ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘. นครวินเทยยสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ
[๔๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวแคว้นโกศลชื่อนครวินทะ พราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ ได้ทราบข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนครวินทะ โดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพรียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ @เชิงอรรถ : @ วิชชา หมายถึงวิชชาคืออรหัตตมรรค วิมุตติ หมายถึงผลวิมุตติ (ม.อุ.อ. ๓/๔๓๓/๒๕๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๘. นครวินเทยยสูตร

อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น พระผู้มีพระภาค‘๑- พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรง ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่าง แท้จริง”๒- ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลสนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก ประกาศชื่อและโคตร ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณ์และคหบดี ชาวบ้านนครวินทะว่า
สมณพราหมณ์ผู้ไม่ควรสักการะ
[๔๓๕] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามท่าน ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร อัน ท่านทั้งหลายไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา’ ท่าน ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์เหล่าใด ยังไม่ปราศจากราคะ(ความกำหนัด) ยังไม่ปราศจาก โทสะ(ความขัดเคือง) ยังไม่ปราศจากโมหะ(ความลุ่มหลง)ในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา มีจิตยังไม่สงบในภายใน ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา’ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๓ (เทวทหสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๕/๘๗-๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๘. นครวินเทยยสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้เราทั้งหลายก็ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา มีจิตยังไม่สงบในภายใน ยังประพฤติไม่ สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะเราทั้งหลายไม่เห็นแม้ความ ประพฤติที่สม่ำเสมอนั้นที่สูงๆ ขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา สมณพราหมณ์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก... สมณพราหมณ์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... สมณพราหมณ์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ... สมณพราหมณ์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ มีจิตยังไม่สงบในภายใน ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ สมณพราหมณ์เช่นนี้ ไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้เราทั้งหลายก็ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ มีจิตยังไม่สงบในภายใน ยัง ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะเราทั้งหลายไม่เห็น แม้ความประพฤติที่สม่ำเสมอนั้นที่สูงๆ ขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพราะ ฉะนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นจึงไม่ควรสักการะ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรนับถือ ไม่ควรบูชา’ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๘. นครวินเทยยสูตร

สมณพราหมณ์ผู้ควรสักการะ
[๔๓๖] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามท่าน ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สมณพราหมณ์เช่นไร อันท่าน ทั้งหลายควรสักการะ ควรเคารพ ควรนับถือ ควรบูชา’ ท่านทั้งหลายถูกถาม อย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์ เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา มีจิตสงบในภายใน ประพฤติสม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ สมณพราหมณ์เช่นนี้ควรสักการะ ควรเคารพ ควรนับถือ ควรบูชา’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า แม้เราทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยัง ไม่ปราศจากโมหะในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา มีจิตยังไม่สงบในภายใน ยังประพฤติ ไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะเราทั้งหลายเห็นแม้ความ ประพฤติสม่ำเสมอนั้นที่สูงๆ ขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจึงควรสักการะ ควรเคารพ ควรนับถือ ควรบูชา สมณพราหมณ์เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะใน เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ... สมณพราหมณ์เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะใน กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... สมณพราหมณ์เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะใน รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... สมณพราหมณ์เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะใน โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ... สมณพราหมณ์เหล่าใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะใน ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ มีจิตสงบในภายใน ประพฤติสม่ำเสมอทางกาย ทาง วาจา และทางใจ สมณพราหมณ์เช่นนี้ควรสักการะ ควรเคารพ ควรนับถือ ควรบูชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๘. นครวินเทยยสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าแม้เราทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากโทสะ ยังไม่ ปราศจากโมหะในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ มีจิตยังไม่สงบในภายใน ยัง ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะเราทั้งหลายเห็นแม้ ความประพฤติสม่ำเสมอนั้นที่สูงๆ ขึ้นไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจึงควรสักการะ ควรเคารพ ควรนับถือ ควรบูชา’ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้เถิด
ปฏิปทาของผู้ไม่มีราคะ
[๔๓๗] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามท่าน ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ก็ท่าทางและการปฏิบัติของท่านผู้มีอายุทั้งหลายเป็นอย่างไร จึงเป็นเหตุให้ท่านทั้งหลายกล่าวถึงท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่แท้’ ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่าง นี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือป่าดง อันเป็นที่ไม่มีรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ซึ่งคนทั้งหลายเห็นแล้วๆ จะพึงยินดี ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือป่าดงอันเป็นที่ไม่มีเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ซึ่ง คนทั้งหลายฟังแล้วๆ จะพึงยินดี ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือป่าดงอันเป็นที่ไม่มีกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ซึ่งคนทั้งหลายดมแล้วๆ จะพึงยินดี ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือป่าดงอันเป็นที่ไม่มีรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ซึ่ง คนทั้งหลายลิ้มแล้วๆ จะพึงยินดี ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือป่าดงอันเป็นที่ไม่มีโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ซึ่งคนทั้งหลายสัมผัสแล้วๆ จะพึงยินดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร

ท่าทางและการปฏิบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้แล เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย กล่าวถึงท่านผู้มีอายุได้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ เป็น ผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะแน่แท้’ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้เถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านนครวินทะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระโคดมชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปใน ที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำ ข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
นครวินเทยยสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๙๓-๔๙๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=50              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=10675&Z=10782                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=832              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=832&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6476              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=832&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6476                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i832-e.php# https://suttacentral.net/mn150/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :