ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปฏาจาราเถรี
(พระปฏาจาราเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๔๖๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๔๖๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก [๔๗๐] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนา แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ [๔๗๑] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงสรรเสริญภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีหิริ ผู้คงที่ คล่องแคล่วในกิจที่ควรและไม่ควรว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย [๔๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีจิตเบิกบาน หวังตำแหน่งนั้น จึงทูลนิมนต์พระทศพลผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ [๔๗๓] ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน ถวายบาตรและจีวรแล้ว ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า [๔๗๔] ‘ข้าแต่พระธีรมุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ภิกษุณีรูปใด ที่พระองค์ทรงสรรเสริญในตำแหน่งที่เลิศ ในวันที่ ๘ แต่นี้ ถ้าตำแหน่งนั้นจะสำเร็จแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจักเป็นเช่นนั้น’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

[๔๗๕] ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า ‘นางผู้เจริญ อย่ากลัวเลย จงเบาใจเถิด เธอจักได้ตำแหน่งนั้นสมความปรารถนาในอนาคตกาล [๔๗๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๔๗๗] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าปฏาจารา เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองคนั้น’ [๔๗๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา ปรนนิบัติพระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์จนตลอดชีวิต [๔๗๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๘๐] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๔๘๑] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๔๘๒] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๓ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่าภิกษุณี ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา [๔๘๓] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

[๔๘๔] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า [๔๘๕] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา [๔๘๖] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด) คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระเขมาเถรี ๑ พระภัทราภิกษุณีเถรี ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา [๔๘๗] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๘๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีที่เจริญมั่งคั่ง กว้างขวาง มีทรัพย์มาก [๔๘๙] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว ได้ตกอยู่ในอำนาจของวิตก พบบุรุษชาวชนบทผู้หนึ่งแล้วได้ตามไปอยู่กับเขา [๔๙๐] หม่อมฉันคลอดบุตรคนที่หนึ่ง ตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๒ เมื่อนั้น หม่อมฉันปรารถนาว่าจะไปเยี่ยมมารดาบิดา [๔๙๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันมิได้บอกสามี เมื่อสามีของหม่อมฉันไม่อยู่ หม่อมฉันคนเดียวออกจากเรือน จะเดินทางไปยังกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐสุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

[๔๙๒] ภายหลังสามีของหม่อมฉันตามมาทันที่หนทาง ขณะนั้น ลมกรรมชวาต๑- แสนจะทารุณเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน [๔๙๓] ครั้งนั้น มหาเมฆก็เกิดขึ้นในเวลาที่หม่อมฉันจะคลอด สามีไปหาเครื่องกำบังแต่ถูกงูกัดตาย [๔๙๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีทุกข์เพราะการคลอด หมดที่พึ่ง เป็นคนกำพร้า เดินไปเห็นแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยม เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยว [๔๙๕] หม่อมฉันอุ้มลูกคนเล็ก ข้ามไปที่ฝั่งโน้นคนเดียว ให้ลูกคนเล็กดื่มนมจนอิ่มแล้ว ประสงค์ที่จะนำบุตรอีกคนหนึ่ง (คนโต) ให้ข้ามมา [๔๙๖] จึงย้อนกลับมา เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลูกคนเล็กที่ร้องไห้จ้าไป บุตรคนโตกระแสน้ำก็พัดไป หม่อมฉันนั้นเปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศกเหลือประมาณ [๔๙๗] จึงเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี ได้ฟังข่าวว่า ญาติของตน (มารดา บิดาและพี่ชาย) ตายแล้ว เวลานั้น หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก เปี่ยมด้วยความโสกาดูรอย่างใหญ่หลวง ได้กล่าวว่า [๔๙๘] ‘ลูก ๒ คนก็ตายเสียแล้ว สามีของเราก็ตายในป่า มารดาบิดาและพี่ชายของเรา ก็ถูกเผาอยู่ที่เชิงตะกอนเดียวกัน’ [๔๙๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งซูบผอม ทั้งเหลืองซีด ไม่มีที่พึ่ง ตรอมใจอยู่ทุกวัน เมื่อหม่อมฉันกระเซอะกระเซิงไป ได้พบพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน @เชิงอรรถ : @ ลมกรรมชวาต หมายถึงลมเกิดแต่กรรมคือลมเกิดในครรภ์เวลาคลอดบุตร ได้แก่ ลมเบ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

[๕๐๐] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า ‘เธออย่าเศร้าโศกถึงบุตรเลย จงผ่อนคลายบ้างเถิด จงแสวงหาตนเองเถิด จะเดือดร้อนอย่างไร้ประโยชน์ไปทำไม [๕๐๑] บุตร ธิดา ญาติและพวกพ้อง มีไว้เพื่อต้านทานคนผู้ถึงที่ตายไม่ได้เลย บรรดาหมู่ญาติ ผู้ที่จะต้านทานได้ก็ไม่มี’ [๕๐๒] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีนั้นแล้ว ได้บรรลุโสดาปัตติผล บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๕๐๓] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา [๕๐๔] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน [๕๐๕] ครั้งนั้น หม่อมฉันเรียนวินัยทั้งปวง ในสำนักของพระผู้ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง และกล่าวอธิบายพระวินัยทั้งปวงได้อย่างพิสดารตามเป็นจริง [๕๐๖] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ‘ปฏาจาราภิกษุณีเพียงผู้เดียวเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย’ [๕๐๗] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ทำสำเร็จแล้ว ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้

[๕๐๘] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ [๕๐๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๕๑๐] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๕๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ปฏาจาราภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปฏาจาราเถริยาปทานที่ ๑๐ จบ
เอกูโปสถิกวรรคที่ ๒ จบบริบูรณ์
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน ๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน ๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน ๗. มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน ๘. เขมาเถริยาปทาน ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ ๕๐๙ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๕๐-๔๕๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=171              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=5238&Z=5312                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=160              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=160&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=160&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap20/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :