ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน

๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณิกาเถรี
(พระปุณณิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๘๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมุนี ผู้คงที่ ทรงพระนามว่าพระวิปัสสี ๑ พระสิขี ๑ พระเวสสภู ๑ พระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑ พระกัสสปะ ๑ [๑๘๕] หม่อมฉันบวชเป็นภิกษุณีในศาสนา ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญารักษาตน สำรวมอินทรีย์ [๑๘๖] เป็นพหูสูต ทรงธรรม สอบถามเหตุและผล เล่าเรียน สดับธรรม เป็นผู้นั่งใกล้ [๑๘๗] หม่อมฉันแสดงคำสอนของพระชินเจ้าในท่ามกลางหมู่ชน ได้เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ดูหมิ่นเพราะความเป็นพหูสูตนั้น [๑๘๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในเรือนแห่งนางกุมภทาสี ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐสุด [๑๘๙] หม่อมฉันไปตักน้ำ ได้เห็นโสตถิยพราหมณ์ นั่งหนาวสั่นอยู่ท่ามกลางน้ำ ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ฉันเป็นคนตักน้ำ [๑๙๐] กลัวภัยต่ออาชญาของเจ้านาย และถูกภัยคือวาจาที่เกรี้ยวกราดของเจ้านายเบียดเบียน จึงต้องลงน้ำเป็นประจำในฤดูหนาว [๑๙๑] พราหมณ์เอ๋ย ท่านกลัวใคร จึงต้องลงน้ำเป็นประจำ มีร่างกายสั่นเทา รู้สึกหนาวรุนแรงใช่ไหม’ [๑๙๒] (พราหมณ์ได้กล่าวว่า) ‘นางปุณณิกาผู้เจริญ เธอทั้งที่รู้อยู่ยังสอบถามเราผู้ทำกุศลกรรม เพื่อกำจัดบาปกรรมอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน

[๑๙๓] บุคคลใดเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม ทำบาปกรรมไว้ บุคคลนั้นๆ จะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ’ [๑๙๔] เมื่อพราหมณ์นั้นขึ้นจากน้ำมา หม่อมฉันได้บอกบทที่ประกอบด้วยเหตุและผล พราหมณ์ได้ฟังบทแห่งธรรมนั้นแล้ว มีความสลดใจ ออกบวชแล้วได้เป็นพระอรหันต์ [๑๙๕] เพราะหม่อมฉันเกิดในตระกูลทาสี ครบจำนวนทาสี ๑๐๐ คนพอดี เจ้านายจึงตั้งชื่อให้หม่อมฉันว่า ปุณณา และปลดหม่อมฉัน(จากทาส)ให้เป็นไท [๑๙๖] แต่นั้นหม่อมฉันอนุโมทนาเศรษฐีแล้ว บวชเป็นบรรพชิต โดยกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๑๙๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ [๑๙๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๑๙๙] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด [๒๐๐] หม่อมฉันมีปัญญามากเพราะการเจริญภาวนา มีสุตะมากเพราะการเรียนรู้ เกิดในตระกูลต่ำเพราะมีมานะจัด แต่กุศลกรรมมิได้วิบัติไปเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน

[๒๐๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๐๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๐๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระปุณณิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุณณิกาเถริยาปทานที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๔๕-๕๔๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=189              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6549&Z=6581                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=178              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=178&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=178&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap38/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :