่านี้กับเราว่า พ่อมาณพ หญิงเปรียบได้กับดอกนารีผล เจ้าจงรู้จักหญิงเหล่านั้น [๑๓๓] พ่อกัสสปะดูเหมือนจะเอื้อเอ็นดูเรา จึงพร่ำสอนเราอย่างนี้ว่า มาณพ เจ้าจงรู้จักหญิงผู้มีฝีที่อก เจ้าจงรู้จักหญิงเหล่านั้น [๑๓๔] เรามิได้ทำตามคำสอนของบิดาผู้เจริญนั้น วันนี้เรานั้นจึงซบเซาอยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่หามนุษย์มิได้ [๑๓๕] น่าติเตียนจริงหนอ ชีวิตของเรา เราจักทำอย่างที่เราเคยเป็นเช่นนั้น หรือมิฉะนั้นเราก็จักตายเสีย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

(พระศาสดาตรัสว่า) [๑๓๖] อลัมพุสาเทพกัญญา ครั้นทราบเดช ความเพียร และปัญญาของดาบสนั้น ดำรงมั่นคงแล้ว จึงจับเท้าทั้งสองของดาบสทูนไว้ที่ศีรษะ ละล่ำละลักกล่าวกับอิสิสิงคดาบสว่า [๑๓๗] อย่าโกรธดิฉันเลย ท่านมหาวีระ อย่าโกรธดิฉันเลย ท่านมหาฤๅษี ดิฉันบำเพ็ญประโยชน์อันใหญ่หลวงเพื่อเทพชั้นไตรทศผู้มียศ เพราะเทพบุรีทั้งหมดถูกพระคุณเจ้าทำให้หวั่นไหวในคราวนั้น (อิสิสิงคดาบสกล่าวคาถาว่า) [๑๓๘] แม่นางผู้เจริญ ขอทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าววาสวะแห่งเทพชั้นไตรทศ และเธอจงเป็นสุขๆ เถิด เชิญเธอไปตามสบายเถิด แม่เทพกัญญา (พระศาสดาตรัสว่า) [๑๓๙] อลัมพุสาเทพกัญญา ครั้นจับเท้าทั้ง ๒ ของดาบสแล้ว จึงประคองอัญชลี กระทำประทักษิณดาบสนั้น แล้วได้หลีกไปจากที่นั้น [๑๔๐] นางเทพกัญญาขึ้นสู่บัลลังก์ทอง พร้อมทั้งเครื่องบริวาร พร้อมทั้งทับทรวง ๕๐ และเครื่องปูลาด ๑,๐๐๐ ผืน อันเป็นของนางนั่นเอง ได้กลับไปในสำนักเทพทั้งหลาย [๑๔๑] ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีปีติและโสมนัส ปลาบปลื้มหฤทัย ได้พระราชทานพรกับนางเทพกัญญานั้นซึ่งกำลังมา ราวกับประทีปอันรุ่งเรือง ดุจสายฟ้าแลบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)

(นางอลัมพุสากราบทูลว่า) [๑๔๒] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง หากพระองค์ทรงประทานพรแก่หม่อมฉันไซร้ ขอหม่อมฉันอย่าต้องไปประเล้าประโลมฤๅษีอีกเลย ข้าแต่ท้าวสักกะ หม่อมฉันขอพรข้อนี้ ดังนี้แล
อลัมพุสาชาดกที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๖๑๑-๖๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=523              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=10324&Z=10421                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2478              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2478&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=8146              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2478&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=8146                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja523/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :