ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 70อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 71อ่านอรรถกถา 24 / 72อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓
๑. อากังขสูตร

               อากังขวรรคที่ ๓               
               อรรถกถาอากังขสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๓ อากังขสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สมฺปนฺนสีลา ได้แก่ ผู้มีศีลบริบูรณ์. อธิบายว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยศีล.
               ในคำว่า สมฺปนฺนสีลา นี้ ความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ย่อมมีได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือด้วยการเห็นโทษแห่งศีลวิบัติ และด้วยการเห็นคุณแห่งศีลสมบัติ เหตุแม้ทั้งสองนั้น ก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนสีลา พระสุมัตเถระผู้อยู่วัดทีปวิหารกล่าวว่า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกจาตุปาริสุทธิศีลขึ้น ทรงแสดงศีลที่สำคัญให้พิสดารในที่นั้น ด้วยบทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุตา นี้.
               ส่วนพระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกอันเตวาสิกของท่าน กล่าวว่า แม้ในบททั้งสองพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสปาติโมกขสังวร ด้วยว่าปาติโมกขสังวรนั่นแลคือศีล. ส่วนอีก ๓ ก็เป็นศีล เหตุนั้นจึงกล่าวในเห็นด้วยว่าชื่อฐานะที่กล่าวแล้วมีอยู่ แล้วกล่าวว่าเพียงรักษาทวาร ๖ เท่านั้น ก็ชื่อว่าอินทริยสังวรศีล. เพียงทำปัจจัยให้เกิดขึ้นโดยธรรมโดยชอบ ก็ชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิศีล. เพียงพิจารณาในปัจจัยที่ได้แล้วว่านี้มีอยู่แล้วบริโภค ก็ชื่อว่าปัจจยสันนิสสิตศีล.
               โดยตรงปาติโมกขสังวรเท่านั้นชื่อว่าศีล ปาฏิโมกขสังวรของภิกษุใดขาดแล้ว ภิกษุนี้ไม่พึงถูกกล่าวว่าจักรักษาศีลที่เหลือได้ เหมือนบุรุษศีรษะขาดแล้ว จะรักษามือเท้าไว้ได้.
               ส่วนปาติโมกขสังวรของภิกษุใดไม่เสีย ภิกษุนี้อาจทำศีลที่เหลือให้เป็นปกติได้อีก เหมือนบุรุษศีรษะไม่ขาด ก็รักษาชีวิตไว้ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกขสังวรด้วยบทว่า สมฺปนฺนสีลา นี้แล้วตรัสคำไวพจน์ของบทว่า สมฺปนฺนสีลา นั้นนั่นแลว่า สมฺปนฺนปาฏิโมกฺขา เมื่อทรงแสดงบทว่า สมฺปนฺนปาฏิโมกฺขา นั้นให้พิสดารจึงตรัสว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุตา เป็นต้น
               คำว่า ปาฏิโมกฺขํสํวรสํวุตา เป็นต้นในคำนั้นมีใจความที่กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               ถามว่า เหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า ถ้าภิกษุพึงจำนงดังนี้.
               ตอบว่า เพื่อทรงแสดงอานิสงส์แห่งศีล.
               จริงอยู่ ถ้าภิกษุพวกบวชใหม่หรือผู้มีปัญญาทราม จะพึงคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนว่า พวกเธอจงบำเพ็ญศีล จงบำเพ็ญศีล อะไรหนอเป็นอานิสงส์ อะไรเป็นคุณพิเศษ อะไรเป็นความเจริญในการบำเพ็ญศีล. ตรัสอย่างนี้ก็เพื่อทรงแสดงอานิสงส์ ๑๐ ประการแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ถ้ากระไรภิกษุเหล่านั้น แม้ฟังอานิสงส์ซึ่งมีความเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเหล่าเพื่อนพรหมจารีเป็นเบื้องต้นมีความสิ้นอาสวะเป็นเบื้องปลายแล้ว จะพึงทำให้ศีลบริบูรณ์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อากงฺเขยฺย เจ ได้แก่ ผิว่า พึงปรารถนา.
               บทว่า ปิโย จสฺสํ ได้แก่ พึงเป็นผู้ที่เพื่อนพรหมจารีมองดูด้วยสายตาน่ารัก พึงมีการบำรุงโดยเกิดความรัก.
               บทว่า มนาโป ได้แก่ เป็นที่เจริญใจแห่งเพื่อนพรหมจารีเหล่านั้น หรือใจของเพื่อนพรหมจารีเหล่านั้นจดจ่อถึง. อธิบายว่า อันเพื่อนพรหมจารีแผ่ถึงด้วยเมตตาจิต.
               บทว่า ครุ ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งความหนัก [เคารพ] แห่งเพื่อนพรหมจารีเสมือนฉัตรหิน.
               บทว่า ภาวนีโย ได้แก่ อันเพื่อนพรหมจารีชมเชยอย่างนี้ว่า ท่านย่อมรู้ข้อที่ควรรู้ เห็นข้อที่ควรเห็นมานาน.
               บทว่า สีเล เสฺววสฺส ได้แก่ พึงเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในจตุปาริสุทธิศีล. ท่านอธิบายว่า พึงเป็นผู้ประกอบด้วยการกระทำอันไม่พร่อง คือบริบูรณ์.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ เจโตสมถมนุยุตฺโต ได้แก่ ประกอบในความสงบจิตของตน.
               บทว่า อนิรากตชฺฌาโน ได้แก่ มีฌานอันไม่ถูกนำออกภายนอก หรือมีฌานอันไม่เสียหายแล้ว.
               บทว่า วิปสฺสนาย ได้แก่ อนุปัสสนา ๗ อย่าง.
               บทว่า พฺรูเหตา สุญฺญาคารานํ ได้แก่ เพิ่มพูนสุญญาคารเรือนว่าง.
               ก็ในคำว่า พฺรูเหตา สุญฺญาคาราน นี้ ภิกษุรับกรรมฐานจะโดยเป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เข้าไปยังสุญญาคารนั่งอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน พึงทราบว่า เป็นผู้เพิ่มสุญญาคาร.
               นี้เป็นความสังเขปในเรื่องนี้. ส่วนความพิสดาร ผู้ประสงค์จะพึงดูได้ในวรรณนาอากังเขยยสูตร อรรถกถามัชฌิมนิกาย.
               ในบทว่า ลาภี พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสความบริบูรณ์ในคุณมีศีลเป็นต้น เป็นนิมิตแห่งลาภ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงสอนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มุนีเป็นประหนึ่งตัดถ้อยคำอันแสวงหาอาหารเสียแล้ว ไม่พึงกล่าวปยุตตวาจาแสวงหาอาหาร. ภิกษุนั้นจักกล่าวเรื่องความบริบูรณ์ในคุณมีศีลเป็นต้น เป็นนิมิตแห่งลาภได้อย่างไร. ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจอัธยาศัยของบุคคล.
               แท้จริง ภิกษุเหล่าใดจะพึงมีอัธยาศัยอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสด้วยอำนาจอัธยาศัยเท่านั้น ของภิกษุเหล่านั้นที่ว่า ถ้าเราไม่ พึงลำบากด้วยปัจจัย ๔ ไซร้ เราก็จะพึงนำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ได้.
               อนึ่ง ชื่อว่าปัจจัย ๔ เป็นอานิสงส์พร้อมทั้งกิจ คือหน้าที่ของศีล. จริงอย่างนั้น ผู้คนที่เป็นบัณฑิตนำทรัพย์ที่เก็บไว้ในคลังเป็นต้นออกมา มิใช่บริโภคแม้ด้วยตนเอง ย่อมถวายเหล่าท่านผู้มีศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ ก็เพื่อทรงแสดงอานิสงส์พร้อมทั้งกิจ คือหน้าที่ของศีล.
               ในวาระที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               คำว่า เยสาหํ ตัดบทว่า เยสํ อหํ.
               บทว่า เตสนฺเต การา ความว่า ขอสักการะ คือปัจจยทานที่เหล่าเทวดาหรือมนุษย์ทำในเราเหล่านั้น จงมีผลมากมีอานิสงส์มาก เหตุนั้น สักการะเหล่านั้น ชื่อว่ามีผลมาก ก็โดยผลที่เป็นโลกิยสุข ชื่อว่ามีอานิสงส์มาก ก็โดยผลที่เป็นโลกุตรสุข.
               อีกนัยหนึ่ง คำทั้งสองนี้ก็มีใจความอย่างเดียวกันนั่นเอง.
               ภิกษาทัพทีหนึ่งก็ดี บรรณศาลาที่เขาสร้างบนเนื้อที่เพียง ๕ ศอกก็ดี ที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ย่อมป้องกันจากทุคติวินิบาตได้หลายพันกัป ยังจะเป็นปัจจัยแก่อมตธาตุ คือพระนิพพานในที่สุดด้วย.
               ก็คำมีว่า ขีโรทนํ อหมทาสึ เป็นต้น เป็นเรื่องตัวอย่างในคำนี้. หรือทั้งเปตวัตถุ เรื่องเปรต ทั้งวิมานวัตถุ เรื่องวิมาน เป็นเครื่องสาธกได้ทั้งสิ้น.
               ในวาระที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               บทว่า เปตา ได้แก่ ผู้ไปสู่ภพมัจจุราช.
               บทว่า ญาติ ได้แก่ ฝ่ายพ่อผัวแม่ผัว.
               บทว่า สาโลหิตา ได้แก่ เนื่องด้วยสายเลือดเดียวกันมีปู่เป็นต้น.
               บทว่า กาลกตา ได้แก่ ตาย.
               บทว่า เตสนฺตํ ได้แก่ จิตที่เลื่อมใสในเรานั้น หรือความระลึกถึงด้วยทั้งจิตที่เลื่อมใสนั้นของญาติสาโลหิตเหล่านั้น.
               จริงอยู่ บิดาหรือมารดาของภิกษุใดทำกาละมีจิตเลื่อมใสว่า พระเถระญาติของพวกเรา เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ระลึกถึงภิกษุนั้น ความเลื่อมใสแห่งจิตนั้นก็ดี เพียงความระลึกถึงนั้นก็ดี ของบุคคลนั้นย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มากทั้งนั้น.
               บทว่า อรติรติสโห ได้แก่ เป็นผู้อดทน ครอบงำ ท่วมทับ ความไม่ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ และความยินดีในกามคุณทั้งหลาย.
               ในบทว่า ภายเภรวสโห นี้ ความสะดุ้งจิตก็มี อารมณ์ก็ดี ชื่อว่าภัย. อารมณ์อย่างเดียว ชื่อเภรวะ.

               จบอรรถกถาอากังขสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓ ๑. อากังขสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 70อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 71อ่านอรรถกถา 24 / 72อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=3117&Z=3165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8004
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8004
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :