ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรีพราหมณกัญญา ๘๔,๐๐๐ รูป
(พระเถรีพราหมณกัญญา ๘๔,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๓] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉัน ๘๔,๐๐๐ นาง ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีมือและเท้าละเอียดอ่อน เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์ [๑๔] เกิดในตระกูลแพศย์และตระกูลศูทร ข้าแต่พระมหามุนี เหล่าเทพ นาค กินนร และกัญญาจำนวนมากอยู่ในทวีปทั้ง ๔ เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์ [๑๕] หญิงบางพวกบวชแล้ว ได้เห็นธรรมทั้งปวงก็มีมาก เหล่าเทพ กินนร นาค ก็จักตรัสรู้ในอนาคตกาล [๑๖] ชนทั้งหลายได้เสวยเกียรติยศทั้งปวง ได้สมบัติทั้งปวง ได้ความเลื่อมใสในพระองค์ ก็จักตรัสรู้ในอนาคต [๑๗] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ ส่วนหม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นธิดาของพราหมณ์ เป็นผู้มีลักษณะดี ขอกราบพระยุคลบาท [๑๘] ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ขจัดได้แล้ว ตัณหาที่เป็นรากเหง้า(แห่งอกุศล) หม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน

อนุสัย๑- หม่อมฉันทั้งหลายก็ตัดได้แล้ว ปุญญาภิสังขาร หม่อมฉันทั้งหลายก็ทำลายได้แล้ว [๑๙] หม่อมฉันทั้งปวงมีสมาธิเป็นอารมณ์ ชำนาญในสมาบัติเช่นกัน จักอยู่ด้วยฌาน และความยินดีในธรรมทุกเมื่อ [๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำตัณหาที่นำไปสู่ภพ อวิชชา และแม้สังขารให้สิ้นไปแล้ว ตามไปรู้แจ้งซึ่งบทที่รู้ได้แสนยาก [๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลายมีอุปการะแก่เรา ผู้เดินทางไกลมาตลอดกาลนาน จงตัดความสงสัยของบริษัท ๔ แล้วทั้งหมดจงนิพพานเถิด’ [๒๒] พระเถรีเหล่านั้น กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว แสดงฤทธิ์ต่างๆ บางพวกแสดงแสงสว่าง บางพวกแสดงความมืด บางพวกแสดงอย่างอื่น [๒๓] บางพวกแสดงดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และทะเลพร้อมด้วยปลา บางพวกแสดงภูเขาสิเนรุ ภูเขาสัตตบริภัณฑ์และต้นปาริฉัตตกะ [๒๔] บางพวกแสดงภพดาวดึงส์ ยามาเทวโลกด้วยฤทธิ์ บางพวกเนรมิตตนเป็นเทวดาชั้นดุสิต เป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี เป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีผู้เป็นใหญ่ยิ่ง @เชิงอรรถ : @ อนุสัย ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ สภาพที่ปรุงแต่งคือบุญ @(ดูเทียบ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน

[๒๕] บางพวกแสดงตนเป็นพรหม บางพวกเนรมิตที่จงกรมมีค่ามาก และเพศพระพรหม แสดงสุญญตธรรม๑- อยู่ [๒๖] พระเถรีทั้งปวง ครั้นแสดงอิทธิฤทธิ์มีประการต่างๆ แล้วก็แสดงพลังถวายพระศาสดา ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา พลางกราบทูลว่า [๒๗] ‘ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ [๒๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๒๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลาย เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๓๐] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก พระองค์ทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉันทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี ขอพระองค์ทรงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ @เชิงอรรถ : @ สุญญตธรรม ในที่นี้หมายถึงฌาน (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๓๒๓/๒๘๙, ๓๘๕/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน

[๓๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป มีกรุงชื่อว่าหงสวดี เป็นที่อยู่อาศัยแห่งตระกูล ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ [๓๓] มีแม่น้ำคงคาไหลผ่านที่หน้าประตูกรุงหงสวดีอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนไปไม่ได้เพราะแม่น้ำ [๓๔] น้ำเต็มตลิ่งอยู่ ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๑ สัปดาห์บ้าง ๑ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง ภิกษุเหล่านั้นจึงไปไม่ได้ [๓๕] ครั้งนั้น ชาวแว่นแคว้นผู้หนึ่งมีนามว่าชัชชิยะ มีทรัพย์เป็นสาระเพื่อประโยชน์แก่ตน เห็นภิกษุทั้งหลาย จึงได้สั่งให้นายช่างจัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นที่ฝั่งด้านหน้าเมือง [๓๖] ครั้งนั้น เขาได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำคงคา ด้วยทรัพย์หลายแสน และได้ให้สร้างวิหารถวายสงฆ์ที่ฝั่งด้านตรงกันข้าม [๓๗] ทั้งสตรี บุรุษ ตระกูลสูง และตระกูลต่ำเหล่านั้น ได้ร่วมกันสร้างสะพานและวิหารเท่าๆ กันกับนายชัชชิยะนั้น [๓๘] หม่อมฉันทั้งหลายและหมู่มนุษย์เหล่าอื่น ในนครและในชนบทล้วนมีจิตเลื่อมใส เป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น [๓๙] ทั้งสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงจำนวนมากด้วยกัน ต่างก็ช่วยกันเกลี่ยทรายลงที่สะพานและที่วิหาร [๔๐] กวาดถนน แล้วตั้งต้นกล้วย หม้อน้ำซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมและปักธงขึ้น จัดธูป จุรณและดอกไม้สักการะพระศาสดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน

[๔๑] หม่อมฉันทั้งหลายครั้นสร้างสะพานและวิหารเสร็จแล้ว ได้ทูลนิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ถวายมหาทาน แล้วปรารถนาสัมโพธิญาณ [๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นที่เคารพของสรรพสัตว์ ทรงทำอนุโมทนาแล้ว ตรัสพยากรณ์ว่า [๔๓] ‘เมื่อ ๑๐๐,๐๐๐ กัปล่วงไปแล้ว จักมีภัทรกัป บุรุษนี้ได้ความสุขในภพน้อยภพใหญ่แล้ว จักบรรลุพระโพธิญาณ [๔๔] บุรุษและสตรีที่ช่วยกันทำหัตถกรรมทั้งหมด จักมีพร้อมหน้ากันในอนาคตกาล’ [๔๕] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ชนเหล่านั้นเกิดในเทวโลกแล้ว จักเป็นคนรับใช้พระองค์ [๔๖] เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เสวยสุขเป็นทิพย์ และเป็นของมนุษย์นับไม่ถ้วน ตลอดกาลนาน [๔๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) กรรมสมบัติหม่อมฉันทั้งหลายก็ทำไว้ดีแล้ว ในหมู่มนุษย์สุขุมาลชาติ และในเทวโลกที่ประเสริฐ [๔๘] หม่อมฉันทั้งหลายย่อมได้รูปสมบัติ โภคสมบัติ ยศ ความสรรเสริญ และความสุขอันเป็นที่รัก ทั้งหมดเป็นกรรมสมบัติ ที่หม่อมฉันทั้งหลายกระทำไว้ดีแล้ว อย่างต่อเนื่อง [๔๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนิเวศน์ของเจ้าศากยบุตร เป็นผู้มีมือและเท้าละเอียดอ่อน [๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย ไม่เห็นแผ่นดินที่เขายังไม่ตกแต่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน

และไม่เห็นภาคพื้นที่เป็นทางเดินลื่นๆ แม้ตลอดกาลทั้งปวง [๕๑] เมื่อหม่อมฉันยังครองเรือนอยู่ ชนทั้งหลายก็นำสักการะทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกฤดูกาลมาให้ทุกเมื่อ เพราะผลแห่งบุพกรรมของหม่อมฉันทั้งหลาย [๕๒] หม่อมฉันทั้งหลายละการครองเรือนแล้ว บวชเป็นบรรพชิต ข้ามทางสังสารวัฏได้แล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๕๓] ทายกทายิกาหลายพันจากที่นั้นๆ นำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร มาถวายหม่อมฉันทั้งหลายตลอดเวลา [๕๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๕๕] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ภิกษุณีบุตรีพราหมณ์ ๘๔,๐๐๐ รูปได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทานที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๒๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๒๑-๕๒๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=183              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6232&Z=6318                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=172              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=172&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=172&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap32/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :