ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๓. มังคลพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระมังคลพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงชูคบเพลิงคือพระธรรม กำจัดความมืดในโลก [๒] รัศมีของพระองค์ไม่มีที่เปรียบ ยิ่งกว่าพระชินเจ้าองค์อื่นๆ ข่มรัศมีของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ รุ่งโรจน์ไปทั่วหมื่นจักรวาล [๓] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ทรงประกาศอริยสัจ ๔ ที่ประเสริฐสุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

เทวดาและมนุษย์ต่างก็ได้ดื่มรสแห่งอริยสัจ แล้วย่อมบรรเทาความมืดมนเสียได้ [๔] เมื่อพระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณอันไม่มีที่เปรียบแล้ว ทรงแสดงธรรมครั้งแรก เหล่าสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๕] พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม ที่ภพของเทวดาผู้เป็นจอมเทพ ครั้งนั้น เทพประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ [๖] ในกาลเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุนันทะ เสด็จเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงลั่นธรรมเภรี(กลองคือธรรม) อันประเสริฐยอดเยี่ยม [๗] และครั้งนั้น บริวารของพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุนันทะ มีประมาณ ๙๐ โกฏิ ทั้งหมดนั้น ไม่เหลือเลย ได้บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา [๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง สาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ [๙] สาวกจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ สาวกจำนวน ๙๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ การประชุมครั้งนั้น ล้วนแต่พระสาวก ผู้พระขีณาสพปราศจากมลทินเท่านั้น [๑๐] สมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์มีนามว่าสุรุจิ เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

[๑๑] เราได้เข้าเฝ้าพระศาสดาพระองค์นั้น ได้ถึงพระองค์เป็นสรณะ และได้บูชาพระสงฆ์ ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยของหอมและดอกไม้ ครั้นแล้วได้อังคาสให้อิ่มหนำด้วยน้ำนมโค [๑๒] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละพระองค์นั้น ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป “พราหมณ์ชื่อสุรุจินี้ จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๓] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

[๑๕] ครั้งนั้น เราเพิ่มพูนปีติเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ จึงถวายเรือนของเราในพระพุทธเจ้าแล้ว บวชในสำนักของพระพุทธองค์ [๑๖] เราได้เล่าเรียนพระสูตรและพระวินัย อันเป็นนวังคสัตถุศาสน์ทั้งปวง แล้วช่วยประกาศศาสนาของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง [๑๗] เราเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในคำสั่งสอนนั้น เจริญพรหมวิหารภาวนา ถึงความสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้ไปเกิดยังพรหมโลก [๑๘] กรุงชื่อว่าอุตตระ กษัตริย์พระนามว่าอุตตระเป็นพระชนก พระเทวีนามว่าอุตตราเป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๙] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือยสวาปราสาท สุจิมาปราสาท และสิริมาปราสาท [๒๐] มีนางสนมกำนัล ๓๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่ายสวดี พระราชโอรสพระนามว่าสีวละ [๒๑] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือม้าออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๒] พระมหาวีระพระนามว่ามังคละทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรเสด็จจาริกไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๓. มังคลพุทธวงศ์

[๒๓] พระสุเทวเถระและพระธรรมเสนเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าปาลิตะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๔] พระสีลวาเถรีและพระอโสกาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นกากะทิง [๒๕] นันทอุบาสกและวิสาขอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก อนุฬาอุบาสิกาและสุมนาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๖] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย ของพระองค์นั้นไปไกลหลายแสนจักรวาล [๒๗] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๙๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๘] สาวกของพระองค์ใครๆ ไม่สามารถจะนับได้ เหมือนคลื่นในสมุทรสาครที่ใครๆ ไม่อาจนับได้ [๒๙] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงดำรงพระชนมายุอยู่เพียงใด ในศาสนาของพระองค์ไม่มีการตายอย่างคนมีกิเลสเพียงนั้น [๓๐] พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทรงชูคบเพลิงคือพระธรรม ทรงช่วยมหาชนให้ข้ามพ้น ทรงรุ่งเรืองเหมือนเปลวไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว [๓๑] ทรงแสดงอรรถแห่งสภาวะของสังขาร ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทรงรุ่งเรืองดังกองเพลิง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ดังดวงอาทิตย์อัสดง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๔. สุมนพุทธวงศ์

[๓๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระ พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง ๓๐ โยชน์ ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระนั้น” ฉะนี้แล
มังคลพุทธวงศ์ที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๐๑-๖๐๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=195              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7320&Z=7378                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=184              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=184&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=4620              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=184&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=4620                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :