ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ลก ”             ผลการค้นหาพบ  65  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 65
กรานกฐิน ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
       พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจตั้งแต่ ซัก กะตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้ เพื่ออนุโมทนา และภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน
       ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บย้อม ก็ไม่มี
       (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึง คือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง กรานกฐินก็คือขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง)
       เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 65
กาลกิริยา “การกระทำกาละ”, การตาย, มรณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 65
กุศลกรรม กรรมดี, กรรมที่เป็นกุศล, การกระทำที่ดี คือเกิดจากกุศลมูล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 65
กุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล,
       กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา
           ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
       เทียบ อกุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 65
คดีโลก ทางโลก, คติแห่งโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 65
จุลกาล ชื่อน้องชายของพระมหากาล ที่บวชตามพี่ชาย แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผล สึกเสียในระหว่าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 65
ชฎิลสามพี่น้อง ดู ชฎิลกัสสปะ

ชฎิลกัสสปะ กัสสปะสามพี่น้อง
       คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ผู้เป็นนักบวชประเภทชฎิล
       (ฤาษีกัสสปะสามพี่น้อง)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 65
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า,
       กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์
       คือ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส
       พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน
       เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กรรมฐานเบื้องต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 65
เทวโลก โลกของเทวดา,
       ที่อยู่ของเทวดา ได้แก่ สวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น คือ
           ๑. จาตุมมหาราชิกา
           ๒. ดาวดึงส์
           ๓. ยามา
           ๔. ดุสิต
           ๕. นิมมานรดี
           ๖. ปรนิมมิตวสวัตดี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 65
ธรรมคุ้มครองโลก ดู โลกบาลธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 65
ธรรมเป็นโลกบาล ๒ คือ
       ๑. หิริ ความละอายแก่ใจ
       ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป;
       ดู โลกบาลธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 65
นาคาวโลก การเหลียวมองอย่างพญาช้าง,
       มองอย่างช้างเหลียวหลัง คือ เหลียวดูโดยหันกายกลับมาทั้งหมด เป็นกิริยาของพระพุทธเจ้า;
       เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง ซึ่งทำกิริยาอย่างนั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 65
นาลกะ
       1. หลานชายของอสิตดาบส ออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง;
           ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย
       2. ชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่เกิดของพระสารีบุตรไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ บางทีเรียกนาลันทคาม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 65
ปัญจมหาวิโลกนะ ดู มหาวิโลกนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 65
พรหมโลก ที่อยู่ของพรหม
       ตามปกติหมายถึงรูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น (เรียกว่า รูปโลก) ตามลำดับดังนี้
           ๑. พรหมปาริสัชชา
           ๒. พรหมปุโรหิตา
           ๓. มหาพรหมา
           ๔. ปริตตาภา
           ๕. อัปปมาณาภา
           ๖. อาภัสสรา
           ๗. ปริตตสุภา
           ๘. อัปปมาณสุภา
           ๙. สุภกิณหา
           ๑๐. อสัญญีสัตตา
           ๑๑. เวหัปผลา
           ๑๒. อวิหา
           ๑๓. อตัปปา
           ๑๔. สุทัสสา
           ๑๕. สุทัสสี
           ๑๖. อกนิฏฐา;
       นอกจากนี้ยังมีอรูปพรหม ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น (เรียกว่า อรูปโลก) คือ
           ๑. อากาสานัญจายตนะ
           ๒. วิญญาณัญจายตนะ
           ๓. อากิญจัญญายตนะ
           ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 65
พหุลกรรม กรรมทำมาก หรือกรรมชิน
       ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่ทำบ่อยๆ จนเคยชิน ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เว้นครุกรรม
       เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาจิณณกรรม (ข้อ ๑๐ ในกรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 65
มนุษยโลก, มนุสสโลก โลกมนุษย์ คือ โลกที่เราอาศัยอยู่นี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 65
มหาวิโลกนะ “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”,
       ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ
       ๑. กาล คืออายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)
       ๒. ทีปะ คือทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป
       ๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงถิ่นแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงบังเกิด
       ๔. กุละ คือตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่า เวลานั้นโลกสมมติว่า ตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา
       ๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน
       (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 65
มัลลกษัตริย์ คณะกษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นมัลละ แบ่งเป็น ๒ พวก คณะหนึ่งปกครองที่นครกุสินารา อีกคณะหนึ่งปกครองที่นครปาวา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 65
ลกุณฏกภัททิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวัน มีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา
       ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล
       ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง
       แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่า ถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก
       ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 65
เลข คนสามัญ หรือชายฉกรรจ์ (พจนานุกรมเขียน เลก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 65
เลขวัด จำพวกคนที่ท่านผู้ปกครองแคว้นจัดให้มีสังกัดขึ้นวัด สงฆ์อาจใช้ทำงานในวัดได้ และไม่ต้องถูกเกณฑ์ทำงานในบ้านเมือง
       (พจนานุกรมเขียน เลกวัด)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 65
โลก แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย;
       โลก ๓ คือ
           ๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร
           ๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์
           ๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน;
       อีกนัยหนึ่ง
           ๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์
           ๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น
           ๓. พรหมโลก โลกของพระพรหม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 65
โลกธรรม ธรรมที่มีประจำโลก, ธรรมดาของโลก,
       ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก และสัตว์โลกก็เป็นไปตามมัน มี ๘ อย่าง
       คือ มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 65
โลกธาตุ แผ่นดิน; จักรวาลหนึ่งๆ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 65
โลกนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของโลก หมายถึง พระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 65
โลกบาล ผู้คุ้มครองโลก, ผู้เลี้ยงรักษาโลกให้ร่มเย็น, ท้าวโลกบาล ๔;
       ดู จาตุมหาราช

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 65
โลกบาลธรรม ธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย มี ๒ คือ
       ๑. หิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว
       ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 65
โลกวัชชะ อาบัติที่เป็นโทษทางโลก
       คือ คนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิดความเสียหาย
       เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น;
       บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 65
โลกวิทู ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรู้แจ้งสภาวะแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงทราบอัธยาศัยสันดานของสัตว์โลกที่เป็นไปต่างๆ ทำให้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้ผลดี
       (ข้อ ๕ ในพุทธคุณ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 65
โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก,
       ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลัง ตลอดกาลนาน;
       ดู พุทธจริยา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 65
โลกาธิปเตยยะ ดู โลกาธิปไตย

โลกาธิปไตย ความถือโลกเป็นใหญ่
       คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่า ของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า,
       พึงใช้แต่ในทางดีหรือในขอบเขตที่เป็นความดี คือ เคารพเสียงหมู่ชน
       (ข้อ ๒ ในอธิปไตย ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 65
โลกามิษ เหยื่อแห่งโลก, เครื่องล่อ ที่ล่อให้ติดอยู่ในโลก,
       เครื่องล่อใจให้ติดในโลก ได้แก่ ปัญจพิธกามคุณ
       คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ;
       โลกามิส ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 65
โลกิยะ, โลกีย์ เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร;
       คู่กับ โลกุตตระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 65
โลกิยฌาน ฌานโลกีย์, ฌานอันเป็นวิสัยของโลก, ฌานของผู้มีจิตยังไม่เป็นโลกุตตระ, ฌานที่ปุถุชนได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 65
โลกิยธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด;
       คู่กับ โลกุตตรธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 65
โลกิยวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกีย์ คือความพ้นอย่างโลกๆ ไม่เด็ดขาด ไม่สิ้นเชิง กิเลสและความทุกข์ยังกลับครอบงำได้อีก ได้แก่วิมุตติ ๒ อย่างแรกคือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ;
       ดู วิมุตติ, โลกุตตรวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 65
โลกียสุข ความสุขอย่างโลกีย์, ความสุขที่เป็นวิสัยของโลก, ความสุขที่ยังประกอบด้วยอาสวะ
       เช่น กามสุข มนุษยสุข ทิพยสุข ตลอดถึงฌานสุข และวิปัสสนาสุข

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 65
โลกุดร, โลกุตตระ โลกุตระ พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้ง ๓
       (พจนานุกรมเขียน โลกุตตร);
       คู่กับ โลกิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 65
โลกุตตมาจารย์ อาจารย์ผู้สูงสุดของโลก, อาจารย์ยอดเยี่ยมของโลก หมายถึงพระพุทธเจ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 65
โลกุตตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก
       มี ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑;
       คู่กับ โลกิยธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 65
โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่สัมปยุตด้วยโลกุตตรมรรค, ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก, ความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 65
โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้า
       (ข้อ ๔ ในภูมิ ๔ อีก ๓ ภูมิ คือ กามวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 65
โลกุตตรวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกุตตระ คือ ความหลุดพ้นที่เหนือวิสัยโลก ซึ่งกิเลสและความทุกข์ที่ละได้แล้ว ไม่กลับคืนมาอีก ไม่กลับกลาย
       ได้แก่ วิมุตติ ๓ อย่างหลัง คือ สมุจเฉทวิมุตติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ
       ดู วิมุตติ, โลกิยวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 65
โลกุตตรสุข, โลกุตรสุข ความสุขอย่างโลกุตตระ, ความสุขที่เหนือกว่าระดับของชาวโลก, ความสุขที่เหนือกว่าระดับของชาวโลก, ความสุขเนื่องด้วยมรรคผลนิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 65
โลกุตตราริยมรรคผล อริยมรรคและอริยผลที่พ้นวิสัยของโลก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 65
วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล, ทุกข์เกิดเพราะการทะเลาะกันเป็นเหตุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 65
สังขารโลก โลกคือสังขาร ได้แก่ชุมชนแห่งสังขารทั้งปวงอันต้องเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 65
สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 65
สิคาลมาตา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง
       เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เจริญวัยแล้ว แต่งงาน มีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกุมาร
       วันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส (คัมภีร์อปทานว่า ได้ฟังสิงคาลกสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุตรของนาง ซึ่งว่าด้วยเรื่องอบายมุข มิตรแท้ มิตรเทียม ทิศ ๖ เป็น และได้บรรลุโสดาปัตติผล) ขอบวชเป็นภิกษุณี
       ต่อมาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง นางคอยตั้งตาดูพระพุทธสิริสมบัติด้วยศรัทธาอันแรงกล้า พระพุทธองค์ทรงทราบกับอัธยาศัยของนาง นางส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต,
       สิคาลกมาตา หรือ สิงคาลมาตา ก็เรียก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 65
สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งในศีล (ข้อ ๖ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 65
อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, บาป,
       การกระทำที่ไม่ดี คือ เกิดจาก อกุศลมูล
       ดู กรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 65
อกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล,
       กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติบาต การทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาท พูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. พยาบาท คิดร้ายเขา
           ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม;
       เทียบ กุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 65
อเจลก ชีเปลือย, นักบวชไม่นุ่งผ้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 65
อเจลกวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับชีเปลือย เป็นต้น, เป็นชื่อหมวดอาบัติปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 65
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส พระสงฆ์เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของโลก
       เป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีอย่างสูงสุด
       เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกฝนอบรมตน และเป็นผู้เผยแพร่ธรรม
       ไทยธรรมที่ถวายแก่ท่าน ย่อมมีผลอำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและตลอดกาลยาวนาน
       เหมือนนามีพื้นดินอันดี พืชที่หว่านไปย่อมเผล็ดผลไพบูลย์
       (ข้อ ๙ ในสังฆคุณ ๙)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 65
อปโลกน์ บอกเล่า, การบอกเล่า, การบอกกล่าวแก่ที่ประชุมเพื่อให้รับทราบพร้อมกัน หรือขอความเห็นชอบร่วมกัน ในกิจบางอย่างของส่วนรวม,
       ใช้ใน อปโลกนกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 65
อปโลกนกรรม กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์
       ไม่ต้องตั้ง ญัตติ คือคำเผดียง
       ไม่ต้องสวด อนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์
       เช่น
           ประกาศลงพรหมทัณฑ์
           นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
           อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน
       เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 65
อาลกมันทา ราชธานีซึ่งเป็นทิพยนครของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 65
อาโลก แสงสว่าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 65
อาโลกกสิณ กสิณคือแสงสว่าง, การเจริญสมถกรรมฐานตั้งใจเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์
       (ข้อ ๙ ในกสิณ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 65
อาโลกเลณสถาน ชื่อถ้ำแห่งหนึ่งในมลยชนบท เกาะลังกา
       เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 65
อาโลกสัญญา ความสำคัญในแสงสว่าง, กำหนดหมายแสงสว่าง
       คือ ตั้งความกำหนดหมายว่า กลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เป็นวิธีแก้ง่วงอย่างหนึ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 65
อุรุเวลกัสสป พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ
       ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์ สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป
       ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องชายสองคน คนหนึ่งชื่อนทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อคยากัสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลจากอาศรมของพี่ชายใหญ่
       ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนท่านชฎิลใหญ่คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวก ขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด
       ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนา อาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัตทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดหนึ่งพันองค์
       พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัทใหญ่ คือ มีบริวารมาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 65
โอกาสโลก โลกอันกำหนดด้วยโอกาส, โลกอันมีในอวกาศ, โลกซึ่งเป็นโอกาสแก่สัตว์ทั้งหลายที่จะอยู่อาศัย, โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย, จักรวาฬ
       (ข้อ ๓ ในโลก ๓)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ลก
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C5%A1


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]