พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


461 เหตุที่ความจำแจ่มแจ้งดี

ปัญหา พราหมณ์ ชื่อ สคารวะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า เพราะเหตุไรมนต์ที่สาธยายไว้นานแล้ว บางคราวจึงแจ่มแจ้งดี แต่บางคราวก็ไม่แจ่มแจ้ง มนต์ที่ไม่ได้สาธยายเป็นเวลานานบางคราวแจ่มแจ้งดี บางคราวก็ไม่แจ่มแจ้ง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ สมัยใดแลบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ไม่เห็นในอุบายเป็นเครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริงสมัยนั้น เขาไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ ตนตามความเป็นจริง ซึ่งประโยชน์ผู้อื่นตามความเป็นจริง ซึ่งประโยชน์ทั้งสองตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้นไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง
“ดูก่อนพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใดแลบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท.... ไม่รู้ ไม่เห็นในอุบายเป็นเครื่องสลัดซึ่งพยาบาท.... ตามความเป็นจริง สมัยนั้นเขาไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง ตามความเป็นจริง เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งร้อนเพราะไฟ เดือดพล่าน... บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้นไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงได้....
“.....สมัยใดแลบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ.... ย่อมไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดถีนมิทธะ..... ด้วยความเป็นจริง สมัยนั้นเขาไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง๒ ตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตน ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง....
“.....สมัยใดแลบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจะกุกกุจจะ .... ย่อมไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจะกุกกุจจะ..... ตามความเป็นจริง สมัยนั้นเขาไม่รู้ประโยชน์ทั้งสอง ตามความเป็นจริง เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ถูกลมพัดมองดูเงาหน้าของตน ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง....
“.....สมัยใดแลบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา.... สมัยนั้นเขาไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง ตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตมที่เขาวางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำ... ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง....”


เสคารวสูตร มหา. สํ. (๖๐๒-๖๑๒)
ตบ. ๑๙ : ๑๖๗-๑๗๐ ตท. ๑๙ : ๑๖๔-๑๖๖
ตอ. K.S. ๕ : ๑๐๒-๑๐๔

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :