บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒) ว่าด้วยโสณนันทดาบส (พระเจ้ามโนชะเมื่อทรงพิจารณาดาบสนั้นแล้ว จึงตรัสว่า) [๙๒] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ หรือเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์กันแน่หนอ พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร (นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า) [๙๓] อาตมภาพไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ แม้ท้าวสักกปุรินททะก็ไม่ใช่ อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ภารถมหาบพิตร๑- (พระเจ้ามโนชะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๙๔] พระคุณเจ้าได้ทำการขวนขวายช่วยเหลือมิใช่น้อยเห็นปานนี้ เมื่อฝนตก พระคุณเจ้าก็ได้ทำให้ฝนหยุด [๙๕] จากนั้นเมื่อลมแรง แดดกล้า พระคุณเจ้าก็ได้ทำเงาอันร่มเย็น ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางศัตรู [๙๖] ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาล และได้นำประชาชนผู้อยู่ในแคว้นเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของโยม ต่อมาก็ได้ทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามโยม [๙๗] โยมมีความพอใจต่อพระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งปลื้มใจอันใด คือ ยานพาหนะที่เทียมด้วยช้าง รถเทียมด้วยม้า นารีที่ประดับด้วยเครื่องอลังการ และหรือนิเวศน์อันรื่นรมย์สำราญ ขอพระคุณเจ้าออกปากขอมาเถิด โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ @เชิงอรรถ : @๑ ภารถมหาบพิตร หมายถึงพระราชาผู้รับภาระปกครองแคว้น, ผู้บริหารราชการแผ่นดิน (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๓/๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๙๘] หรือว่าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดในแคว้นอังคะก็ตาม มคธก็ตาม โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ หรือพระคุณเจ้าประสงค์แคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี โยมก็เต็มใจถวายสิ่งนั้นแด่พระคุณเจ้า [๙๙] หรือแม้ราชสมบัติกึ่งหนึ่ง โยมก็จะถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์ราชสมบัติ นิมนต์แนะนำสิ่งที่พระคุณเจ้าประสงค์มาเถิด (นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลชี้แจงความประสงค์ของตนว่า) [๑๐๐] ราชสมบัติก็ตาม บ้านเมืองก็ตาม ทรัพย์สมบัติก็ตาม อาตมภาพไม่ต้องการ แม้ถึงชนบทอาตมภาพก็ไม่มีความต้องการ [๑๐๑] ในพระราชอาณาจักรของมหาบพิตรผู้เจริญ มีอาศรมหลังหนึ่งอยู่ ณ ราวป่า บิดามารดาทั้ง ๒ ของอาตมภาพพำนักอยู่ ณ อาศรมนั้น [๑๐๒] อาตมภาพไม่ได้ทำบุญในท่านทั้ง ๒ ผู้เป็นบุรพาจารย์นั้นเลย อาตมภาพจะทำการทูลเชิญมหาบพิตรผู้ทรงพระเจริญ แล้วจะขอการสังวร (ขอโทษ) กับโสณบัณฑิต (พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสนั้นว่า) [๑๐๓] ท่านพราหมณ์ โยมจะทำตามคำของพระคุณเจ้า ตามที่พระคุณเจ้าพูดกับโยม แต่เรื่องนั้นพระคุณเจ้าบอกโยมมาเถิดว่า ผู้วิงวอนขอร้องมีจำนวนเท่าไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า) [๑๐๔] คหบดี ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด และพระองค์ผู้ทรงพระเจริญทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ ผู้วิงวอนขอร้อง ก็จักเพียงพอ (พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสว่า) [๑๐๕] พนักงานทั้งหลายจงตระเตรียมช้างและม้า นายสารถีจงเทียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก จงยกธงขึ้นปักที่แท่นปักธง เราจักไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสพำนักอยู่ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๐๖] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมกับจาตุรงคเสนา ได้เสด็จถึงอาศรมอันน่ารื่นรมย์ที่โกสิยดาบสอยู่ (พระเจ้ามโนชะทรงเห็นโสณดาบสโพธิสัตว์มา จึงตรัสว่า) [๑๐๗] หาบของใครผู้จะไปหาบน้ำ ทำด้วยไม้กระทุ่ม ไม่ถูกต้องบ่า ลอยขึ้นสู่อากาศ (ห่างบ่า)ประมาณ ๔ องคุลี (โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๐๘] ข้าแต่มหาราช อาตมภาพคือโสณดาบส ผู้อดกลั้นประพฤติวัตร ไม่เกียจคร้าน เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนวัน [๑๐๙] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ อาตมภาพระลึกถึงอุปการะที่ท่านทั้งสอง ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อนอยู่เนืองๆ จึงนำเอาผลไม้และเผือกมันในป่ามาเลี้ยงดูมารดาบิดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(พระเจ้ามโนชะทรงประสงค์จะทำความคุ้นเคยกับโสณบัณฑิตดาบส จึงตรัสว่า) [๑๑๐] โยมทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสอยู่ พระคุณเจ้าโสณะ นิมนต์พระคุณเจ้า กรุณาบอกหนทางแก่พวกโยมด้วย พวกโยมจะไปถึงอาศรมได้โดยหนทางใด (โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๑๑] ขอถวายพระพรพระราชา หนทางนี้เป็นทางเดินเท้าสำหรับคนผู้เดียว ณ ที่ใด มีป่าสีเขียวครามคล้ายเมฆ ดารดาษไปด้วยต้นทองกวาว ท่านโกสิยดาบสพำนักอยู่ ณ ป่าแห่งนี้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๑๒] มหาฤๅษี ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเหาะขึ้นในอากาศพร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย แล้วรีบด่วนหลีกไปในอากาศ [๑๑๓] ปัดกวาดอาศรม ปูลาดอาสนะแล้วเข้าไปยังบรรณศาลา บอกกล่าวบิดาให้รู้ตัวว่า [๑๑๔] ข้าแต่มหาฤๅษี กษัตริย์ผู้อภิชาติ ทรงมีพระอิสริยยศทั้งหลายเหล่านี้ กำลังเสด็จมา ขอท่านพ่อจงออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด [๑๑๕] มหาฤๅษีสดับคำของโสณบัณฑิตนั้นแล้ว รีบออกจากอาศรม นั่งอยู่ใกล้ประตูอาศรมของตน (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๑๖] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้นมีหมู่กษัตริย์แวดล้อม เป็นประดุจกองทัพรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชานุภาพ กำลังเสด็จมา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๑๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ร่าเริง [๑๑๘] ใครมีหน้าผากสวมกรอบอุณหิสทองคำอันหนา มีวรรณะประดุจสายฟ้า ใครหนอยังหนุ่มแน่นผูกสอดแล่งลูกศร รุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา [๑๑๙] อนึ่ง ใบหน้าของใครงดงามผุดผ่อง ดุจทองคำที่ละลายคว้างอยู่ปากเบ้า มีสีดังถ่านเพลิงไม้ตะเคียน ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา [๑๒๐] ฉัตรมีซี่น่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นบังแสงอาทิตย์ เขาประคองกั้นแล้วเพื่อใคร ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา [๑๒๑] ชนทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง เดินแวดล้อมเรือนร่างของใคร ผู้มีบุญอันประเสริฐซึ่งกำลังมาบนคอช้าง [๑๒๒] เศวตฉัตร ม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ ของใครเรียงรายอยู่โดยรอบ ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา [๑๒๓] กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ผู้ทรงมีพระอิสริยยศ กำลังแวดล้อมติดตามใครอยู่โดยรอบ ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา [๑๒๔] อนึ่ง เสนา ๔ เหล่า คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ แวดล้อมตามใครอยู่โดยรอบ ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๒๕] เสนาหมู่ใหญ่นั่นของใคร นับไม่ถ้วน แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร [๑๒๖] พระเจ้ามโนชะผู้เป็นราชาธิราช เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งเทพทั้งหลาย ผู้มีชัยกำลังเสด็จมาสู่อาศรมของท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทรงขอขมาโทษแทนนันทดาบส [๑๒๗] นั้นเสนาหมู่ใหญ่ของพระองค์นับไม่ถ้วน แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร [๑๒๘] พระราชาทั้งหลายมีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ทรงพระภูษากาสิกพัสตร์อันอุดม ทุกพระองค์ต่างประนมมือเสด็จเข้าไปหาพระฤๅษี (ต่อแต่นั้น พระเจ้ามโนชะตรัสว่า) [๑๒๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญมีความสุขสำราญดี ไม่มีโรคเบียดเ บียนหรือ พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการแสวงหามูลผลาหารหรือ เผือก มัน และผลไม้ยังมีอยู่มากหรือ [๑๓๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๓๑] ข้าแต่พระราชา พวกอาตมภาพ มีความสุขสำราญดี และไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง อาตมภาพทั้งหลายยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยการแสวงหามูลผลาหาร และเผือก มัน ผลไม้ก็ยังมีมากอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๓๒] อนึ่ง เหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย เนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านในป่าก็ไม่มาเบียดเบียนอาตมภาพเลย [๑๓๓] หลายปีมาแล้ว อาตมาอยู่ในอาศรมนี้ ยังไม่รู้จักความอาพาธที่ไม่ทำใจให้รื่นรมย์ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว [๑๓๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์ทรงเป็นใหญ่ เสด็จมาถึงโดยลำดับ สิ่งใดที่ทรงพอพระทัย โปรดตรัสบอกสิ่งนั้นเถิด [๑๓๕] ข้าแต่พระราชา ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า มีรสหวานเล็กน้อย เชิญพระองค์เลือกเสวยผลดีๆ เถิด [๑๓๖] น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท ตักมาจากซอกเขา มหาบพิตรหากพระองค์ประสงค์ ขอทรงดื่มเถิด (พระเจ้ามโนชะตรัสว่า) [๑๓๗] สิ่งที่พระคุณเจ้าให้โยมก็รับไว้แล้ว พระคุณเจ้าทำให้มีค่าสำหรับคนทุกคน ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดเงี่ยโสตสดับ คำของนันทดาบสเถิด ท่านจะกล่าว [๑๓๘] พวกโยมเป็นบริษัทของนันทดาบส พากันมายังสำนักของพระคุณเจ้าผู้เจริญ เพื่อจะขอขมาโทษ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดสดับฟังคำของนันทดาบสและของบริษัทเถิด (นันทบัณฑิตเมื่อเจรจากับบริษัทของตน จึงกล่าวว่า) [๑๓๙] ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด และพระราชาผู้เจริญทรงพระนามว่า มโนชะ โปรดทรงสดับคำของอาตมภาพสักเล็กน้อย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๔๐] อนึ่ง ยักษ์ ภูต และเทวดาทั้งหลายในป่า ที่พากันมาประชุมอยู่ในอาศรมนี้ ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า [๑๔๑] ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ภูตทั้งหลาย แล้วจะกล่าวกับโสณฤๅษีผู้มีวัตรดีงาม ข้าพเจ้านั้นชาวโลกสมมติแล้วว่า เป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน จึงนับว่าเป็นแขนขวาของท่าน [๑๔๒] ข้าแต่ท่านพี่โกสีย์ผู้กล้าหาญ เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์ จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านพี่จงอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย [๑๔๓] แท้จริง การบำรุงมารดาและบิดานั้น สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านพี่จงสละการบำรุงมารดาบิดานั้นให้ข้าพเจ้าเถิด ท่านพี่ได้กระทำกุศลมานานแล้ว ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง ขอท่านพี่จงมอบโลกสวรรค์ให้แก่ข้าพเจ้าเถิด [๑๔๔] ข้าแต่ท่านพี่ผู้เป็นฤๅษี มนุษย์ทั้งหลายผู้รู้บทแห่งธรรม ในธรรมว่า เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนอย่างท่านพี่รู้ มีอยู่ในบริษัทนี้เหมือนกัน [๑๔๕] ท่านโสณบัณฑิตผู้พี่ห้ามข้าพเจ้า ผู้จะบำรุงมารดาและบิดาให้มีความสุขด้วยการอุปัฏฐาก และการนวดเฟ้น จากบุญนั้น ชื่อว่าเป็นคนปิดกั้นหนทางอันประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(เมื่อนันทบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศให้ทราบว่า) [๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาราช กษัตริย์ผู้เจริญทั้งหลาย ผู้จะขอขมาโทษแทนน้องชายของอาตมภาพ ขอทรงสดับคำ ของอาตมภาพ ผู้ใดยังสกุลวงศ์อันเก่าแก่ให้เสื่อมไป ไม่ประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญในสกุลทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก [๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ ก็ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเก่าแก่ ถึงพร้อมด้วยจารีต ชนเหล่านั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ [๑๔๘] มารดาและบิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว เครือญาติและพวกพ้อง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นภาระของพี่ชายใหญ่ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ท่านภารถ [๑๔๙] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ อาตมภาพต้องรับภาระอันหนักและไม่ละเลยธรรม เหมือนนายเรือต้องรับภาระอันหนัก พยายามนำเรือไป เพราะว่าอาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่ (พระราชาทุกพระองค์ทรงพอพระทัย ทรงชมเชยโสณดาบสโพธิสัตว์ว่า) [๑๕๐] เราทั้งหลายได้บรรลุญาณคือปัญญาในความมืด ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้ง แก่เราทั้งหลายเหมือนเปลวเพลิงจากไฟป่าในเวลามืดมิด [๑๕๑] ดวงอาทิตย์เหล่ากอแห่งวาสุเทพเปล่งรัศมีอุทัยอยู่ ย่อมส่องแสงให้เห็นรูปทั้งดีทั้งชั่วอย่างแจ่มแจ้งแก่เหล่าสัตว์ฉันใด ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้งแก่เราทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(ลำดับนั้น นันทบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๒] ถ้าท่านพี่ไม่ยอมรับรู้ ถึงการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าจักประพฤติตามท่านพี่ จักตั้งใจปฏิบัติบำรุงท่านพี่ (โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิต จึงกล่าวว่า) [๑๕๓] นันทะ เธอรู้แจ้งชัดถึงสัทธรรม ที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงไว้แล้วอย่างแท้จริง เธอเป็นผู้ประเสริฐ มีมารยาทงาม พี่พอใจเธอยิ่งนัก [๑๕๔] พี่จะบอกท่านพ่อท่านแม่ ขอท่านทั้ง ๒ จงฟังคำของข้าพเจ้า ภาระนี้เป็นเพียงภาระชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าหามิได้ [๑๕๕] นันทดาบส กระทำการขอขมาโทษอ้อนวอนขอกับข้าพเจ้า เพื่อบำรุงท่านทั้ง ๒ อันเป็นการอุปัฏฐาก ที่นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดานั้นบ้าง [๑๕๖] บรรดาท่านทั้ง ๒ ผู้สงบ ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านผู้ใดปรารถนา ขอท่านคนหนึ่งจงปรารถนานันทะเถิด ขอนันทะจงบำรุงใครคนหนึ่งในท่านทั้ง ๒ ตามต้องการเถิด (มารดาของโสณดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า) [๑๕๗] โสณะ แม่และพ่ออาศัยเธอ เธออนุญาตแล้ว แม่พึงได้จุมพิตนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่กระหม่อมเถิด [๑๕๘] เพราะนานเหลือเกินจึงได้เห็นนันทะ หัวใจของแม่ย่อมหวั่นไหว เหมือนใบอ่อนของต้นโพธิ์ถูกลมพัดไหวไปมา [๑๕๙] เมื่อใดแม่หลับลงฝันเห็นนันทะมา แม่ก็เบิกบานดีใจว่า ลูกนันทะของแม่มาแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๐] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง [๑๖๑] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้ ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด [๑๖๒] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด (โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า) [๑๖๓] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า [๑๖๔] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า (โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่ บุคคลอื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า) [๑๖๕] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย๑- [๑๖๖] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้ เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี๒- @เชิงอรรถ : @๑ มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา @ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ @มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๕/๒๐๗) @๒ เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา @หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๖/๒๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๗] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด [๑๖๘] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้ ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี [๑๖๙] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร [๑๗๐] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ นี้พึงเป็นของบุตรของเรา [๑๗๑] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้ [๑๗๒] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๗๓] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก [๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา [๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา [๑๗๖] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา [๑๗๗] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา [๑๗๘] สังคหวัตถุ๑- ทั้งหลาย คือ ๑. ทาน (การให้) ๒. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก) ๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) ๔. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม สมควรในที่นั้นๆ) ทั้ง ๔ ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้ เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป @เชิงอรรถ : @๑ สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง @ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก ๔ ประการ คือ (๑) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (๒) เปยยวัชชะ @พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (๓) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ @(๔) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้ @ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๘/๒๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]
รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๗๙] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย [๑๘๐] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย [๑๘๑] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า ๑. เป็นพรหมของบุตร ๒. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร ๓. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร๑- ๔. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร [๑๘๒] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ มารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วยข้าวและน้ำ ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้ และด้วยการล้างเท้าทั้ง ๒ ให้ท่าน [๑๘๓] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แลโสณนันทชาดกที่ ๒ จบ รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ ๑. กุสชาดก ๒. โสณนันทชาดกสัตตตินิบาตจบ @เชิงอรรถ : @๑ มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร @เป็นบุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ @อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘๑/๒๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๘๔}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๗๑-๘๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=7 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=943&Z=1157 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=134 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=134&items=29 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=3626 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=134&items=29 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=3626 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja532/en/francis
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]