พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


561 วิธีการลงโทษโจรในสมัยพุทธกาล

ปัญหา การลงโทษโจรในสมัยพุทธกาล มีวิธีการอย่างไรบ้าง?

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๒ อย่างนี้โทษ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โทษที่เป็นไปในปัจจุบัน ๑ โทษ
ที่เป็นไปในภพหน้า?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทษที่เป็นไปในปัจจุบันเป็นไฉน บุคคลบางคน
ในโลกนี้ เห็นโจรผู้ประพฤติความชั่ว พระราชาจับได้แล้ว รับสั่งให้ลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ คือให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง เฆี่ยนด้วยเชือกบ้าง ทุบด้วยตะบองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
ลงโทษแบบทำให้เป็นหม้อน้ำส้ม (เปิดกระหม่อมแล้วหย่อนก้อนเหล็กแดงลงไปจนมันสมองเดือดพล่าน)
ลงโทษแบบทำให้เป็นปากราหู (ง้างปากขึ้น เอาประทีปน้ำมันใส่เข้าไปแล้วจุดไฟ)
ลงโทษแบบทำให้เป็นพวงมาลัยไฟ (ทาตัวด้วยน้ำมันแล้วจุดไฟ) ลงโทษแบบทำมือให้เป็นเปลวเพลิง (พันมือด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟ)
ลงโทษแบบทำให้เป็นเกลียวหนังเนื้อทราย (ถลกหนัง ๒ ริ้ว จากคอลงไปถึงข้อเท้า แล้วผูกติดกัน ยกขึ้นแขวน)
ลงโทษแบบให้นุ่งผ้าขี้ริ้วหนัง (ถลกหนังทั่วตัวออกเป็นริ้ว ๆ แล้วผูกติดกัน ทำคล้ายๆ เสื้อผ้า)
ลงโทษแบบทำให้เป็นเลียงผา (มัดดีแล้วโยนลงพื้น ให้หลายเหล็กเสียบย่างทั้งเป็น)
ลงโทษแบบให้มีเนื้อเหมือนเนื้อเป็ด (ถูกถลกหนังด้วยขอสองง่าม)
ลงโทษแบบทำให้เป็นกหาปณะ (ถูกเฉือนเนื้อออกทีละชิ้นชิ้นละเท่า ๆ เหรียญทองแดง)
ลงโทษแบบฉาบด้วยน้ำด่าง (ถูกตีด้วยแส้ทั่วกายแล้วทาแผลด้วยน้ำด่าง)
ลงโทษแบบทำให้หมุนเหมือนกลอนเหล็ก (ใช้หลาวเสียบทะลุหูตรึงติดพื้นแล้วจับเท้าหมุนในรอบ ๆ )
ลงโทษแบบทำให้เป็นดุจดั่งทำด้วยฟาง (ทุบกายจนกระดูกแตกละเอียด ตัวอ่อนเหมือนตัวฟางที่ใช้ทำอะไรไม่ได้) เอาน้ำร้อนราดบ้าง ให้สุนัขกัดบ้าง ให้นอนบนหลาวบ้าง เอาดาบตัดหัวเสียบ้าง.... เขามีความคิดเห็น
เช่นนี้ว่า เพราะบาปกรรมเช่นใดเป็นเหตุ โจรผู้ทำความชั่วจึงถูกพระราชาจับแล้วทำกรรมกรณ์
นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ฯลฯ เอาดาบตัดหัวเสียบ้าง ก็ถ้าเรานี้แหละ จะพึงทำ
บาปกรรมเช่นนั้น ก็พึงถูกพระราชาจับแล้วทำกรรมกรณ์นานาชนิด คือ เอาหวายเฆี่ยนบ้าง ฯลฯ
เอาดาบตัดหัวเสียบ้าง ดังนี้เขากลัวต่อโทษที่เป็นไปในปัจจุบัน ไม่เที่ยวแย่งชิงเครื่องบรรณาการ
ของคนอื่นดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโทษที่เป็นไปในปัจจุบัน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทษที่เป็นไปในภพหน้าเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
สำเหนียกดังนี้ว่า วิบากอันเลวทรามของกายทุจริต เป็นโทษที่บุคคลจะพึงได้ในภพหน้าโดยเฉพาะ
วิบากอันเลวทรามของวจีทุจริต เป็นโทษที่บุคคลจะพึงได้ในภพหน้าโดยเฉพาะ วิบากอันเลวทราม
ของมโนทุจริต เป็นโทษที่บุคคลจะพึงได้ในภพหน้าโดยเฉพาะ ก็ถ้าเราจะพึงประพฤติทุจริตด้วย
กาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจทุจริตบางข้อนั้น พึงเป็นเหตุให้เราเมื่อ
แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้ เขากลัวต่อโทษที่เป็นไปในภพหน้า
จึงละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต
บริหารตนให้สะอาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโทษเป็นไปในภพหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
โทษ ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเรา
จักกลัวต่อโทษที่เป็นไปในปัจจุบันจักกลัวต่อโทษเป็นไปในภพหน้า จักเป็นคนขลาดต่อโทษ
มีปรกติเห็นโทษโดยความเป็นของน่ากลัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเป็นเครื่องหลุดพ้นจากโทษทั้งมวลอันบุคคลผู้ขลาดต่อโทษ มีปรกติเห็น
โทษโดยความเป็นของน่ากลัวจะพึงหวังได้ ฯ

ป. ทุก. อํ. (๒๔๗)
ตบ. ๒๐ : ๖๐ ตท. ๒๐ : ๕๖
ตอ. G.S. ๑ : ๔๒-๔๓

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :