ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๓. เอกาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนทายกเถระ
(พระเอกาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๖] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อกสิกะ ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างสวยงาม [๓๗] ข้าพเจ้ามีนามว่านารทะ แต่คนทั้งหลายเรียกว่ากัสสปะ ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาทางบริสุทธิ์อาศัยอยู่ที่ภูเขากสิกะ [๓๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงประสงค์วิเวก จึงเสด็จมาทางอากาศ [๓๙] ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีของพระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกำลังเสด็จมาเหนือยอดไม้ จึงจัดแจงเตียงไม้และปูลาดหนังสัตว์ไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน

[๔๐] ครั้นปูลาดอาสนะเสร็จแล้วประนมมือเหนือศีรษะ ประกาศถึงความโสมนัสแล้ว ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า [๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ขอพระองค์ผู้เป็นดังศัลยแพทย์ผู้ถอนลูกศร ผู้เยียวยาความเดือดร้อน ได้โปรดประทานการเยียวยาแก่ข้าพระองค์ ผู้ถูกความกำหนัดครอบงำด้วยเถิด [๔๒] ข้าแต่พระมุนี ชนเหล่าใดมีความต้องการบุญ พบเห็นพระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน (และ)เขาเหล่านั้นจะพึงเป็นผู้ไม่แก่ [๔๓] ข้าพระองค์หาได้มีไทยธรรมถวายพระองค์ไม่ เพราะข้าพระองค์บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ข้าพระองค์มีแต่อาสนะนี้ โปรดประทับนั่งบนเตียงไม้เถิด [๔๔] พระผู้มีพระภาค ผู้ไม่มีความสะดุ้ง ผู้เป็นดุจราชสีห์ ได้ประทับนั่งบนเตียงไม้แล้ว สักครู่จึงได้ตรัสคำนี้ว่า [๔๕] ท่านจงเบาใจเถิด อย่าได้กลัวเลย ท่านได้แก้วมณีโชติรสแล้ว อาสนะที่ท่านปรารถนาทั้งหมด จักสำเร็จบริบูรณ์แก่ท่าน [๔๖] บุญที่บุคคลบำเพ็ญไว้ดีแล้วในเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เป็นบุญไม่น้อยเลย ผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วสามารถจะถอนตนเองขึ้นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๓. เอกาสนทายกเถราปทาน

[๔๗] ด้วยการถวายอาสนะนี้ และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น เขาจะไม่ตกนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป [๔๘] เขาจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๕๐ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๐ ชาติ [๔๙] และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน จักมีความสุขในที่ทุกสถานเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ [๕๐] ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้แล้ว ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า เหมือนพญาหงส์ในอากาศ [๕๑] ยานคือช้าง ยานคือม้า วอและคานหาม ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะที่เดียว [๕๒] เมื่อข้าพเจ้าเข้าป่าแล้วต้องการอาสนะ บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น [๕๓] เมื่ออยู่ท่ามกลางน้ำต้องการที่นั่ง บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้าก็ปรากฏขึ้น [๕๔] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใดๆ คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม บัลลังก์ ๑๐๐,๐๐๐ แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๕๕] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๒ คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์ เกิดในตระกูลเพียง ๒ ตระกูล คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๓. สกิงสัมมัชชกวรรค]

๓. เอกาสนทายกเถราปทาน

[๕๖] ข้าพเจ้าถวายอาสนะเพียงที่เดียวในเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม รู้ทั่วถึงบัลลังก์คือธรรมแล้ว จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๕๗] ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะที่เดียว [๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๕๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระเอกาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนทายกเถราปทานที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๖-๓๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=13              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=439&Z=482                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=13              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=13&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=13&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap425/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :