ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๒๗๓. พาลกโลณกคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปพาลกโลณกคาม
เรื่องท่านพระภคุอยู่ ณ พาลกโลณกคาม
[๔๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์นั่นแหละ ตรัสพระ คาถาเหล่านี้แล้วเสด็จไปทางพาลกโลณกคาม @เชิงอรรถ : @ สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ด้วยนิโรธสมาบัติ (ขุ.จู. ๓๐/๑๓๒/๒๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๕๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา

สมัยนั้น ท่านพระภคุพักอยู่ที่พาลกโลณกคาม ท่านพระภคุได้เห็นพระผู้มี พระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกลจึงได้จัดที่ประทับ ตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท ไปต้อนรับเสด็จแล้วรับบาตรและจีวร พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูไว้แล้วทรงล้างพระบาท ฝ่ายท่าน พระภคุถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระภคุผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ” ท่านพระภคุกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า และข้าพระองค์บิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระภคุเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุก จากอาสนะ เสด็จไปทางปาจีนวังสทายวัน
๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปปาจีนวังสทายวัน
เรื่องท่านพระอนุรุทธะท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละ
[๔๖๖] สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พักอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน คนเฝ้าสวนได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ท่านอย่าเข้ามาสู่สวนนี้ เพราะในที่นี้มีกุลบุตร ๓ คนต่างกำลังมุ่งประโยชน์ของตนอยู่ อย่าได้ทำความไม่สงบแก่พวกท่านเลย” ท่านพระอนุรุทธะได้ยินเสียงคนเฝ้าสวนทูลปรึกษากับพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าว กับคนเฝ้าสวนดังนี้ว่า “นี่แน่คนเฝ้าสวน ท่านอย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๕๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา

เป็นพระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว” แล้วเข้าไปหาท่านพระนันทิยะและ ท่านพระกิมพิละ บอกว่า “พวกท่านจงรีบออกไป พระบรมศาสดาของพวกเรา เสด็จ มาถึงแล้ว” ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละพากัน ไปต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่ง ปูอาสนะ รูปหนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้วให้ล้างพระบาท ท่านเหล่านั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านพระอนุรุทธะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรว่า “อนุรุทธะ พวกเธอยังสบายดีหรือ ยัง พอเป็นอยู่ได้หรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ” พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยัง พอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า” “อนุรุทธะ นันทิยะและกิมพิละ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน อยู่หรือ” “พวกข้าพระองค์ยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบานอยู่ พระพุทธเจ้าข้า” “อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมพิละ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน อยู่ด้วยวิธีใด” ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์มี ความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อน พรหมจารีเช่นนี้’ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งเมตตากายกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรมทั้งต่อหน้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๕๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา

และลับหลังในท่านเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอเราพึงวาง จิตตนไปตามอำนาจจิตของท่านทั้งสองนี้เท่านั้น’ แล้ววางจิตตนให้เป็นไปตามอำนาจ จิตของท่านเหล่านี้แล กายของพวกข้าพระพุทธเจ้าต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือน ดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า” ฝ่ายท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งเมตตากายกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรมทั้งต่อหน้า และลับหลังในท่านเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอเราพึงวาง จิตตนไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้เท่านั้น’ แล้ววางจิตตนให้เป็นไปตามอำนาจ จิตของท่านเหล่านี้แล กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือน ดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่หรือ” พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ เพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดียวอยู่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ด้วยวิธีใดเล่า” พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ในเรื่องนี้ บรรดาพวกข้าพระองค์ ผู้ที่กลับจากบิณฑบาตมาถึงก่อนก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง เช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้ ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๕๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา

ผู้กลับจากบิณฑบาตภายหลัง ถ้ามีอาหารที่เป็นเดน ถ้าต้องการก็ฉันได้ ถ้า ไม่ต้องการก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ เธอเก็บ อาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้ เก็บน้ำดื่ม น้ำใช้กวาดโรงฉัน ผู้ใดเห็นหม้อน้ำดื่ม หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจกุฎีว่างเปล่าก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้าเธอไม่อาจทำได้ พวกข้าพระองค์ก็กวักมือเรียกเพื่อนมาแล้วช่วยกันตักยกเข้าไป ตั้งไว้ แต่ไม่ได้บ่นว่าเพราะเรื่องนั้นเลย และทุกๆ ๕ วันพวกข้าพระองค์จะนั่งประชุม สนทนาธรรมตลอดคืนยันรุ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ด้วยวิธีนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปป่าปาริไลยกะ
เรื่องพญาช้างปาริไลยกะ
[๔๖๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระ นันทิยะ และท่านพระกิมพิละเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เสด็จจาริกไปทางป่าปาริไลยกะ เสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงป่าปาริไลยกะแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาริไลยกะนั้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความคิดคำนึงใน พระทัยอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราคลุกคลีกับพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีที่ก่อความบาด หมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ อยู่ไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา

ผาสุกเลย เวลานี้เราว่างเว้นจากพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีเหล่านั้น ที่ก่อความบาด หมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ อยู่ผู้ เดียวไม่มีเพื่อน อยู่ผาสุกดี” แม้พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่พญาช้างนั้นหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้น ก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดิน เสียดสีกายไป ต่อมา พญาช้างนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราอยู่ปะปนกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมา กองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป อย่ากระนั้นเลย เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่แต่ผู้เดียว” แล้วได้หลีกออกจากโขลงเดินไปทางเขตป่าปาริไลยกะ ราวป่ารักขิตะ ควงไม้รัง เข้า ไปหาพระผู้มีพระภาคแล้วใช้งวงตักน้ำดื่มน้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค และ ปรับพื้นที่ให้ปราศจากของเขียวสด ครั้งนั้น พญาช้างนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่อก่อนเราอยู่ปะปนกับพวก ช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เรา หักลงมากองไว้ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจาก ท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป เวลานี้เราว่างเว้นจากช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้าง ใหญ่ และลูกช้างเล็กอยู่แต่ผู้เดียวไม่มีเพื่อน อยู่ผาสุกดี” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดของพระองค์ และทรงทราบ ความคิดคำนึงในใจของพญาช้างนั้นด้วยพระทัย จึงทรงเปล่งพระอุทานในขณะนั้นว่า “จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น เสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน”๑- @เชิงอรรถ : @ ขุ.อุ. ๒๕/๓๕/๑๕๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๖๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา

ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าปาริไลยกะตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จจาริก ไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปตามลำดับ ลุถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตกรุงสาวัตถีนั้น ครั้งนั้น พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีปรึกษากันว่า “พวกภิกษุชาว กรุงโกสัมพีเหล่านี้ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกภิกษุพวกนี้ รบกวนจึงเสด็จหลีกไป เอาละ พวกเราจะไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชาภิกษุชาวเมือง โกสัมพีพวกนี้ แม้พวกเธอเข้ามาบิณฑบาตก็จะไม่ถวายก้อนข้าว ท่านพวกนี้ เมื่อ ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ อย่างนี้ก็จะพากันหลีกไป สึกไปหรือจะให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด” ครั้งนั้น อุบาสกและอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลี กรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชาพวกภิกษุ ชาวกรุงโกสัมพี แม้พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีเข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายก้อนข้าว ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ พูดกันอย่างนี้ว่า “ท่าน ทั้งหลาย เอาเถิด พวกเราพึงเดินทางไปกรุงสาวัตถีแล้วระงับอธิกรณ์นี้ใน สำนักของ พระผู้มีพระภาค” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๖๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๓๕๕-๓๖๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=62              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=6393&Z=6504                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=248              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=248&items=4              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=248&items=4                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/brahmali#pli-tv-kd10:4.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/horner-brahmali#BD.4.450



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :