ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค]

๑. สุเมธาเถริยาปทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรีอปทาน
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. สุเมธาวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีชื่อสุเมธาเป็นต้น
๑. สุเมธาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุเมธาเถรี
ลำดับต่อไปนี้ จงสดับอปทานของพระเถรีต่อไป (พระสุเมธาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกนาคมนะ ประทับอยู่ที่สังฆาราม หม่อมฉันเป็นหญิงสหายกัน ๓ คน ได้ถวายวิหารทาน [๒] หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในเทวโลก ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง ในมนุษยโลก ไม่จำต้องพูดถึง [๓] ในเทวโลกหม่อมฉันเป็นผู้มีฤทธิ์มาก ในมนุษยโลกไม่จำต้องพูดถึง ได้เป็นนางแก้ว๑- เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ @เชิงอรรถ : @ นางแก้ว ในที่นี้หมายถึงหญิงดีที่มีคุณสมบัติ คือ เว้นโทษ ๖ ประการ มีความงาม ๕ ประการ มีความ @งามกว่ามนุษย์ทั่วไป ฯลฯ (ขุ.เถรี.อ. ๓/๓๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค]

๑. สุเมธาเถริยาปทาน

[๔] ชน ๓ คน คือ นางธนัญชานีพราหมณี พระนางเขมาเถรี และหม่อมฉัน ได้สั่งสมกุศลไว้ในชาตินั้น เกิดในตระกูลที่เพียบพร้อมทุกอย่าง [๕] ได้สร้างอารามอย่างสวยงาม ประดับด้วยเครื่องตกแต่งทุกอย่างเสร็จแล้ว มอบถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว [๖] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในที่ไหนๆ ในเทวโลกก็ตาม ในมนุษยโลกก็ตาม ก็ถึงความเป็นผู้เลิศ [๗] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๘] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่อุดม ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ [๙] ท้าวเธอมีพระราชธิดา ๗ พระองค์ พระราชกัญญาเหล่านั้นดำรงอยู่ในความสุข ทรงพอพระทัยในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า และประพฤติพรหมจรรย์๑- [๑๐] หม่อมฉันเป็นพระสหายของพระราชธิดาเหล่านั้น เป็นสตรีผู้มั่นคงในศีล ได้ถวายทานโดยเคารพ ประพฤติวัตรอยู่ในเรือนนั่นเอง @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) เวยยาวัจจะ @(๓) เบญจศีล (๔) อัปปมัญญา (๕) เมถุนวิรัติ (๖) สทารสันโดษ (๗) วิริยะ (๘) อุโปสถังคะ @(๙) อริยมรรค (๑๐) ศาสนา (ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค]

๑. สุเมธาเถริยาปทาน

[๑๑] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๒] หม่อมฉันจุติจากสวรรคชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี [๑๓] หม่อมฉันประกอบบุญกรรมไว้ เกิดในภพใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา [๑๔] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน [๑๕] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายชาติ [๑๖] นั้นเป็นเหตุ เป็นแดนเกิด และมูลเหตุ คือเป็นความสมควรในพระศาสนา นั่นเป็นสโมธานข้อที่ ๑ ข้อนั้นเป็นความดับของหม่อมฉันผู้ยินดีในธรรม [๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. สุเมธาวรรค]

๒. เมขลทายิกาเถริยาปทาน

[๑๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระสุเมธาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุเมธาเถริยาปทานที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๖๕-๓๖๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=152              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=4057&Z=4098                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=141              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=141&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=141&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap1/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :