บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ [๕๙๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระ บวชใหม่และมีบุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชนิดเลว และอาหารอย่างเลว ย่อม ตกถึงแก่เธอทั้งสอง ครั้งนั้น ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดีๆ บ้าง ซึ่งจัดปรุงเฉพาะพระเถระ ส่วนพระเมตติยะและ พระภุมมชกะ เขาถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ มีชนิดปลายข้าวมี น้ำส้มเป็นกับ เวลาหลังอาหารเธอทั้งสองกลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวถามพวก พระเถระว่า ในโรงฉันของพวกท่านมีอาหารอะไรบ้าง ขอรับ ในโรงฉันของพวก ท่านไม่มีอะไรบ้าง ขอรับ พระเถระบางพวกบอกอย่างนี้ว่า พวกเรามีเนยใส น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดอย่างนี้ว่า พวก ผมไม่มีอะไรเลย ขอรับ มีแต่อาหารอย่างธรรมดาตามที่จะหาได้ เป็นชนิด ปลายข้าวมีน้ำส้มเป็นกับ ฯ [๕๙๕] สมัยต่อมา คหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดี ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่แก่สงฆ์เป็นนิตยภัต เขาพร้อมด้วยบุตรภรรยา อังคาสอยู่ใกล้ๆ ในโรงฉัน คนอื่นๆ ย่อมถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ [๕๙๖] คราวนั้น ภัตตุเทสก์ได้แสดงภัตตาหารของคหบดี ผู้ชอบถวาย อาหารที่ดี แก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ขณะนั้น ท่าน คหบดีไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง เข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร นมัสการ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระทัพพมัลลบุตรแสดงธรรมีกถาให้ท่าน คหบดีผู้นั่งแล้ว ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ครั้นแล้วคหบดีเรียน ถามว่า พระคุณเจ้าแสดงภัตตาหารเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของกระผมแก่ใคร ขอรับ ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า อาตมาแสดงให้แก่พระเมตติยะกับพระ ภุมมชกะแล้ว ขณะนั้น คหบดีมีความเสียใจว่า ไฉนภิกษุลามกจักฉันภัตตาหาร ในเรือนเราเล่า แล้วไปเรือนสั่งหญิงคนรับใช้ไว้ว่า แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะ ไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ด้วยปลายข้าว มี น้ำผักดองเป็นกับ หญิงคนใช้รับคำของคหบดีแล้ว ครั้งนั้นพระเมตติยะและพระ ภุมมชกะกล่าวแก่กันว่า คุณ เมื่อวานนี้ท่านภัตตุทเทสก์แสดงภัตตาหารของคหบดี ให้พวกเรา พรุ่งนี้คหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาจักอังคาสพวกเราอยู่ใกล้ๆ คน อื่นๆ จักถามด้วย ข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ เพราะความ ดีใจนั้นแล ตกกลางคืนภิกษุ ๒ รูปนั้นนอนหลับไม่เต็มตื่น ครั้นเวลาเช้า พระ เมตติยะและพระภุมมชกะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตร จีวรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านคหบดี หญิงคนรับใช้นั้นได้แลเห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะกำลัง เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงปูอาสนะถวายที่ซุ้มประตู แล้วกล่าวว่า นิมนต์นั่ง เจ้าค่ะ จึงพระเมตติยะและพระภุมมชกะนึกว่า ภัตตาหารคงจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตูก่อน ขณะนั้น หญิงคนรับใช้ ได้นำอาหารปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวาย พลางกล่าวว่า นิมนต์ฉันเถิดเจ้าค่ะ ภิ. น้องหญิง พวกฉันเป็นพระรับนิตยภัต จ้ะ ญ. ดิฉันทราบว่าพระคุณเจ้าเป็นพระรับนิตยภัต เจ้าค่ะ แต่เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีได้สั่งดิฉันไว้ว่า แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาส ภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ด้วยปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ นิมนต์ฉัน เถิด เจ้าค่ะ พระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดกันว่า คุณ เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดี ไปสู่อารามที่สำนักพระทัพพมัลลบุตร พวกเราคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงใน สำนักคหบดีเป็นแน่ เพราะความเสียใจนั้นแล ภิกษุทั้งสองรูปนั้นฉันไม่อิ่ม ครั้น เวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตไปสู่อาราม เก็บบาตร จีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วย ผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา ฯภิกษุณีเมตติยาไปเยี่ยม คราวนั้น ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว ได้กล่าวว่า ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ เมื่อนางกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม นางก็ได้กล่าวว่าดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูป ก็มิได้ทักทายปราศรัย ภิกษุณีเมตติยาถามว่า ดิฉันผิดต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไมพระคุณเจ้า จึงไม่ทักทายปราศรัยกับดิฉัน ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูกพระ ทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ เธอยังเพิกเฉยได้ เม. ดิฉันจะช่วยเหลืออย่างไร เจ้าค่ะ ภิ. น้องหญิง ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพ- *มัลลบุตรสึก เม. ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันสามารถจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีไหน ภิ. มาเถิดน้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้ กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า นางรับคำของภิกษุทั้งสอง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่ แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้ กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉัน ถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า ฯประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม [๕๙๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะ เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลล- *บุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็น อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาค ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกร ทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหา ท่านพระ ทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จง บอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ ท. พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝันก็ ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุ นั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้ ครั้น แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ภิกษุณี เมตติยาสึกแล้ว จึงพระเมตติยะและพระภุมมชกะได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลาย ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านอย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสียเลย นางไม่ผิดอะไร พวกผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อน จากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้ ภิกษุทั้งหลายถามว่า ก็พวกคุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติ อันหามูลมิได้หรือ ภิกษุทั้งสองนั้นรับว่า อย่างนั้น ขอรับ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันหา มูลมิได้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะโจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้าทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงให้สติวินัยแก่ ทัพพมัลลบุตรผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้อย่างนี้ ทัพพมัลลบุตรนั้น พึงเข้า ไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระหย่งประคอง อัญชลี แล้วกล่าวคำขอ ว่าดังนี้:-คำขอสติวินัย ท่านเจ้าข้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทข้าพเจ้าด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล ข้าพเจ้านั้นถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่สอง ... พึงขอแม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจท ข้าพเจ้าด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ข้าพเจ้านั้นถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติ วินัยกะสงฆ์ แม้ครั้งที่สาม ฯ [๕๙๘] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติ จตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจาให้สติวินัย ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุ ภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ท่าน พระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สติวินัย แก่ท่านพระ ทัพพมัลลบุตรผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะ นี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ท่านพระทัพพ- *มัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์ สงฆ์ให้ สติวินัยแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว การ ให้สติวินัยแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้ นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จง ฟังข้าพเจ้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลล- *บุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความ ไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์ สงฆ์ให้สติวินัยแก่ท่านพระ ทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว การให้สติวินัยแก่ท่าน พระทัพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด สติวินัย อันสงฆ์ให้แล้วแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความ ไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯการให้สติวินัยที่เป็นธรรมมี ๕ อย่าง [๕๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การให้สติวินัยที่เป็นธรรมมี ๕ อย่างนี้ คือ ภิกษุเป็นผู้หมดจด ไม่ต้องอาบัติ ๑ ผู้อื่นโจทเธอ ๑ เธอขอ ๑ สงฆ์ให้สติวินัย แก่เธอ ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมให้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การให้สติวินัย ที่เป็นธรรมมี ๕ อย่างนี้แล ฯเนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ บรรทัดที่ ๘๐๑๘-๘๑๖๓ หน้าที่ ๓๔๐-๓๔๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=6&A=8018&Z=8163&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=6&A=8018&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=6&siri=48 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=6&i=-594 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=6&A=6266 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=6&A=6266 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_6 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd14/en/brahmali#pli-tv-kd14:4.5.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd14/en/horner-brahmali#Kd.14.4.5
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]