ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘. นครวินเทยยสูตร (๑๕๐)
[๘๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงแวะยังบ้านพราหมณ์แห่งโกศลชนบทชื่อว่านครวินทะ พวกพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะได้ทราบข่าวว่า พระสมณะผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงบ้านนครวินทะโดยลำดับ พระโคดมผู้มีพระภาค พระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่าง หาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้ แจกธรรม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอน โลกนี้ทั้งเทวดา มาร พรหม ทุกหมู่สัตว์ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและ มนุษย์ ให้รู้ทั่ว ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อม ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้ เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นการดีแล ครั้งนั้นแล พราหมณ์ คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้ว บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวก ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกมีอาการเฉยๆ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๘๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านนครวินทะ ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่าน ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัด เคือง ความลุ่มหลงในรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายไม่ เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ไม่ไปปราศแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติ ลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเราก็ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมี จิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็ เมื่อเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชก เจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๔] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สมณ- *พราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ ได้ด้วยจักษุแล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็นแม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์ พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสตแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหาแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกายแล้ว ... สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปปราศความกำหนัด ความขัดเคือง ความ ลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน แล้ว มีจิตสงบแล้วภายใน ประพฤติสงบ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นั่นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้พวกเรายังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ไม่ไปปราศแล้ว ยังมีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ ก็เมื่อเราทั้งหลายเห็น แม้ความประพฤติสงบของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ฉะนั้น ท่าน สมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้น อย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๕] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นถามท่านทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ก็อาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเช่นไร จึงเป็นเหตุให้ พวกท่านกล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่ เป็นผู้ปราศจากโทสะ แล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือปฏิบัติ เพื่อนำปราศโมหะแน่ ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความจริง ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเสพเฉพาะเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าดง เป็นที่ไม่มีรูปอันรู้ได้ด้วยจักษุ ซึ่งคนทั้งหลายเห็นแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีเสียงอันรู้ได้ด้วยโสต ซึ่งคนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีกลิ่นอันรู้ได้ด้วยฆานะ ซึ่งคนทั้งหลายดมแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีรสอันรู้ได้ด้วยชิวหา ซึ่งคนทั้งหลายลิ้มแล้วๆ จะพึงยินดีเช่นนั้นเลย เป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะอันรู้ได้ด้วยกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดี เช่นนั้นเลย นี้แลอาการและความเป็นไปของท่านผู้มีอายุทั้งหลายของพวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้ากล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศราคะแน่ เป็นผู้ปราศ- *จากโทสะแล้ว หรือปฏิบัติเพื่อนำปราศโทสะแน่ เป็นผู้ปราศจากโมหะแล้ว หรือ ปฏิบัติเพื่อนำปราศโมหะแน่ ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกเจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างนี้เถิด ฯ [๘๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้าน นครวินทะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้ง แล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบ เหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น พวกข้าพระองค์ นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดม ผู้เจริญ จงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ฯ
จบ นครวินเทยยสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๐๖๗๕-๑๐๗๘๒ หน้าที่ ๔๕๓-๔๕๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=10675&Z=10782&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=14&siri=50              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=832              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [832-836] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=832&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6476              The Pali Tipitaka in Roman :- [832-836] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=832&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6476              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i832-e.php# https://suttacentral.net/mn150/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :