ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 12อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 13อ่านอรรถกถา 25 / 14อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๘ / ๙.

               ๘. เรื่องนันทโคปาลกะ [๓๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในโกศลชนบท ทรงปรารภนายโคบาลก์ ชื่อนันทะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ทิโส ทิสํ” เป็นต้น.

               นายนันทะหลบหลีกราชภัย               
               ดังได้สดับมา นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ในกรุงสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก รักษาฝูงโคของคฤหบดีชื่ออนาถบิณฑิกะอยู่. นัยว่า นายนันทโคบาลก์นั้นหลบหลีกความบีบคั้นแห่งพระราชา ด้วยความเป็นคนเลี้ยงโค อย่างชฏิลชื่อเกณิยะ หลบหลีกความบีบคั้นแห่งพระราชาด้วยเพศบรรพชิต รักษาขุมทรัพย์ของตนอยู่.
               เขาถือเอาปัญจโครสตลอดกาลสมควรแก่กาล (ตามกำหนดเวลา) มาสู่สำนักของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พบพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว ทูลวิงวอนพระศาสดา เพื่อต้องการให้เสด็จมาสู่ที่อยู่ของตน.

               พระศาสดาทรงเสด็จไปโปรดนายนันทะ               
               พระศาสดาทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของเขาอยู่ ไม่เสด็จไปแล้ว (ครั้น) ทรงทราบความที่เขาเป็นผู้มีญาณแก่กล้าแล้ว วันหนึ่ง อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว เสด็จจาริกไปอยู่ ทรงแวะจากหนทาง ประทับนั่งแล้ว ที่โคนต้นไม้แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้สถานที่อยู่ของเขา
               นายนันทะไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมกระทำปฏิสันถาร นิมนต์พระศาสดาแล้ว ได้ถวายปัญจโครสทานอันประณีตแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานสิ้น ๗ วัน.
               ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาเสร็จแล้ว ตรัสอนุบุพพีกถาต่างโดยทานกถาเป็นต้น ในเวลาจบกถา นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล รับบาตรของพระศาสดา ตามส่งเสด็จพระศาสดาไปไกล เมื่อพระศาสดารับสั่งให้กลับ ด้วยพระดำรัสว่า “อุบาสก จงหยุดเถิด” ถวายบังคมพระศาสดากลับแล้ว.
               ลำดับนั้น นายพรานคนหนึ่งได้แทงเขาให้ตายแล้ว.

               พวกภิกษุโทษพระศาสดาว่าทำให้นายนันทะถูกฆ่า               
               พวกภิกษุผู้มาข้างหลัง เห็นแล้ว จึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า
               “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ถวายมหาทานตามส่งเสด็จแล้วกลับไป ถูกนายพรานฆ่าตายเสียแล้ว ก็เพราะความที่พระองค์เสด็จมาแล้วในที่นี้. ถ้าว่าพระองค์จักมิได้เสด็จมาแล้วไซร้, ความตายจักไม่ได้มีแก่เขาเลย.”

               จิตที่ตั้งไว้ผิดทำความฉิบหายให้ยิ่งกว่าเหตุใดๆ               
               พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรามาก็ตาม มิได้มาก็ตาม ชื่อว่าอุบายเป็นเครื่องพ้นจากความตายของนายนันทะนั้น แม้ผู้ไปอยู่สู่ทิศใหญ่ ๔ สู่ทิศน้อย ๔ ย่อมไม่มี; ด้วยว่า จิตเท่านั้นซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว อันเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้ ย่อมทำความพินาศ ฉิบหาย ที่พวกโจร (หรือ) พวกคนจองเวรจะทำ (ให้) ไม่ได้ ดังนี้
               ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๘. ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา                เวรี วา ปน เวรินํ
                         มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร
                         จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้นให้เลวทรามยิ่ง
                         กว่าความพินาศฉิบหายที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็น
                         คนจองเวรทำ (แก่กัน) นั้น (เสียอีก)

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทิโส ทิสํ แปลว่า โจรเห็นโจร. ศัพท์ว่า ทิสฺวา เป็นพระบาลีที่เหลือ (บัณฑิตพึงเพิ่มเข้า).
               สองบทว่า ยนฺตํ กยิรา ความว่า พึงทำซึ่งความพินาศฉิบหายนั้นใดแก่โจรหรือคนจองเวรนั้น. ถึงในบทที่ ๒ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               “โจรผู้มักประทุษร้ายต่อมิตรผู้หนึ่ง เมื่อผิดในบุตร ภริยา นา ไร่ วัวและควายเป็นต้น ของโจรผู้หนึ่ง โจรผิดต่อโจรใด, เห็นโจรแม้นั้นซึ่งผิดอยู่ในตนอย่างนั้นนั่นแหละ, ก็หรือว่า คนจองเวรเห็นชนผู้ผูกเวรกันไว้ด้วยเหตุบางอย่างนั่นแหละ ซึ่งชื่อว่าผู้จองเวร,
               ชื่อว่าพึงทำความพินาศฉิบหายอันใดแก่โจรหรือคนผู้จองเวรนั้น คือพึงเบียดเบียนบุตรและภริยาของโจรหรือคนจองเวรนั้น พึงทำสิ่งของต่างๆ มีนาเป็นต้นของโจร หรือของคนจองเวรนั้นให้ฉิบหาย หรือพึงปลงซึ่งโจรหรือคนจองเวรนั้นจากชีวิต เพราะความที่ตนเป็นคนโหดร้าย คือเพราะความที่ตนเป็นคนทารุณ,
               จิตชื่อว่าตั้งไว้ผิด เพราะความเป็นจิตตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ พึงทำให้เขาเลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหายนั้น คือทำบุรุษนั้นให้เป็นผู้ลามกกว่าเหตุนั้น;
               จริงอยู่ โจรก็ดี คนจองเวรก็ดี มีประการดังกล่าวแล้ว พึงยังทุกข์ให้เกิด หรือพึงทำซึ่งความสิ้นไปแห่งชีวิตแก่โจรหรือแก่คนจองเวร (ได้) ในอัตภาพนี้เท่านั้น,
               ส่วนจิตนี้ซึ่งตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถทั้งหลาย ย่อมยังบุคคลให้ถึงความพินาศฉิบหายในทิฏฐธรรมบ้าง ซัดไปในอบาย ๔ ย่อมไม่ให้ยกศีรษะขึ้นได้ในพันอัตภาพบ้าง.”
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น, เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
               ก็กรรมที่อุบาสกได้ทำไว้ในระหว่างภพ พวกภิกษุมิได้ทูลถาม, เพราะฉะนั้น (กรรมนั้น) พระศาสดาจึงมิได้ตรัสบอก ดังนี้แล.

               เรื่องนันทโคปาลกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 12อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 13อ่านอรรถกถา 25 / 14อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=366&Z=394
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=19&A=2399
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=19&A=2399
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :