ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒๗. ธาตุภาชนียกถา
ว่าด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
[๑] พระมหาโคดมชินเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่กรุงกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ [๒] พระบรมสารีริกธาตุทะนานหนึ่งเป็นของพระเจ้าอชาตศัตรู อีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงเวสาลี อีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ และอีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงอัลลกัปปะ [๓] ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงรามคาม ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงเวฏฐทีปกะ ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงปาวาของมัลลกษัตริย์ ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงกุสินารา [๔] โทณพราหมณ์ให้ช่างสร้างสถูปบรรจุทะนานทอง กษัตริย์กรุงโมริยะผู้มีหทัยยินดี รับสั่งให้สร้างพระสถูปบรรจุพระอังคาร [๕] พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง ตุมพเจดีย์เป็นแห่งที่ ๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา

และพระสถูปบรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐ ประดิษฐานอยู่แล้วในกาลนั้น [๖] พระบรมสารีริกธาตุ ๗ อย่าง คือพระอุณหิส ๑ พระทาฐธาตุทั้ง ๔ และพระรากขวัญ ๒ ข้าง ไม่แตก พระบรมสารีริกธาตุที่เหลือแตกออกจากกัน [๗] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่เท่ากับเมล็ดถั่วเขียว ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีสีต่างๆ กัน [๘] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่มีสีเหมือนทองคำ ขนาดกลางมีสีเหมือนแก้วมุกดา และขนาดเล็กมีสีเหมือนดอกมะลิ รวมทั้งหมดมีประมาณ ๑๖ ทะนาน [๙] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นทุกขนาด คือขนาดใหญ่มี ๕ ทะนาน ขนาดกลางมี ๕ ทะนาน ขนาดเล็กมี ๖ ทะนานเท่านั้น [๑๐] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ กัน คือพระอุณหิสอยู่ที่เกาะสีหล พระรากขวัญเบื้องซ้ายอยู่ที่พรหมโลก และพระรากขวัญเบื้องขวาอยู่ที่เกาะสีหล [๑๑] พระทาฐธาตุองค์หนึ่งอยู่ที่ภพดาวดึงส์ องค์หนึ่งอยู่ที่นาคปุระ องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองคันธารวิสัย องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองกาลิงคราช [๑๒] พระทันตธาตุทั้ง ๔๐ พระเกสาและพระโลมาทั้งหมด เทวดานำมาไว้ จักรวาลละหนึ่งอย่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา

[๑๓] บาตร ไม้เท้า และจีวรของพระผู้มีพระภาค อยู่ที่วชิรานคร สบงอยู่ที่กุลฆรนคร ผ้าปัจจัตถรณะอยู่ที่สีลนคร(กรุงกบิลพัสดุ์) [๑๔] ธมกรกและประคดเอวอยู่ที่กรุงปาตลีบุตร ผ้าอาบน้ำอยู่ที่กรุงจัมปา พระอุณณาโลมอยู่ที่แคว้นโกศล [๑๕] ผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ที่พรหมโลก ผ้าโพกอยู่ที่ดาวดึงส์ รอยพระบาทอันประเสริฐอยู่ที่หินเหมือนมีอยู่ที่กัจฉตบุรี ผ้านิสีทนะอยู่ที่อวันตีชนบท ผ้าลาดอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๖] ไม้สีไฟอยู่ที่กรุงมิถิลา ผ้ากรองน้ำอยู่ที่วิเทหรัฐ มีดและกล่องเข็มอยู่ที่กรุงอินทปัตถ์ ในกาลนั้น [๑๗] บริขารที่เหลืออยู่ที่อปรันตชนบท หมู่มนุษย์ในกาลนั้นจักบูชาบริขารที่พระมุนีทรงใช้สอย [๑๘] พระบรมสารีริกธาตุของพระโคดม ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กระจายแผ่กว้างขวางไป เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย เป็นของเก่าในกาลนั้น ฉะนี้แล
ธาตุภาชนียกถาที่ ๒๗ จบ
พุทธวงศ์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๒๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๗๒๔-๗๒๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=219              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=8607&Z=8636                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=208              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=208&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=208&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :