ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์ได้กล่าว ๓ คาถาว่า) [๘๙] สุมุขะ พ่อเนื้อเหลือง ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ หงส์ทั้งหลายหวั่นไหวต่อภัยอันตราย จึงพากันบินหนีไป ท่านจงหลีกหนีไปตามความปรารถนาเถิด [๙๐] หมู่ญาติทั้งหลายละทิ้งเรา ผู้ติดบ่วงไว้เพียงลำพัง ไม่มีความเยื่อใย พากันบินหนีไป ทำไมจึงเหลือท่านอยู่ตัวเดียวเล่า [๙๑] บินขึ้นไปเถิด ท่านผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์ ความเป็นสหายไม่มีในผู้ติดบ่วง ท่านอย่าทำความไม่มีทุกข์ให้เสื่อมไปเลย จงหนีไปตามความปรารถนาเถิด สุมุขะ (หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า) [๙๒] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์ แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป ความเป็นหรือความตายของข้าพระองค์ จักมีพร้อมกับพระองค์ [๙๓] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์ แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป พระองค์ไม่ควรจะชักชวนให้ข้าพระองค์ ประกอบกรรมที่บุคคลผู้ไม่ประเสริฐประกอบกันเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าฝูงหงส์ ข้าพระองค์เป็นเด็กรุ่นเดียวกับพระองค์๑- เป็นเพื่อนของพระองค์ ดำรงอยู่ในจิตใจของพระองค์ ข้าพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสนาบดีของพระองค์ [๙๕] ข้าพระองค์ไปจากที่นี้แล้ว จักอธิบายในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์จากที่นี้ไปแล้ว จะชี้แจงกับฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตทิ้งไว้ในที่นี้ จะไม่พยายามทำกรรมอันไม่ประเสริฐ (พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญคุณของหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า) [๙๖] สุมุขะ การที่ท่านไม่พยายามที่จะทอดทิ้งเรา ผู้เป็นทั้งนาย เป็นทั้งเพื่อน ชื่อว่าดำรงอยู่ในทางของพระอริยะ นั้นเป็นธรรมของโบราณกบัณฑิต [๙๗] ก็แลเมื่อเราเห็นท่าน ก็ไม่เกิดความสะดุ้งกลัวเลย แต่ท่านจะประสบอันตรายเหมือนชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้ (พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๙๘] เมื่อพญาหงส์ทั้ง ๒ ผู้ประเสริฐมีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ กล่าวปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ นายพรานถือท่อนไม้กระชับมั่นรีบด่วนเข้ามาถึงตัว @เชิงอรรถ : @ เด็กรุ่นเดียวกับพระองค์ หมายถึงถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากไข่ในวันเดียวกัน และเจริญเติบโตมา @ด้วยกัน (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๒๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๙๙] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์ เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า [๑๐๐] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่ ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน (พระบรมศาสดาตรัสว่า) [๑๐๑] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น ด้วยกล่าวว่า [๑๐๒] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้ นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้ [๑๐๓] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ๆ หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว (หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า) [๑๐๔] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์ เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์ ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๐๕] หงส์นั้นเป็นนายของหงส์ฝูงใหญ่และของข้าพเจ้า ขอพระองค์อย่าถึงความพินาศพระองค์เดียวเลย นายพรานเพื่อนเอ๋ย หงส์นี้เป็นนายอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจึงพอใจที่จะอยู่ใกล้ๆ พระองค์ (นายพรานถามว่า) [๑๐๖] หงส์สุมุขะเอ๋ย ท่านนอบน้อมตำแหน่ง ประดุจก้อนข้าวที่ได้รับ ชื่อว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ ข้าพเจ้ายอมปล่อยนายของท่าน ท่านทั้ง ๒ จงไปตามสบายเถิด (หงส์สุมุขะตอบว่า) [๑๐๗] เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย ด้วยความพยายามเพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอรับอภัยทานนั้นของท่าน [๑๐๘] ถ้าท่านไม่ดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยความพยายาม เพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ท่านจะไม่มีอิสระ เมื่อปล่อยเราทั้ง ๒ ไป จะพึงทำตนให้เป็นขโมยนะ นายพราน (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า) [๑๐๙] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาองค์ใด จงนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไปให้ถึงพระราชาองค์นั้นตามพระประสงค์ พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำ ตามพระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น [๑๑๐] นายพรานถูกหงส์สุมุขะกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงใช้มือประคองพญาหงส์เนื้อทอง ตัวมีผิวพรรณประดุจทองคำทั้ง ๒ ใส่ไว้ในกรง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๑๑] นายพรานพาพญาหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่อง คือ หงส์สุมุขะและพญาหงส์ธตรัฏฐะซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป [๑๑๒] พญาหงส์ธตรัฏฐะถูกนายพรานนำไปอยู่ ได้กล่าวเนื้อความนี้กับหงส์สุมุขะว่า เรากลัวนัก สุมุขะ ด้วยนางพญาหงส์ตัวมีผิวพรรณดังทองคำ มีลำขาอ่อนได้ลักษณะ รู้ว่าเราถูกฆ่าแล้วจักฆ่าตัวตายตาม [๑๑๓] สุมุขะ ก็สุเหมานางพญาหงส์ แม่เนื้อเหลือง ผู้เป็นธิดาของพญาปากหงส์จักร่ำไห้อย่างแน่นอน เสมือนนางนกกระเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทร (หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า) [๑๑๔] พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งสัตวโลกคือหมู่หงส์ มีคุณประมาณมิได้ เป็นครูแห่งหมู่คณะใหญ่ แต่กลับมัวเศร้าโศกรำพันถึงหญิงคนเดียวอย่างนี้ นี้เป็นเหมือนมิใช่การกระทำของคนมีปัญญาเลย [๑๑๕] ลมย่อมพัดพาเอากลิ่นทั้ง ๒ อย่าง คือ กลิ่นหอมและกลิ่นเหม็นไป เด็กอ่อนย่อมเก็บเอาผลไม้ทั้งดิบและสุก คนตาบอดที่โลเลย่อมรับอามิสฉันใด ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น [๑๑๖] พระองค์ไม่รู้จักวินิจฉัยในเหตุทั้งหลาย ปรากฏกับข้าพระองค์เหมือนคนเขลา ถึงเวลาจะตายอยู่แล้ว ก็ยังไม่ทราบกิจที่ควรทำหรือไม่ควรทำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๑๗] พระองค์สำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ เห็นจะเป็นคนกึ่งบ้า จึงบ่นเพ้อรำพันไป ความจริง หญิงเหล่านี้สาธารณะทั่วไปแก่ชนเป็นอันมาก เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่นักเลงสุรา [๑๑๘] อนึ่ง หญิงนี้มีมายาเหมือนพยับแดด เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก เป็นเหตุแห่งโรคและอันตราย อนึ่ง หญิงเหล่านี้เป็นเครื่องผูกมัดอันกล้าแข็ง เป็นบ่วง เป็นถ้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของมัจจุราช บุรุษใดวางใจในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นคนต่ำทรามในบรรดานรชนทั้งหลาย (พญาหงส์ธตรัฏฐะเมื่อจะแสดงธรรมแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า) [๑๑๙] สิ่งใดที่ท่านผู้เจริญรู้จักกันดี ใครควรจะติเตียนสิ่งนั้นเล่า ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายเป็นผู้มีคุณมาก เกิดขึ้นก่อนในโลก๑- [๑๒๐] การเล่นคะนองอันบุคคลตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น ความยินดีในหญิงเหล่านั้นบุคคลก็ตั้งไว้เฉพาะแล้ว พืชทั้งหลายก็งอกงามในหญิงเหล่านั้น คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในหญิงเหล่านั้น ชีวิตกับชีวิตมาเกี่ยวข้องกันแล้ว ใครเล่าจะพึงเบื่อหน่ายหญิงเหล่านั้น [๑๒๑] สุมุขะ ท่านเองนั่นแหละไม่ใช่คนอื่น ยังต้องประกอบความต้องการกับหญิงทั้งหลาย วันนี้เมื่อเกิดภัย ความคิดจึงเกิดแก่ท่านเพราะความกลัว @เชิงอรรถ : @ เกิดขึ้นก่อนในโลก หมายถึงเพศหญิงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกาลปฐมกัลป์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๑๙/๒๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๒๒] จริงอยู่ ผู้ถึงความสงสัยในชีวิตทั้งปวง ถึงจะหวาดกลัวก็อดกลั้นความกลัวไว้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ย่อมประกอบประโยชน์ที่ยากจะประกอบได้ [๑๒๓] พระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาข้าราชการที่กล้าหาญ เพื่อประสงค์ที่จะให้คนกล้าหาญ ป้องกันอันตรายและเหตุรอบข้างพระองค์ [๑๒๔] วันนี้ ขอพ่อครัวของพระราชา อย่าเชือดเราทั้ง ๒ ในห้องเครื่องใหญ่เลย เพราะว่า สีขนปีกจะฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ [๑๒๕] ท่านแม้พ้นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะบินไป ตนเองกลับเดินเข้ามาหาเครื่องดัก วันนี้ แม้ท่านผู้ถึงความสงสัยในชีวิต จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด อย่ายื่นปากออกมาเลย [๑๒๖] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร ที่เนื่องด้วยธรรมอันสมควรนั้นเถิด จงเที่ยวแสวงหาหนทางรอดชีวิตให้แก่เรา ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่าน (หงส์สุมุขะกล่าวว่า) [๑๒๗] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่ ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า) [๑๒๘] นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมทั้งหาบหงส์ ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลถึงเรา ให้พระราชาทรงทราบว่า พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มาแล้ว [๑๒๙] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็น พญาหงส์ทั้ง ๒ นั้นเช่นกับผู้มีบุญ รู้ได้ด้วยลักษณะ จึงได้รับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า [๑๓๐] ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และของบริโภค แก่นายพราน เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ๑- ให้เขา จงให้แก่เขาตามที่เขาต้องการ (พระบรมศาสดาตรัสว่า) [๑๓๑] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีอาการร่าเริง จึงได้ตรัสคำนี้ว่า เขมกะ เพื่อนรัก ผิว่าสระโบกขรณีนี้มีฝูงหงส์จับอยู่เต็มไปหมดไซร้ [๑๓๒] ทำไมท่านจึงถือบ่วงเข้าไปใกล้พญาหงส์ ผู้งดงามซึ่งอยู่ ณ ท่ามกลาง ได้จับพญาหงส์ผู้มีหมู่ญาติเกลื่อนกล่น ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้อย่างไร (นายพรานเขมกะนั้นกราบทูลพระราชาว่า) [๑๓๓] วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่ประมาท แอบซ่อนอยู่ในตุ่ม คอยแสวงหารอยเท้าของพญาหงส์ทองตัวนั้น ตัวเข้าไปใกล้สถานที่ที่จับเหยื่อ @เชิงอรรถ : @ เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ หมายถึงเป็นกิริยาแสดงความใคร่ของเขา (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๐/๒๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๓๔] ต่อมาข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นั้น ตัวกำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงได้ดักบ่วงลงไว้ ณ ที่นั้น แล้วจับพญาหงส์นั้นได้ด้วยวิธีอย่างนี้ (พระราชาได้สดับดังนั้น จึงตรัสถามว่า) [๑๓๕] พ่อพราน นกเหล่านี้มีอยู่ ๒ ตัว แต่ทำไมท่านจึงกล่าวว่าตัวเดียว จิตของท่านแปรปรวนแล้วหนอ หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรกันหนอ (นายพรานกราบทูลว่า) [๑๓๖] หงส์ตัวที่มีลายสีแดงจรดถึงทรวงอก งดงามประดุจทองคำ ที่กำลังถูกหล่อหลอมนั้น ได้เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์ [๑๓๗] ส่วนหงส์ตัวมีผิวพรรณผ่องใสตัวนี้มิได้ติดบ่วง ยืนเปล่งวาจาเป็นภาษามนุษย์ กล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ กับพญาหงส์ตัวติดบ่วง ซึ่งกำลังกระสับกระส่ายอยู่ (พระราชาทรงประสงค์จะให้หงส์สุมุขะแสดงธรรม จึงตรัสว่า) [๑๓๘] สุมุขะ ทำไมหนอเวลานี้ท่านจึงยืนหดคางอยู่ หรือท่านมาถึงบริษัทของเราแล้ว กลัวภัยจึงไม่พูด (หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น เมื่อจะแสดงความที่ตนไม่กลัวภัย จึงกราบทูลว่า) [๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี ข้าพระองค์หยั่งลงสู่บริษัทของพระองค์แล้วจะเกรงกลัวหามิได้ ข้าพระองค์ไม่พูดเพราะความเกรงกลัวก็หามิได้ ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำในเมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น (พระราชาสดับดังนั้นแล้วทรงแย้มสรวล ตรัสว่า) [๑๔๐] เราไม่เห็นบริษัทที่ถืออาวุธเลย ไม่เห็นพลรถ พลราบ เกราะ หรือโล่หนัง และนายขมังธนูผู้สรวมเกราะของท่านเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๔๑] เงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้แล้วอย่างดี มีคูเรียงราย ยากที่จะข้ามได้ มีหอรบและป้อมอันมั่นคง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านเข้าไป ไม่กลัวสิ่งที่ควรกลัว เรายังไม่เห็นเลย สุมุขะ (หงส์สุมุขะเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกราบทูลว่า) [๑๔๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการบริวารที่ถืออาวุธ นคร หรือทรัพย์ เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายมีปกติเที่ยวไปในอากาศ ย่อมไปยังหนทางอันเป็นสถานที่มิใช่หนทาง [๑๔๓] ก็พระองค์ได้ทรงสดับมาว่า ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ข้าพระองค์จะกล่าววาจาที่มีประโยชน์ ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในความสัตย์เถิด [๑๔๔] ด้วยว่าถ้อยคำที่พวกข้าพระองค์กล่าวแล้ว แม้จะเป็นสุภาษิต จะกระทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้ ผู้มิใช่คนประเสริฐมักกล่าวคำเท็จและหยาบช้า [๑๔๕] พระองค์รับสั่งให้ขุดสระอันเกษมนี้ตามคำของพวกพราหมณ์ และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทานไปทั่วทิศทั้ง ๑๐ นี้ [๑๔๖] นกทั้งหลายจึงลงสู่สระโบกขรณีของพระองค์ ซึ่งมีน้ำใสสะอาด ที่สระบัวนั้นมีของกินเพียงพอ และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายที่สระนั้น [๑๔๗] พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว จึงพากันมาใกล้สระโบกขรณีของพระองค์ พวกข้าพระองค์นั้นจึงถูกบ่วงของพระองค์รัด คำประกาศนั้นเป็นภาษิตเท็จของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๔๘] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง ๒ ๑- ไป ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ (พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๔๙] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้ เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ [๑๕๐] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง ๒ จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้ สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น (หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า) [๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย [๑๕๒] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น [๑๕๓] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง ๒ คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า @เชิงอรรถ : @ สนธิทั้ง ๒ หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง ๒ อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้ @ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๖/๒๗๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๕๔] บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงมัวเมา ถึงความสงสัยในชีวิต๑- แล้วไม่พึงเดือดร้อน พึงพยายามในกิจการงานทั้งหลายร่ำไป และพึงปิดช่องโหว่ทั้งหลาย๒- เสีย [๑๕๕] บัณฑิตผู้เจริญเหล่าใดผ่านชีวิตโลกนี้ไป ถึงคราวใกล้ตาย ประพฤติธรรมในโลกนี้ บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วด้วยประการฉะนี้ [๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว ขอทรงรักษาธรรมไว้ในพระองค์เถิด และขอทรงปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะ ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด (พระราชาครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๑๕๗] พนักงานทั้งหลายจงนำน้ำมันทาเท้า และอาสนะอันมีค่ามากมา เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะผู้มียศออกจากกรง [๑๕๘] และเราจะปล่อยพญาหงส์ ตัวที่เมื่อหงส์ผู้เป็นพระราชามีสุขก็เป็นสุขด้วย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ด้วย ซึ่งเป็นหงส์เสนาบดี เป็นนักปราชญ์ มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ [๑๕๙] บุคคลเช่นนี้แลสมควรที่จะบริโภคก้อนข้าวของนายได้ เหมือนหงส์สุมุขะผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิตของพระราชา @เชิงอรรถ : @ ถึงความสงสัยในชีวิต หมายถึงประสบทุกข์แล้วไม่พึงลำบาก (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๗๔) @ ปิดช่องโหว่ทั้งหลาย หมายถึงพึงปิด พึงกั้นช่องทะลุ (ข้อบกพร่อง) ของตน (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๖๐] ก็พญาหงส์ธตรัฏฐะได้บินเข้าไปจับตั่งทองคำล้วน ซึ่งมีเท้า ๘ น่ารื่นรมย์ เกลี้ยงเกลา ปูลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี [๑๖๑] ส่วนหงส์สุมุขะได้บินเข้าไปเกาะเก้าอี้ทองคำล้วน ซึ่งบุด้วยหนังเสือโคร่ง ถัดจากพญาหงส์ธตรัฏฐะ [๑๖๒] ชาวแคว้นกาสีจำนวนมากพาเอาอาหารอันเลิศ ที่พระเจ้ากาสีทรงส่งไปด้วยถาดทองคำให้แก่พญาหงส์เหล่านั้น [๑๖๓] พญาหงส์ธตรัฏฐะผู้ฉลาดในธรรมเนียมการปฏิสันถาร เห็นอาหารอันเลิศที่เขานำมาแล้ว ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงประทานส่งไป ต่อจากนั้นจึงได้ทูลถามเป็นลำดับไปว่า [๑๖๔] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ (พระราชาตรัสว่า) [๑๖๕] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม (พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า) [๑๖๖] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๑๖๗] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า) [๑๖๘] พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์ ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๑๖๙] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่ (พญาหงส์โพธิสัตว์ ทูลถามว่า) [๑๗๐] แคว้นมิได้ถูกเบียดเบียน มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหนๆ หรือ พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้เกรี้ยวกราดหรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๑๗๑] แคว้นก็มิได้ถูกเบียดเบียน มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหนๆ เลย เราปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้เกรี้ยวกราดเลย (พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า) [๑๗๒] สัตบุรุษพระองค์ทรงยำเกรง ทรงเว้นอสัตบุรุษเสียห่างไกลหรือ พระองค์มิได้ทรงห่างเหินธรรม ประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

(พระราชาตรัสตอบว่า) [๑๗๓] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว (พญาหงส์ทูลถามว่า) [๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๑๗๕] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่ พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ๑- จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก [๑๗๖] คือ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. การบริจาค ๔. ความซื่อตรง ๕. ความอ่อนโยน ๖. ความเพียร ๗. ความไม่โกรธ ๘. ความไม่เบียดเบียน ๙. ความอดทน ๑๐. ความไม่คลาดธรรม๑- @เชิงอรรถ : @ ธรรม ๑๐ ประการ คือทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ ๑๐ ประการ @มีข้าวและน้ำเป็นต้น (๒) ศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (๓) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม @(๔) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (๕) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน @(๖) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (๗) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น @(๘) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (๙) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น @(๑๐) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๖/๒๗๘-๒๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๗๗] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้ ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา [๑๗๘] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์ จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา [๑๗๙] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์ การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา (หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า) [๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์ ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า [๑๘๑] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด (พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า) [๑๘๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต๑- จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง @เชิงอรรถ : @ ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ @ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘/๒๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)

[๑๘๓] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์ [๑๘๔] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง ๒ และขอปล่อยท่านทั้ง ๒ ให้เป็นอิสระ (พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้ ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง ๒ ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด [๑๘๖] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง ๒ ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๘๗] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง ๒ ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย [๑๘๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่ พญาหงส์ทั้ง ๒ ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร [๑๘๙] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย ต่างพากันส่งเสียงว่าเกกๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๓. สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)

[๑๙๐] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว [๑๙๑] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
มหาหังสชาดกที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๙๘-๑๑๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=9              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=1349&Z=1597                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=199              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=199&items=50              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4899              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=199&items=50              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4899                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja534/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :