ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ิจ ”             ผลการค้นหาพบ  71  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 71
กาเมสุมิจฉาจาร ความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ความผิดประเวณี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 71
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม, เว้นการล่วงประเวณี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 71
กิจจญาณ ปรีชากำหนดรู้กิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง
       คือรู้ว่า
           ทุกข์ ควรกำหนดรู้
           สมุทัย ควรละ
           นิโรธ ควรทำให้แจ้ง
           มรรค ควรทำให้เจริญ คือควรปฏิบัติ
       (ข้อ ๒ ในญาณ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 71
กิจจาธิกรณ์ การงานเป็นอธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทำ หรือกิจธุระที่สงฆ์จะพึงทำ;
       อรรถกถาพระวินัยว่า หมายถึงกิจอันจะพึงทำด้วยประชุมสงฆ์ ได้แก่ สังฆกรรม ทั้ง ๔ คือ
       อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 71
กิจในอริยสัจ ข้อที่ต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง คือ
       ปริญญา กำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์
       ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย
       สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งหรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ
       ภาวนา การเจริญคือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 71
กิจเบื้องต้น ในการอุปสมบท หมายถึง ให้บรรพชา ถือนิสัย ถืออุปัชฌายะ จนถึงถามอันตรายิกธรรมในที่ประชุมสงฆ์
       (คำเดิมเป็น บุพกิจ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 71
ฌาปนกิจ กิจเผาศพ, การเผาศพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 71
ญัตติจตุตถกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 71
ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม ได้แก่วิธีอุปสมบทที่สงฆ์เป็นผู้กระทำอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยภิกษุประชุมครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้นเข้าหมู่ และได้รับความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุม เป็นสงฆ์นั้น;
       พระราธะ เป็นบุคคลแรกที่ได้รับอุปสมบทอย่างนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 71
ญาณจริต คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ
       (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธิจริต)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 71
ติจีวรวิปปวาส การอยู่ปราศจากไตรจีวร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 71
ติจีวรอวิปปวาส การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ดู ติจีวราวิปปวาส

ติจีวราวิปปวาส การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คือ ภิกษุอยู่ในแดนที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสแล้ว อยู่ห่างจากไตรจีวร ก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ ไม่ต้องอาบัติด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์สิกขาบทที่ ๒

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 71
ติจีวราวิปปวาสสีมา แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร สมมติแล้วภิกษุอยู่ห่างจากไตรจีวรในสีมานั้น ก็ไม่เป็นอันปราศ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 71
ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ ดู อภิณหปัจจเวกขณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 71
ธรรมวิจัย การเฟ้นธรรม; ดู ธัมมวิจยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 71
ธรรมวิจารณ์ การใคร่ครวญพิจารณาข้อธรรมต่างๆ ว่าแต่ละข้อมีอรรถ คือความหมายอย่างไร ตื้นลึกเพียงไร แล้วแสดงความคิดเห็นออกมาว่า ธรรมข้อนั้นข้อนี้มีอรรถ คือความหมายอย่างนั้นอย่างนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 71
ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม
       (ข้อ ๒ ในโพชฌงค์ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 71
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป,
       ญาณหยั่งรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามและรูป และกำหนดจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม
       (ข้อ ๑ ในญาณ ๑๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 71
นิจศีล ศีลที่พึงรักษาเป็นประจำ, ศีลประจำตัวของอุบาสกอุบาสิกา ได้แก่ ศีล ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 71
บริจาค สละให้, เสียสละ บัดนี้มักหมายเฉพาะการร่วมให้หรือการสละเพื่อการบุญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 71
บุพกิจ กิจอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น
       บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่
           ก่อนสวดปาฏิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
           นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา
           บอกฤดูนับภิกษุ
           ให้โอวาทนางภิกษุณี;
       บุพกิจแห่งการอุปสมบท มี
           การให้บรรพชา
           ขอนิสัย
           ถืออุปัชฌาย์
           จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์
       ดังนี้เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 71
ปฏิจจสมุปบาท สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้
       ๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
            เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
       ๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ
            เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
       ๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ
            เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
       ๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ
            เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนจึงมี
       ๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส
            เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
       ๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา
            เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
       ๗. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา
            เพราะเวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
       ๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ
            เพราะตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
       ๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว
            เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
       ๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ
            เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
       ๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ
            เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
        โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
            โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อม
        เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
            ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 71
ปฏิจฉันนปริวาส ปริวาสเพื่อครุกาบัติที่ปิดไว้, ปริวาสที่ภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ใช้เพื่ออาบัติที่ปิดไว้ ซึ่งนับวันได้เป็นจำนวนเดียว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 71
ปฏิจฉันนาบัติ อาบัติ (สังฆาทิเสส) ที่ภิกษุต้องแล้วปิดไว้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 71
ปฏิสนธิจิต, ปฏิสนธิจิตต์ จิตที่สืบต่อภพใหม่, จิตที่เกิดทีแรกในภพใหม่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 71
ปริจเฉท กำหนดตัด, ข้อความที่กำหนดไว้เป็นตอนๆ, ข้อความที่รวบรวมเอามาจัดเป็นหมวดๆ , บท, ตอน;
       การกำหนดแยก, การพิจารณาตัดแยกออกให้เห็นแต่ละส่วน
       (พจนานุกรมเขียน ปริเฉท)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 71
ปริจเฉทรูป รูปที่กำหนดเทศะ ได้แก่ อากาสธาตุ หรืออากาศ คือ ช่องว่าง เช่น ช่องว่างในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 71
ปัจฉิมกิจ ธุระที่พึงทำภายหลัง, กิจที่พึงทำตอนท้าย
       เช่น ปัจฉิมกิจแห่งอุปสมบทมี ๖ ได้แก่
           วัดเงาแดด,
           บอกประมาณแห่งฤดู,
           บอกส่วนแห่งวัน,
           บอกสังคีติ (บอกรวบหรือบอกประมวล เช่น วัดที่บวช อุปัชฌาย์ กรรมวาจาจารย์ และจำนวนสงฆ์ เป็นต้น)
           บอกนิสัย ๔ และบอกอกรณียกิจ ๔ (ที่รวมเรียกอนุศาสน์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 71
ปัญจมหาปริจาค ดู มหาบริจาค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 71
ปาริจริยานุตตริยะ การบำเรออันเยี่ยม
       ได้แก่ การบำรุงรับใช้พระตถาคตและตถาคตสาวกอันประเสริฐกว่า การที่จะบูชาไฟหรือบำรุงบำเรออย่างอื่น เพราะช่วยให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง
       (ข้อ ๕ ในอนุตตริยะ ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 71
พุทธกิจ กิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ, การงานที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 71
พุทธกิจประจำวัน ๕ พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวัน มี ๕ อย่าง คือ
       ๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ
               เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
       ๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
               เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
       ๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ
               เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
       ๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
               เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
       ๕. ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
               จวนสว่าง ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
       (สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว
               พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 71
พุทธกิจ ๔๕ พรรษา ในระหว่างเวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกต ดังนี้
       พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (โปรดพระเบญจวัคคีย์)
       พ.๒-๓-๔ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน พรรษาที่ ๓ น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
       พ.๕ กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพุทธบิดาปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์ โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี มหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)
       พ.๖ มกุลบรรพต (ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)
       พ.๗ ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)
       พ.๘ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมาคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดาและนกุลมารดา)
       พ.๙ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
       พ.๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
       พ.๑๑ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
       พ.๑๒ เมืองเวรัญชา
       พ.๑๓ จาลิยบรรพต
       พ.๑๔ พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทคราวนี้)
       พ.๑๕ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์
       พ.๑๖ เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)
       พ.๑๗ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์
       พ.๑๘-๑๙ จาลิยบรรพต
       พ.๒๐ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลิมาล, พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ)
       พ.๒๑-๔๔ ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม พระนครสาวัตถี (รวมทั้งคราวก่อนนี้ด้วย อรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวนาราม ๑๙ พรรษา ณ บุพพาราม ๖ พรรษา)
       พ.๔๕ เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 71
พุทธิจริต พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ
       (ข้อ ๕ ในจริต ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 71
ภัตกิจ การบริโภคอาหาร เดิมเขียน ภัตตกิจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 71
มหาบริจาค การสละอย่างใหญ่ของพระโพธิสัตว์ตามที่อรรถกถาแสดงไว้มี ๕ อย่างคือ
       ๑. ธนบริจาค สละทรัพย์สมบัติเป็นทาน
       ๒. อังคบริจาค สละอวัยวะเป็นทาน
       ๓. ชีวิตบริจาค สละชีวิตเป็นทาน
       ๔. บุตรบริจาค สละลูกเป็นทาน
       ๕. ทารบริจาค สละเมียเป็นทาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 71
มิจฉัตตะ ความเป็นผิด, ภาวะที่ผิดมี ๑๐ อย่าง คือ
       ๑. มิจฉาทิฏฐิ
       ๒. มิจฉาสังกัปปะ
       ๓. มิจฉาวาจา
       ๔. มิจฉากัมมันตะ
       ๕. มิจฉาอาชีวะ
       ๖. มิจฉาวายามะ
       ๗. มิจฉาสติ
       ๘. มิจฉาสมาธิ
       ๙. มิจฉาญาณ
       ๑๐. มิจฉาวิมุตติ;
       ตรงข้ามกับ สัมมัตตะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 71
มิจฉา ผิด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 71
มิจฉากัมมันตะ ทำการผิด ได้แก่กายทุจริต ๓ คือ
       ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
       ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
       ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
       (ข้อ ๔ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 71
มิจฉาจริยา, มิจฉาจาร ความประพฤติผิด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 71
มิจฉาชีพ การหาเลี้ยงชีพในทางผิด;
       ดู มิจฉาอาชีวะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 71
มิจฉาญาณ รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ
       (ข้อ ๙ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 71
มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
       (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฐิ);
       (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 71
มิจฉาวณิชชา การค้าขายไม่ชอบธรรม, การค้าขายที่ผิดศีลธรรม
       หมายถึง อกรณียวณิชชา (การค้าขายที่ อุบาสกไม่ควรทำ) ๕ อย่าง คือ
           ๑. สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ
           ๒. สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์
           ๓. มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร
           ๔. มัชชวณิชชา ค้าของเมา
           ๕. วิสวณิชชา ค้ายาพิษ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 71
มิจฉาวาจา วาจาผิด, เจรจาผิด ได้แก่
       ๑. มุสาวาท พูดปด
       ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
       ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
       ๔. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
       (ข้อ ๓ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 71
มิจฉาวายามะ พยายามผิด ได้แก่ พยายามทำบาป พยายามทำอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เป็นต้น
       (ข้อ ๖ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 71
มิจฉาวิมุตติ พ้นผิด เช่นการระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลสนั้นดี แต่การระงับเพราะกลัวอำนาจพระเจ้าสร้างโลกนั้น ผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง
       (ข้อ ๑๐ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 71
มิจฉาสติ ระลึกผิด ได้แก่ ระลึกถึงการอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ
       (ข้อ ๗ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 71
มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด ได้แก่ จดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น
       (ข้อ ๘ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 71
มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด ได้แก่ ดำริแส่ไปในกาม ดำริพยาบาท ดำริเบียดเบียนเขา
       (ข้อ ๒ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 71
มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น
       (ข้อ ๕ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 71
รูปวิจาร ความตรองในรูป เกิดต่อจากรูปวิตก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 71
ลิจฉวี กษัตริย์ที่ปกครองแคว้นวัชชี; ดู วัชชี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 71
วัฑฒลิจฉวี เจ้าลิจฉวีชื่อว่าวัฑฒะ ถูกพระเมตติยะ และพระภุมมชกะเสี้ยมสอนให้ทำการโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปฐมปาราชิก เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติการลงโทษคว่ำบาตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 71
วิจาร ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การตามฟั้นอารมณ์
       (ข้อ ๒ ในองค์ฌาน ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 71
วิจารณ์
       1. พิจารณา, ไตร่ตรอง
       2. สอบสวน, ตรวจตรา
       3. คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ
       4. ในภาษาไทย มักหมายถึง ติชม, แสดงความคิดเห็นในเชิงตัดสินคุณค่า ชี้ข้อดีข้อด้อย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 71
วิจารณญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 71
วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน
       (ข้อ ๕ ในนิวรณ์ ๕, ข้อ ๕ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ ๔ ในอนุสัย ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 71
วิจิตร งาม, งดงาม, แปลก, ตระการ, หรู, แพรวพราว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 71
วินิจฉัย ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, ชี้ขาด, ตัดสิน, ชำระความ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 71
สเตกิจฉา อาบัติที่ยังพอเยียวยาหรือแก้ไขได้
       ได้แก่ อาบัติอย่างกลางและอย่างเบา คือตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา;
       คู่กับ อเตกิจฉา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 71
อเตกิจฉา แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้
       หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ อาบัติปาราชิก;
       คู่กับ สเตกิจฉา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 71
อธิจิตตสิกขา การศึกษาในอธิจิตต์, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตต์ เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมจิตในให้เข้มแข็งมั่นคงมีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เหมาะแก่การใช้ความคิดพิจารณา เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา
       (ข้อ ๒ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา)
       เรียกกันง่ายๆ ว่า สมาธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 71
อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง, ภาวะที่สังขารทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่คงที่
       (ข้อ ๑ ในไตรลักษณ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 71
อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ,
       ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
           ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
           ๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
           ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
           ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว;
       ดู ทุกขลักษณะ, อนัตตลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 71
อนิจจสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
       (ข้อ ๑ ในสัญญา ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 71
อนิจจัง ไม่เที่ยง, ไม่คงที่, สภาพที่เกิดมีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป;
       ดู อนิจจลักษณะ, ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 71
อนุศาสน์ การสอน, คำชี้แจง;
       คำสอนที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ ในเวลาอุปสมบทเสร็จ
       ประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔
       นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่
           ๑. เที่ยวบิณฑบาต
           ๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
           ๓. อยู่โคนไม้
           ๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
           (ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย ๔ พร้อมทั้งอติเรกลาภของภิกษุ)
       อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึง กิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่
           ๑. เสพเมถุน
           ๒. ลักของเขา
           ๓. ฆ่าสัตว์ (ที่ให้ขาดจากความเป็นภิกษุ หมายเอาฆ่ามนุษย์)
           ๔. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 71
อปฏิจฉันนาบัติ อาบัติ (สังฆาทิเสส) ที่ภิกษุต้องแล้วไม่ได้ปิดไว้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 71
อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย หรือมักน้อย
       (ข้อ ๑ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 71
อิจฉา ความปรารถนา, ความอยากได้;
       ไทยมักใช้ในความหมายว่า ริษยา


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ิจ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D4%A8


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]