ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 5 ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[6] กามคุณ 5 (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม - sensual pleasures; sensual objects)
       1. รูปะ (รูป - form; visible object)
       2. สัททะ (เสียง - sound)
       3. คันธะ (กลิ่น - smell; odor)
       4. รสะ (รส - taste)
       5. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - touch; tangible object)

       ห้าอย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (agreeable, delightful, pleasurable) เรียกว่า กามคุณ

M.I. 85,173 ม.มู. 12/197/168; 327/333.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhanas)
       1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 - the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
       2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 - the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
       3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 - the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา
       4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 - the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

       คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

M.I.40 ม.มู. 12/102/72

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[59] สกทาคามี 3, 5 (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว — Once-Returner)
       พระสกทาคามีนี้ ในบาลีมิได้แยกประเภทไว้ แต่ในคัมภีร์รุ่นหลังแยกประเภทไว้หลายอย่าง เช่น ในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา แยกไว้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ได้บรรลุผลนั้น ในกามภพ 1 ในรูปภพ 1 ในอรูปภพ 1
       ในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา จำแนกไว้ 5 ประเภท คือ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 และอธิบายต่อท้ายว่า พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในบาลีหมายเอาประเภทที่ 5 อย่างเดียว
       นอกจากนี้ ที่ท่านแบ่งออกเป็น 4 บ้าง 12 บ้าง ก็มี แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

KhA.182. ขุทฺทก.อ. 199;
วิสุทฺธิ.ฏีกา 3/655.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[60] อนาคามี 5 (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก — Non-Returner)
       1. อันตราปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน — one who attains Parinibbana within the first half life-span)
       2. อุปหัจจปรินิพพายี (ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน — one who attains Parinibbana after the first half life-span)
       3. อสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก — one who attains Parinibbana without exertion)
       4. สสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก — one who attains Parinibbana with exertion)
       5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน — one who goes upstream bound for the highest realm; up-streamer bound for the Not-Junior Gods)

A.I. 233;
IV. 14,70,380;
V. 120;
Pug.16
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129;
อภิ.ปุ. 36/52-56/148.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[84] เทวทูต 5 (ทูตของยมเทพ — divine messengers)
       1. ทหระ หรือ มันทกุมาร (เด็กอ่อน — a young baby)
       2. ชิณณะ (คนแก่ — an old men)
       3. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ — a sick man)
       4. กรรมการณัปปัตตะ (คนถูกลงโทษ, คนถูกจองจำลงอาญา — a criminal subjected to punishment)
       5. มตะ (คนตาย — a dead man)

M.III.179. ม.อุ. 14/507/335.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[112] เวทนา 5 (การเสวยอารมณ์ — feeling)
       1. สุข (ความสุข ความสบายทางกาย — bodily pleasure or happiness)
       2. ทุกข์ (ความทุกข์ ความไม่สบาย เจ็บปวดทางกาย — bodily pain; discomfort)
       3. โสมนัส (ความแช่มชื่นสบายใจ, สุขใจ — mental happiness; joy)
       4. โทมนัส (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ — mental pain; displeasure; grief)
       5. อุเบกขา (ความรู้สึกเฉยๆ — indifference)

       เวทนา 5 นี้ เรียกเต็มมี อินทรีย์ ต่อท้ายทุกคำ เป็น สุขินทรีย์ เป็นต้น

S.IV.232 สํ.สฬ. 18/433/287.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[217] จักขุ 5 (พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า — the Five Eyes of the Blessed One)
       1. มังสจักขุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรอันงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล — the physical eye which is exceptionally powerful and sensitive)
       2. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปต่างๆ กัน ด้วยอำนาจกรรม — the Divine Eye)
       3. ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นต้น — the eye of wisdom; Wisdom-Eye)
       4. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทรีย์ปโรปริยัตตญาณ และอาสยานุสยญาณ เป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์ — the eye of a Buddha; Buddha-Eye)
       5. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ — the eye of all-round knowledge; All-seeing Eye; omniscience)

Ndii 235. ขุ.ม. 29/51/52.

[***] ฌาน 5 ดู [9] ฌาน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[218] ธรรมขันธ์ 5 (กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมทั้งปวงเข้าเป็นหัวข้อใหญ่ — bodies of doctrine; categories of the Teaching)
       1. สีลขันธ์ (กองศีล, หมวดศีล ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย ปาติโมกขสังวร กายสุจริต สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นต้น — body of morals; virtue category)
       2. สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ, หมวดสมาธิ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นต้น — body of concentration; concentration category)
       3. ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา, หมวดปัญญา ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ธัมมวิจยะ วิมังสา ปฏิสัมภิทา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น— body of wisdom or insight; understanding category)
       4. วิมุตติขันธ์ (กองวิมุตติ, หมวดวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ปหาน วิราคะ วิโมกข์ วิสุทธิ สันติ นิโรธ นิพพาน เป็นต้น — body of deliverance; deliverance category)
       5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (กองวิมุตติญาณทัสสนะ, หมวดธรรมเกี่ยวกับการรู้ การเห็นในวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เป็นต้น — body of the knowledge and vision of deliverance; knowing-and-seeing-of-deliverance category)

       ธรรมขันธ์ 4 ข้อต้น เรียกอีกอย่างว่า สาระ 4 (แก่น, หลักธรรมที่เป็นแกน, หัวใจธรรม — essences)

D.III.279;
A.lll.134;
A.II.140
ที.ปา. 11/420/301;
องฺ.ปญฺจก. 22/108/152;
องฺ.จตุกฺก. 21/150/189.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[219] ธรรมเทสกธรรม 5 (ธรรมของนักเทศก์, องค์แห่งธรรมกถึก, ธรรมที่ผู้แสดงธรรมหรือสั่งสอนคนอื่นควรตั้งไว้ในใจ — qualities of a preacher; qualities which a teacher should establish in himself)
       1. อนุปุพฺพิกถํ (กล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ — His instruction or exposition is regulated and gradually advanced.)
       2. ปริยายทสฺสาวี (ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่างๆ ตามแนวเหตุผล — It has reasoning or refers to causality)
       3. อนุทยตํ ปฏิจฺจ (แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา — It is inspired by kindness; teaching out of kindliness.)
       4. น อามิสนฺตโร (ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่เพราะมุ่งที่ตนจะได้ลาภ หรือผลประโยชน์ตอบแทน — It is not for worldly gain.)
       5. อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ (แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงธรรม แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น — It does not hurt oneself or others; not exalting oneself while contempting others.)

A.III.184. องฺ.ปญฺจก. 22/159/205.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[220] ธรรมสมาธิ 5 (ธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นสนิทในธรรม เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมถูกต้อง กำจัดความข้องใจสงสัยเสียได้ เมื่อเกิดธรรมสมาธิ คือความมั่นสนิทในธรรม ก็จะเกิดจิตตสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต - concentration of the Dhamma; virtues making for firmness in the Dhamma)
       1. ปราโมทย์ (ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส - cheerfulness; gladness; joy)
       2. ปีติ (ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ - rapture; elation)
       3. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นกายใจ, ความผ่อนคลายรื่นสบาย - tranquillity; relaxedness)
       4. สุข (ความรื่นใจไร้ความข้องขัด - happiness)
       5. สมาธิ (ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย - concentration)

       ธรรม หรือคุณสมบัติ 5 ประการนี้ ตรัสไว้ทั่วไปมากมาย เมื่อทรงแสดงการปฏิบัติธรรมที่ก้าวมาถึงขั้นเกิดความสำเร็จชัดเจน ต่อจากนี้ ผู้ปฏิบัติจะเดินหน้าไปสู่การบรรลุผลของสมถะ (คือได้ฌาน) หรือวิปัสสนา แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงใช้เป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติขั้นตอนในระหว่างได้ดี และเป็นธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญของจิตใจที่ทุกคนควรทำให้เกิดมีอยู่เสมอ

S.IV.350. สํ.สฬ. 18/665-673/429-439

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[221] ธรรมสวนานิสงส์ 5 (อานิสงส์ในการฟังธรรม — benefits of listening to the Dhamma)
       1. อสฺสุตํ สุณาติ (ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง, ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ — He hears things not heard.)
       2. สุตํ ปริโยทเปติ (สิ่งที่เคยได้ฟัง ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น — He clears things heard.)
       3. กงฺขํ วิหนติ (แก้ข้อสงสัยได้, บรรเทาความสงสัยเสียได้ — He dispels his doubts.)
       4. ทิฏฺฐึ อุชุํ กโรติ (ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ — He makes straight his views.)
       5. จิตฺตมสฺส ปสีทติ (จิตของเขาย่อมผ่องใส — His heart becomes calm and happy.)

A.III.248. องฺ.ปญฺจก. 22/202/276.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[222] นวกภิกขุธรรม 5 (ธรรมที่ควรฝึกสอนภิกษุบวชใหม่ให้ประพฤติ ปฏิบัติอย่างมั่นคง, องค์แห่งภิกษุใหม่ — qualities of a newly ordained monk; qualities which should be established in newly ordained monks)
       1. ปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์ รักษาศีลเคร่งครัด ทั้งในส่วนเว้นข้อห้าม และทำตามข้ออนุญาต — restraint in accordance with the monastic code of discipline; self-control strictly in accordance with the fundamental training-rules)
       2. อินทรีย์สังวร (สำรวมอินทรีย์ มีสติระวังรักษาใจ มิให้กิเลสคือความยินดี ยินร้ายเข้าครอบงำ ในเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 มีเห็นรูปด้วยตาเป็นต้น — restraint of the senses; sense-control)
       3. ภัสสปริยันตะ (พูดคุยมีขอบเขต คือ จำกัดการพูดคุยให้น้อย รู้ขอบเขต ไม่เอิกเกริกเฮฮา — restraint as regards talking)
       4. กายวูปกาสะ (ปลีกกายอยู่สงบ คือ เข้าอยู่ในเสนาสนะอันสงัด — seclusion as to the body; love of solitude)
       5. สัมมาทัสสนะ (ปลูกฝังความเห็นชอบ คือ สร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ — cultivation of right views.)

A.III 138. องฺ.ปญฺจก. 22/114/156

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[223] นิยาม 5 (กำหนดอันแน่นอน, ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; the five aspects of natural law)
       1. อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ — physical inorganic order; physical laws)
       2. พีชนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น — physical organic order; biological laws)
       3. จิตตนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต — psychic law)
       4. กรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ — order of act and result; the law of Kamma; moral laws)
       5. ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย — order of the norm; the general law of cause and effect; causality and conditionality)

       ดู [86] ธรรมนิยาม 3; [177] สมบัติ 4; [176] วิบัติ 4.

DA.II.432;
DhsA.272.
ที.อ. 2/34;
สงฺคณี.อ. 408.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[224] นิโรธ 5 (ความดับกิเลส, ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น — extinction; cessation of defilements)
       1. วิกขัมภนนิโรธ (ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น — extinction by suppression)
       2. ตทังคนิโรธ (ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ — extinction by substitution of opposites)
       3. สมุจเฉทนิโรธ (ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทนิโรธ — extinction by cutting off or destruction)
       4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ (ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรคดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้นชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ — extinction by tranquillization)
       5. นิสสรณนิโรธ (ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน — extinction by escape; extinction by getting freed)

       ปหาน 5 (การละกิเลส — abandonment), วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น — deliverance), วิเวก 5 (ความสงัด, ความปลีกออก — seclusion), วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด, ความสำรอกออกได้ — detachment; dispassionateness), โวสสัคคะ 5 (ความสละ, ความปล่อย — relinquishing) ก็อย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด

Ps.I.27,220-221;
Vism.410
ขุ.ปฏิ. 31/65/39; 704/609;
วิสุทธิ. 2/249.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[225] นิวรณ์ 5 (สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม, ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง — hindrances.)
       1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม, ความต้องการกามคุณ — sensual desire)
       2. พยาบาท (ความคิดร้าย, ความขัดเคืองแค้นใจ — illwill)
       3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม — sloth and torpor)
       4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ, ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล — distraction and remorse; flurry and worry; anxiety)
       5. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย — doubt; uncertainty)

A.III.62;
Vbh.278.
องฺ.ปญฺจก. 22/51/72;
อภิ.วิ. 35/983/510.

[***] เบญจธรรม ดู [239] ศีล 5
[***] เบญจศีล ดู [238] ศีล 5
[***] ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ 5 ดู [232] โภคอาทิยะ 5
[***] ปหาน 5 (การละกิเลส — abandonment) ดู [224] นิโรธ 5
[***] ปัญจกัชฌาน ดู [9] ฌาน 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[226] ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)
       1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill)
       2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)
       3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy)
       4. อุพเพตาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)
       5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture)

Vism.143 วิสุทฺธิ. 1/182.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[227] พร 5 (สิ่งน่าปรารถนาที่บุคคลหนึ่งอำนวยให้หรือแสดงความประสงค์ด้วยความปรารถนาดีให้เกิดมีขึ้นแก่บุคคลอื่น; สิ่งประเสริฐ, สิ่งดีเยี่ยม — blessing; boon; excellent thing)
       พรที่รู้จักกันมากได้แก่ ชุดที่มีจำนวน 4 ข้อ ซึ่งเรียกกันว่า จตุรพิธพร หรือ พร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

Dh.109;
A.II.63
ขุ.ธ. 25/18/29;
องฺ.จตุกฺก. 21/58/83.

       พรที่เป็นชุดมีจำนวน 5 ข้อบ้าง 6 ข้อบ้าง ก็มี เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ (องฺ.ปญฺจก. 22/37/44 = A.III.42); อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขะ พละ (องฺ.จตุกฺก. 21/34/45; องฺ.ปญฺจก. 22/32/38; ขุ.อิติ. 25/270/299 = A.III.36; It. 89); อายุ วรรณะ สุขะ ยศ เกียรติ สัคคะหรือสวรรค์ พร้อมทั้ง อุจจากุลีนตาคือความมีตระกูลสูง (องฺ.ปญฺจก. 22/43/51 = A.III.48); อายุ วรรณะ ยศ สุข อาธิปัจจะ คือ ความเป็นใหญ่ (ขุ.เปต. 26/106/195 = Pv. 308) และชุดที่จะกล่าวถึงต่อไปคือ อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ
       อย่างไรก็ดี พึงทราบว่า คำว่า พร ในที่นี้ เป็นการใช้โดยอนุโลมตามความหมายในภาษาไทย ซึ่งเพี้ยนไปแล้วจากความหมายเดิมในภาษาบาลี ในภาษาบาลีแต่เดิม พร หมายถึง ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาตหรืออำนวยให้ตามที่ขอ พรที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ทั้งหมด ในบาลีไม่ได้ เรียกว่า พร แต่เรียกว่า ฐานะ หรือธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรรม คือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ)
       สำหรับพระภิกษุ พรหรือธรรมอันน่าปรารถนาเหล่านี้ หมายถึงคุณธรรมต่างๆ ที่ควรปลูกฝังฝึกอบรมให้เกิดมี ดังพุทธพจน์ว่า: ภิกษุท่องเที่ยวอยู่ ภายในถิ่นท่องเที่ยว ที่เป็นแดนของตนอันสืบทอดมาแต่บิดา (คือ สติปัฏฐาน 4) จักเจริญด้วย
       1. อายุ คือ พลังที่หล่อเลี้ยงทรงชีวิตให้สืบต่ออยู่ได้ยาวนาน ได้แก่ อิทธิบาท 4 (for monks, = the Four Bases of Accomplishment)
       2. วรรณะ คือ ความงามเอิบอิ่มผ่องใสน่าเจริญตาเจริญใจ ได้แก่ ศีล (beauty = moral conduct)
       3. สุขะ คือความสุข ได้แก่ ฌาน 4 (the Four Meditative Absorptions)
       4. โภคะ คือ ความพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ อันอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย ได้แก่ อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร 4 (Wealth = the Four Boundless Sublime States of Mind)
       5. พละ คือ กำลังแรงความเข้มแข็งที่ทำให้ข่มขจัดได้แม้แต่กำลังแห่งมาร ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามปลอดโปร่งเป็นสุข บำเพ็ญกิจด้วยบริสุทธิ์และเต็มที่ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์ใดใดจะสามารถบีบคั้นครอบงำ ได้แก่ วิมุตติ ความหลุดพ้น หมดสิ้นอาสวะ หรืออรหัตตผล (strength or power = the Final Freedom)

D.III.77;
S.V.147
ที.ปา. 11/50/85;
สํ.ม. 19/709/198

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[228] พละ 5 (ธรรมอันเป็นกำลัง — power)
       1. สัทธา (ความเชื่อ — confidence)
       2. วิริยะ (ความเพียร — energy; effort)
       3. สติ (ความระลึกได้ — mindfulness)
       4. สมาธิ (ความตั้งจิตมั่น — concentration)
       5. ปัญญา (ความรู้ทั่วชัด — wisdom; understanding)

       ธรรม 5 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ 5 (ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน — controlling faculty) ที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ของตน คือเป็นเจ้าการ ในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงตามลำดับ ที่เรียกว่า พละ เพราะความหมายว่า เป็นพลังทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น แต่ละอย่าง จะเข้าครอบงำไม่ได้
       พละหมวดนี้เป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ ให้ถึงความหลุดพ้นโดยตรง

D.III.239;
A.III.10;
Vbh.342.
ที.ปา. 11/300/252;
องฺ.ปญฺจก. 22/13/11;
อภิ.วิ. 35/844/462


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_5&nextseek=230
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_5&nextseek=230


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]