ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๗. ปัพพัชชากถา
ว่าด้วยการบรรพชา
เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] สมัยนั้น ในกรุงพาราณสี มีกุลบุตรชื่อยสะเป็นลูกเศรษฐีเป็น ผู้สุขุมาลชาติ๑- ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน ยสกุลบุตรได้รับการบำเรอด้วย ดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ตลอด ๔ เดือน อยู่บนปราสาทฤดูฝน ไม่ลงมายังปราสาท ชั้นล่าง คืนวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรได้รับการบำเรออิ่มเอมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้หลับไปก่อน ฝ่ายบริวารชนได้หลับภายหลัง ตะเกียงน้ำมันถูกจุดสว่างทั้งคืน คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน เห็นบริวารชนของตนกำลังหลับ บางนางมีพิณอยู่ใกล้ รักแร้ บางนางมีตะโพนอยู่ข้างคอ บางนางมีโปงมางอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อไปต่างๆ ปรากฏดุจป่าช้าผีดิบ เพราะได้เห็น โทษจึงปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย ยสกุลบุตรจึงเปล่งอุทาน ขึ้นในขณะนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ” @เชิงอรรถ : @ สุขุมาลชาติ หมายถึงผู้ไม่มีทุกข์ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๙/๑๙๘, องฺ.ติก.อ. ๒/๓๙/๑๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

ครั้งนั้น ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์ เปิดประตูให้ด้วยคิดว่า “ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตของยสกุลบุตร” ลำดับนั้น ยสกุลบุตรได้เดินต่อไปยังประตูเมือง พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้ ด้วยคิดว่า “ใครๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของ ยสกุลบุตร” หลังจากนั้น ยสกุลบุตรจึงเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน [๒๖] ครั้นราตรีย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้ ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรได้เปล่งอุทานขึ้น ณ ที่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นดังนี้ว่า “ยสะ ที่นี่๑- ไม่วุ่นวาย ที่นี่ ไม่ขัดข้อง มาเถิด ยสะ จงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ” ลำดับนั้น ยสกุลบุตรร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” จึงถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา (เรื่องทาน) ๒. สีลกถา (เรื่องศีล) ๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์) ๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒- ๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่ยสกุลบุตร ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร @เชิงอรรถ : @ ที่นี่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระนิพพาน (วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖/๑๒๐) @ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๑- ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
บิดาตามหายสกุลบุตร
[๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า ยสะบุตรของท่านหายไปไหน” ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้” เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร @เชิงอรรถ : @ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง @ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง @ก่อนใครในโลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา อภินว. ๒/๒๙๘/๓๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ ย้อมได้เป็นอย่างดี เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ) เป็นคนแรก ในโลก
ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[๒๘] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของ ยสกุลบุตรอยู่ จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุด พ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขาร” ทรงคลายอิทธาภิสังขารแล้ว เศรษฐีคหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงกล่าวกับยสกุลบุตรว่า “พ่อยสะ มารดาของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด” ยสกุลบุตรได้เงยหน้าดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะเข้าใจข้อนั้นอย่างไร ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ อันเป็นเสขะ๑- ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตาม ที่ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี ยสกุลบุตรควรหรือที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน” เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า “คหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเขาพิจารณาภูมิธรรมตามที่ ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน” เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ การที่จิตของยสกุลบุตรหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะโปรดทรงรับภัตตาหาร ของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด” @เชิงอรรถ : @ ญาณอันเป็นเสขะ หมายถึงญาณของบุคคลระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี @(ดู องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๓๖/๗๙, องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๖/๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เศรษฐีคหบดีทราบการที่พระผู้มี พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทกระทำประทักษิณกลับไป เมื่อเศรษฐีคหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอัน เรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านยสะนั้น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน พระยสะเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มารดาและภรรยาเก่า เมื่อทรงทราบว่าทั้งสองมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่มารดาและ ภรรยาเก่า ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว ถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่ สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

ครั้งนั้น ท่านพระยสะได้พาสหายคฤหัสถ์ ๔ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๔ คนเหล่านี้ คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ขอพระองค์โปรดประทาน โอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้เถิด” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง นั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้อง เชื่อผู้อื่นในคำของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ รูป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๗. ปัพพัชชากถา

เรื่องการบรรพชาของสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
[๓๑] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะจำนวน ๕๐ คน เป็นชาวชนบท เป็น บุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่ม ผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าว แล้วจึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหาท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้น ถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ครั้งนั้น ท่านพระยสะจึงพาสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธ เจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๕๐ คนเหล่านี้ เป็นชาวชนบท เป็นบุตร ของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อย ขอพระองค์โปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้า พระองค์เหล่านี้เถิด” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๘. มารกถา

ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป
บรรพชากถา จบ
๘. มารกถา
ว่าด้วยมาร
เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนา
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วง๑- ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม” @เชิงอรรถ : @ บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. ๓/๓๒/๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๘. มารกถา

เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า “ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์๑- คล้องไว้แล้ว ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว” มารกราบทูลว่า “บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่ เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”๒- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”๓- ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้ จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ
@เชิงอรรถ : @ บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๓/๒๔๔) @๒-๓ สํ.ส. ๑๕/๑๕๑/๑๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๑-๔๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=13              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=576&Z=777                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=25              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=25&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=396              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=25&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=396                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic7 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:7.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.7.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :