ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๙
เรื่องพระฉันนะ
[๓๙๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนคร โกสัมพี. ครั้งนั้น มหาอำมาตย์อุปัฏฐากของท่านพระฉันนะสร้างวิหารถวายท่านพระฉันนะ. แต่ ท่านพระฉันนะสั่งให้มุงให้โบกฉาบวิหารที่ทำสำเร็จแล้วบ่อยครั้ง. วิหารหนักเกินไป ได้ทะลาย ลงมา. จึงท่านพระฉันนะมัวสาละวนเก็บรวบรวมหญ้าและไม้ ได้ทำนาข้าวเหนียวของพราหมณ์ คนหนึ่งให้เสียหาย. พราหมณ์นั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงได้ ทำนาข้าวเหนียวของข้าพเจ้าให้เสียหาย? ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพน- *ทะนาอยู่ บรรดาผู้ที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระฉันนะจึงได้ให้มุง ให้โบกฉาบวิหารที่สำเร็จแล้วบ่อยครั้งเล่า? วิหารหนักเกินไป ได้ทะลายลงมา. แล้วกราบทูลเนื้อ ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค-.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรฉันนะ ข่าวว่าเธอให้มุงให้โบกฉาบ วิหารที่สำเร็จแล้วบ่อยครั้ง วิหารหนักเกินไปได้ทะลายลงมา จริงหรือ? ท่านพระฉันนะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงได้ให้มุงให้โบกฉาบ วิหารที่ทำเสร็จแล้วบ่อยครั้งเล่า? วิหารหนักเกินไปก็ทะลายลง การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็น ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใส แล้ว-. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๖๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำซึ่งวิหารใหญ่ จะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบ แห่งประตู จะบริกรรมช่องหน้าต่าง พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้ พอกได้ ๒-๓ ชั้น ถ้าเธออำนวยยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ก็เป็น ปาจิตตีย์.
เรื่องพระฉันนะ จบ.
-----------------------------------------------------
สิกขาบทวิภังค์
[๓๙๘] วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ ท่านว่ามีเจ้าของ. ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ตึกที่เขาโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ที่เขาโบกฉาบปูนไว้ เฉพาะภายนอกก็ตาม หรือที่เขาโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในทั้งภายนอกก็ตาม. บทว่า ผู้ให้ทำ คือ สร้างเองก็ดี ให้ผู้อื่นสร้างก็ดี. บทว่า เพียงไรแต่กรอบแห่งประตู คือ ชั่วหัตถบาสโดยรอบแห่งบานประตู. บทว่า จะวางเช็ดหน้า คือ จะวางประตู. บทว่า จะบริกรรมช่องหน้าต่าง คือ จะบริกรรมหน้าต่างให้มีสีเขียว สีดำ สียางไม้ ลายดอกไม้ เถาวัลย์ ฟันมังกร ดอกจอก. คำว่า พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอกได้ ๒-๓ ชั้น ความว่า ที่ชื่อว่า ของสดเขียว ได้แก่ บุพพัณณชาติ อปรัณณชาติ. ถ้าภิกษุยืนสั่งการอยู่ในที่มีของสดเขียว ต้องอาบัติทุกกฏ. ให้มุงตามทางแถว พึงมุงเอง ๒ แถวๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้วพึงหลีกไป. ให้มุงเป็นชั้น พึงมุงเอง ๒ ชั้นๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้วพึงหลีกไป. [๓๙๙] คำว่า ถ้าเธออำนวยให้ยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ความว่า มุงด้วยอิฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ แผ่นอิฐ. มุงด้วยแผ่นศิลา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ แผ่นศิลา. โบกฉาบด้วยปูนขาว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ก้อนปูนขาว. มุงด้วยหญ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ กำหญ้า. มุงด้วยใบไม้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ใบไม้.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๔๐๐] เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน ... ต้องอาบัติทุกกฏ. หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ. หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๔๐๑] ภิกษุมุง ๒-๓ ชั้น ๑ ภิกษุมุงหย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ๑ ภิกษุสร้างถ้ำ ๑ คูหา ๑ กุฎีมุงหญ้า ๑ ภิกษุสร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๑ ภิกษุสร้างด้วยทรัพย์ของตน ๑ ยกอาคาร อันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างทุกอย่างไม่ต้องอาบัติ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๙๑๔๖-๙๒๐๙ หน้าที่ ๓๗๖-๓๗๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=9146&Z=9209&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=9146&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=55              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=397              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=4655              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7312              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=4655              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7312              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc19/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]