ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 2 ”             ผลการค้นหาพบ  29  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 29
คติ
       1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง
       2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ
           ๑. นิรยะ นรก
           ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
           ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต
           ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล
           ๕. เทพ ชาวสวรรค์ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิฏฐพรหม
       (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตตวิสัยด้วย)
       ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี)
       ๒ คติหลังเป็น สุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 29
ทุกข์
       1. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง
           (ข้อ ๒ ในไตรลักษณ์)
       2. อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฎขึ้นหรืออาจปรากฎขึ้นได้แก่คน
           (ได้ในคำว่า ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจจ์ ๔)
       3. สภาพที่ทนได้ยาก, ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา,
           ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกาย คือทุกข์กาย (โทมนัสคือไม่สบายใจ)
           แต่ถ้ามาลำพัง (ในเวทนา ๓) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 29
นวกะ
       1. หมวด ๙
       2. ภิกษุใหม่, ภิกษุมีพรรษายังไม่ครบ ๕;
           เทียบ เถระ, มัชฌิมะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 29
นาลกะ
       1. หลานชายของอสิตดาบส ออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง;
           ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย
       2. ชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่เกิดของพระสารีบุตรไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ บางทีเรียกนาลันทคาม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 29
นาสิก
       1. จมูก
       2. พยัญชนะที่ออกเสียงขึ้นจมูก ได้แก่ ง ญ ณ น ม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 29
บาลี
       1. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ
       2. คัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิมที่เป็นพระพุทธวจนะ อันพระสังคีติกาจารย์รวบรวมได้ คือ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา, พระพุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 29
บุคคล ๔ 2- บุคคล ๔ จำพวกที่แบ่งตามประมาณ ได้แก่
       ๑. รูปัปปมาณิกา
       ๒. โฆสัปปมาณิกา
       ๓. ลูขัปปมาณิกา และ
       ๔. ธัมมัปปมาณิกา;
       ดู ประมาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 29
ปฏิโลม
       1. ทวนลำดับ, ย้อนจากปลายมาหาต้น เช่นว่า
           ตจปัญจกกัมมัฏฐาน
               จากคำท้ายมาหาคำต้นว่า “ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา”;
           ตรงข้ามกับ อนุโลม 1.
       2. สาวเรื่องทวนจากผลเข้าไปหาเหตุ เช่น
               วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย,
               สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นต้น;
           ตรงข้ามกับ อนุโลม 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 29
ปัจจัย
       1. เหตุที่ให้ผลเป็นไป, เหตุ, เครื่องหนุนให้เกิด
       2. ของสำหรับอาศัยใช้, เครื่องอาศัยของชีวิต,
           สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มี ๔ อย่าง คือ
               จีวร (ผ้านุ่งห่ม)
               บิณฑบาต (อาหาร)
               เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)
               คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 29
พยัญชนะ
       1. อักษร, ตัวหนังสือที่มิใช่สระ;
       2. กับข้าวนอกจากแกง คู่กับสูปะ;
       3. ลักษณะของร่างกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 29
ภัททิยะ
       1. ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก
       2. กษัตริย์ศากยวงศ์ โอรสของนางกาฬิโคธา สละราชสมบัติที่มาถึงตามวาระแล้วออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ สำเร็จอรหัตตผล ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มาจากตระกูลสูง และจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐

ภัททิยศากยะ ดู ภัททิยะ 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 29
ภูมิ
       1. พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน
       2. ชั้นของจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ
           ๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม
           ๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน
           ๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน
           ๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลก หรือระดับพระอริยบุคคล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 29
มรรค ทาง, หนทาง
       1. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ
           ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
           ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
           ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
           ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ
           ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
           ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
           ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
           ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ;
           ดู โพธิปักขิยธรรม
       2. มรรค ว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรม คู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ
           โสดาปัตติมรรค ๑
           สกทาคามิมรรค ๑
           อนาคามิมรรค ๑
           อรหัตตมรรค ๑

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 29
มหานาม
       1. ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก
       2. เจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระอนุรุทธะ ได้เป็นราชาปกครองแคว้นศากยะในสมัยพุทธกาล (ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะ) และเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาแรงกล้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ถวายของประณีต

มหานามศากยะ ดู มหานาม 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 29
มาร
       1. สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ
           ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส
           ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์
           ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม
           ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร
           ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย
       2. พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา
           มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด แห่งระดับกามาวจรคือปรนิมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน
           อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 29
โยคะ
       1. กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก
           มี ๔ คือ ๑. กาม ๒. ภพ ๓. ทิฏฐิ ๔. อวิชชา
       2. ความเพียร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 29
รูป
       1. สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย
           จำแนกเป็น ๒๘ คือมหาภูต หรือธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (=รูปขันธ์ในขันธ์ ๕)
       2. อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)
       3. ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป;
           ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 29
วิญญัติ
       1. การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย, การสื่อความหมาย มี ๒ คือ
           ๑. กายวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยกาย เช่น พยักหน้า กวักมือ
           ๒. วจีวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยวาจา คือพูด หรือบอกกล่าว
       2. การออกปากขอของต่อคนไม่ควรขอ หมายถึงภิกษุขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 29
วิบัติ ความเสีย, ความผิดพลาด, ความบกพร่อง, ความเสียหายใช้การไม่ได้
       1. วิบัติความเสียของภิกษุ มี ๔ อย่าง คือ
           ๑. ศีลวิบัติ ความเสียแห่งศีล
           ๒. อาจารวิบัติ ความเสียมรรยาท
           ๓. ทิฏฐิวิบัติ ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย
           ๔. อาชีววิบัติ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ
       2. วิบัติคือความเสียหายใช้ไม่ได้ของสังฆกรรม มี ๔ คือ
           ๑. วัตถุวิบัติ เสียโดยวัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี
           ๒. สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต
           ๓. ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์
           ๔. กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น
           (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็นวิบัติ ๕ ก็มี);
       เทียบ สมบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 29
วุฏฐานคามินี
       1. วิปัสสนาที่ให้ถึงมรรค, วิปัสสนาที่เจริญแก่กล้าถึงจุดสุดยอด ทำให้เข้าถึงมรรค (มรรคชื่อว่าวุฏฐานะ โดยความหมายว่าเป็นที่ออกไปได้จากสิ่งที่ยึดติดถือมั่น หรือออกไปพ้นจากสังขาร),
           วิปัสสนาที่เชื่อมต่อให้ถึงมรรค
       2. “อาบัติที่ให้ถึงวุฏฐานวิธี” คือ อาบัติที่จะพ้นได้ด้วยอยู่กรรม หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส,
           เทียบ เทสนาคามินี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 29
ไวยากรณ์
       1. ระเบียบของภาษา, วิชาว่าด้วยระเบียบแห่งภาษา
       2. คำหรือข้อความที่เป็นร้อยแก้ว, ความร้อยแก้ว; คู่กับ คาถา 1.
       3. พุทธพจน์ที่เป็นคำร้อยแก้ว (ข้อ ๓ ในนวังคสัตถุศาสน์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 29
สงฆ์ หมู่, ชุมนุม
       1. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจาก ภิกขุสงฆ์ คือ หมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย ๒),
           ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์
       2. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็นสงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 29
สมบัติ ความถึงพร้อม, ความครบถ้วน, ความสมบูรณ์
       1. สิ่งที่ได้ที่ถึงด้วยดี, เงินทองของมีค่า, สิ่งที่มีอยู่ในสิทธิอำนาจของตน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์, สมบัติ ๓ ได้แก่
               มนุษยสมบัติ สมบัติในขั้นมนุษย์
               สวรรคสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (เทวสมบัติ หรือทิพยสมบัติ ก็เรียก) และ
               นิพพานสมบัติ สมบัติ คือนิพพาน
       2. ความครบถ้วนของสังฆกรรม เช่น อุปสมบท เป็นต้น ที่จะทำให้สังฆกรรมนั้นถูกต้อง ใช้ได้ มีผลสมบูรณ์ มี ๔ คือ
           ๑. วัตถุสมบัติ วัตถุถึงพร้อม เช่น ผู้อุปสมบทเป็นชายอายุครบ ๒๐ ปี
           ๒. ปริสสมบัติ บริษัทคือที่ประชุมถึงพร้อม สงฆ์ครบองค์กำหนด
           ๓. สีมาสมบัติ เขตชุมนุมถึงพร้อม
               เช่น สีมามีนิมิตถูกต้องตามพระวินัย และประชุมทำในเขตสีมา
           ๔. กรรมวาจาสมบัติ กรรมวาจาถึงพร้อม สวดประกาศถูกต้องครบถ้วน
               (ข้อ ๔ อาจแยกเป็น ๒ ข้อ คือเป็น
               ๔. ญัตติสมบัติ ญัตติถึงพร้อม คือคำเผดียงสงฆ์ถูกต้อง
               ๕. อนุสาวนาสมบัติ อนุสาวนาถึงพร้อมคำหารือตกลงถูกต้อง รวมเป็นสมบัติ ๕);
       เทียบ วิบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 29
สามัญลักษณะ
       1. ลักษณะที่เป็นสามัญ คือร่วมกันหรือเสมอกัน; คู่กับ ปัจจัตตลักษณะ
       2. ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง; ในความหมายนี้ ดู ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 29
องค์
       1. ส่วน, ภาค, ตัว, อวัยวะ, ลักษณะ, คุณสมบัติ, ส่วนประกอบ
       2. ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร นักบวชอื่นจากพวก และสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา
           เช่น พระพุทธรูป ๒ องค์ พระเจดีย์ ๔ องค์,
           สำหรับภิกษุสามเณร ในภาษาเขียนท่านให้ใช้ รูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 29
อธิการ
       1. เรื่อง, ตอน เช่น “ในอธิการนี้” หมายความว่า ในเรื่องนี้ ในตอนนี้
       2. อำนาจ, การปกครอง, บังคับบัญชา, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ, สิทธิ,
           เคยเรียกเจ้าอาวาสที่ไม่เป็นเปรียญและไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ และ
           เรียกเจ้าอาวาสเช่นนั้นที่เป็นเจ้าคณะตำบลว่า เจ้าอธิการ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 29
อธิโมกข์
       1. ความปลงใจ, ความตกลงใจ, ความปักใจในอารมณ์
       2. ความน้อมใจเชื่อ, ความซาบซึ้งศรัทธาหรือเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ซึ่งทำให้จิตใจเจิดจ้าหมดความเศร้าหมอง แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุผล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 29
อธิษฐาน
       1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ คือ ตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำตัวชนิดนั้นๆ
           เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน
           ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร,
           คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ”
           (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น)
       2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐),
           ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 29
อนุโลม
       1. เป็นไปตาม, คล้อยตาม, ตามลำดับ
           เช่น ว่าตจปัญจกรรมฐานไปตามลำดับอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
           ตรงข้ามกับ ปฏิโลม 1.
       2. สาวออกไปตามลำดับจากเหตุไปหาผลข้างหน้า
           เช่น อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี, สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เป็นต้น
           ตรงข้ามกับ ปฏิโลม 2.
       3. จัดเข้าได้, นับได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น อนุโลมมุสา


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=_2
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=_2


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]