ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉะ๑-
เรื่องพระปิลินทวัจฉะจะทำความสะอาดเงื้อมเขา
และพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
[๒๗๐] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะประสงค์จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลาย ทำความสะอาดเงื้อมเขาในกรุงราชคฤห์ @เชิงอรรถ : @ วิ.มหา. (แปล) ๒/๖๑๘-๖๑๙/๑๓๙-๑๔๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าให้ภิกษุทั้งหลายทำอะไร” ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพประสงค์ จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความสะอาดเงื้อมเขา” พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ต้องการคนวัด บ้างไหม” ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคไม่ทรง อนุญาตให้มีคนวัด” พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าพึงทูลถามพระผู้มีพระภาค แล้วบอกโยมด้วย” ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระดำรัสแล้ว ชี้แจงให้ท้าวเธอเห็นชัด ชวนให้ อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถา ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ซึ่งท่านพระปิลินทวัจฉะชี้แจงให้ เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงอภิวาทพระเถระ ทำประทักษิณ แล้วเสด็จกลับไป ต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งทูตไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคให้กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะถวายคนวัด ข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
ทรงอนุญาตคนงานวัด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนวัด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ

แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระ ปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต คนวัดแล้วหรือ” ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลว่า “ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว” พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้า” ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงรับที่จะถวายคนวัดแก่ท่าน พระปิลินทวัจฉะแล้ว แต่ทรงลืม เมื่อเวลาผ่านไปนาน ทรงระลึกได้ จึงตรัสถาม มหาอมาตย์ผู้สนองราชกิจคนหนึ่งว่า “เราถวายคนวัดที่ให้สัญญาไว้แก่พระคุณเจ้า แล้วหรือ” มหาอมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ ยังไม่ได้ถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้าเลย” พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ผ่านมากี่วันแล้ว” มหาอมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ผ่านมา ๕๐๐ ราตรี” ท้าวเธอรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงถวายคนวัด ๕๐๐ คน แก่พระคุณเจ้า” มหาอมาตย์กราบทูลรับสนองพระราชโองการแล้ว จัดคนวัดไปถวายท่านพระ ปิลินทวัจฉะ จำนวน ๕๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาต่างหาก มีชื่อเรียกว่า อารามิกคาม บ้าง ปิลินทวัจฉคามบ้าง [๒๗๑] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นพระประจำตระกูลในหมู่บ้านนั้น เช้าวันหนึ่ง ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ในหมู่บ้านปิลันทวัจฉคาม ครั้งนั้น ในหมู่บ้านนั้นกำลังมีมหรสพ พวกเด็กๆ แต่งกายประดับ ดอกไม้เล่นอยู่ พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับ ในหมู่บ้านปิลินทวัจฉคาม มาถึงเรือนของคนวัดคนหนึ่งแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัด ถวาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ

ขณะนั้น ธิดาของสตรีคนวัดเห็นพวกเด็กคนอื่นแต่งกายประดับดอกไม้ จึงร้อง ไห้ขอว่า “พ่อแม่ โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่องประดับแก่หนู” พระเถระถามสตรีนั้นว่า “เด็กคนนี้อยากได้อะไร” นางตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เด็กคนนี้เห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้ จึงร้องไห้ขอพวงดอกไม้และเครื่องประดับว่า “พ่อแม่โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่อง ประดับแก่หนู” เราคนจนจะได้ดอกไม้และเครื่องประดับจากไหนกัน” ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบเสวียนหญ้า๑- อันหนึ่งส่งให้พลางกล่าวว่า “ท่านจง สวมเสวียนหญ้าอันนี้ที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น” หญิงคนวัดหยิบเสวียนหญ้าสวมที่ศีรษะเด็กหญิง เสวียนหญ้ากลายเป็นพวง ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี พวกชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า “ขอเดชะ ที่เรือนคนวัดโน้นมีพวง ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้”
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จองจำตระกูลคนวัดนั้น
ต่อมาเช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร ไปบิณฑบาตที่ปิลินทวัจฉคามอีก เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับในหมู่บ้าน ปิลินทวัจฉคาม เดินผ่านไปทางที่อยู่คนวัดคนนั้นถามคนคุ้นเคยว่า “ครอบครัวคนวัด นี้ไปไหน” ชาวบ้านตอบว่า “ครอบครัวนี้ถูกจองจำเพราะเรื่องพวงดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า” ต่อจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย @เชิงอรรถ : @ เสวียนหญ้า คือของเป็นวงกลมสำหรับรอบก้นหม้อ ทำด้วยหญ้าหรือหวายเป็นต้น ของที่ทำเป็น @วงกลมสำหรับรองหรือรับสิ่งต่างๆ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาพระเถระจนถึง อาสนะ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐว่า “ขอถวายพระพร ครอบครัวคนวัดถูกจองจำเพราะเรื่องอะไร” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ที่เรือนเขามีพวงดอกไม้ทองคำ งดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะ ได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้” ทีนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานให้ปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ ปราสาทกลายเป็นทองคำไปทั้งหลัง แล้วท่านก็ถวายพระพรว่า “ทองคำมากมาย มหาบพิตรได้มาจากไหน” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “โยมทราบแล้ว นี่เป็นฤทธานุภาพ ของพระคุณเจ้า” แล้วรับสั่งให้ปล่อยครอบครัวนั้น พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า “พระคุณเจ้าปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน เป็นอุตตริมนุสสธรรมในท่ามกลางราชบริษัท” พากันพอใจเลื่อมใสนำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย ตามปกติท่านพระปิลินทวัจฉะ ก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชให้บริษัทของท่าน แต่บริษัทของท่านมักมาก บรรจุเภสัชที่ได้มาแล้วไว้ในตุ่มบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็มแล้วเก็บไว้ บรรจุลงใน หม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แล้วแขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นซึมไหลเยิ้ม จึงมีสัตว์จำพวกหนูชุกชุมทั่ววิหาร พวกชาวบ้านเที่ยวไปตามวิหารพบเข้าจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา ว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีเรือนคลังเก็บของเหมือนพระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ” ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงคิดเพื่อความ มักมากเช่นนี้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้ว จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา

เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุคิดเพื่อความมักมาก อย่างนั้นจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับประเคนเภสัชที่ควรสำหรับภิกษุไข้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน เป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนด นั้นไปพึงปรับอาบัติตามธรรม”
เภสัชชานุญญาตภาณวาร ที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๓-๖๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=1044&Z=1143                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=45              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=45&items=3              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=45&items=3                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:15.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.15.1



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :