ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
มัจจุปาสามุตติกปัญหา ที่ ๔
             ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินทาธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามปัญหาอื่นสืบไปเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ภาสิตํ เจตํ ภควตา สมเด็จพระภควันตบพิตร พิชิตมารมีพระพุทธฎีกาโปรดประทานไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายจะเร้นซ่อนตนอยู่ในที่ใด นปฺปสเหยฺย มจฺจุ พระยามัจจุราชจะมิได้ครอบงำย่ำยีสัตว์ที่ในประเทศที่นั้นไม่มีเลย ถึงมาตรว่าจะเสวย ทิพยสมบัติมโหฬาร มีทิพยวิมานลอยอยู่ในอากาศก็ดี หรือว่าจะเช้าอยู่ในสมุทรสาคร กระแสสินธุ์ หรือจะชำแรกแทรกลงไปอยู่ใต้แผ่นดินก็ดี จะหนีอยู่ในที่ใดๆ ก็ดี ที่จะได้พ้น จากบ่วงแห่งมัจจุราชหามิได้ อนึ่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสาดจารย์มีพระพุทธบรรหาร ตรัสว่า บุคคลจำเริญพระปริตรนั้นแล จะพ้นจากบ่วงแห่งมัจจุราชได้ พระปริตรนั้นคือสิ่งไร อ๋อ ได้แก่ขันธปริตร ๑ สุวัตถิปริตร ๑ โมรปรเตร ๑ ธชัคคปริตร ๑ อาฏานาฎิยปริตร ๑ บุคคล จำเริญพระปริตรเหล่านี้ อาจกันภัยแต่มัจจุราชได้ นี่แล ถ้าโยมจะเชื่อเอาคำนี้เป็นขาด คำเดิม ที่ว่าจะสถิตอยู่ในที่ใดๆ ไม่พ้นพระยามัจจุราชนั้นก็ผิด แม้นจะเชื่อถือเอาคำที่พระองค์ตรัสว่า บุคคลสถิตอยู่ในที่ใดๆ ไม่พ้นพระยามัจจุราช คำที่ว่าบุคคลจำเริญพระปริตรจะพ้นจากบ่วง แห่งมัจจุราช ก็จะผิด อยํ ปญฺโห ปริศนานี้เป็นอุภโตโกฏิ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าโปรดวินิจฉัยให้ สิ้นสงสัยก่อน คณฺฑิกตโร เหลือที่จะคิดผันผ่อนร้อยกรองข้องขัดอยู่ ตฺวานุปฺปตฺโต มาถึงพระ ผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงวิสัชนาแก้ไขในกาลบัดนี้              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระ บรมโลกนาถศาสดาจารย์ มีพระพุทธฏีกาโปรดประทานไว้ด้วยบาทพระคาถาฉะนี้ว่า                           น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ                           น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส                           น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส                           ยตฺรฏฺฐิตํ นปฺปสเหยฺย มจฺจุ ดังนี้              อธิบายความตามกระแสพระพุทธฎีกาตรัสว่า บุคคลที่มีฤทธาศักดาเดช อาจเหาะ ระเห็ดไปอยู่ในอากาศ อันปราศจากที่ดำเนินได้ก็ดี และจะกระทำฤทธิ์ไปอยู่ในท่ามกลาง มหาสมุทรสาคร และจะไปอยู่ในช่องปล่องสิงขรคิรีก็ดี หรือว่าจะอยู่ที่พื้นปฐพีที่ไหนๆ ก็ดี นปฺปสเหยฺย มจฺจุ ที่พระยามัจจุราชจะไม่ครอบงำนั้นหามิได้ โส ชคติปฺปเทโส อันว่า ประเทศที่แผ่นดินและอากาศเป็นต้นนั้น ที่จะได้พ้นจากอำนาจแห่งพระยามัจจุราชไปนั้นหา อุทฺทิฏฺฐา จ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัสประทานไว้ เพื่อจะให้ป้องกันมัจจุราช แต่บุคคลที่ อยู่ในปฐมวัยมีอายุพอจะสืบต่อไปได้ มีกรรมเครื่องห้ามปราศจากสันดานแล้วจะจำเริญพระ ปริตรไม่ให้สิ้นอายุเลยนั้นไม่ได้ คงจะตายแล แต่ทว่าคอยกันพระยามัจจุราชให้ช้าอยู่ เพื่อให้ อายุยืนไปแต่กระนี้ได้อยู่ บพิตรพระราชสมภาร ถ้าว่าถึงกาลกำหนดสิ้นอายุแล้ว ถึงจะพากเพียร จำเริญภาวนาอย่างไรก็คงจะไม่ฟัง เปรียบดุจดังต้นไม้อันตายแล้ว สุกฺกสฺส โกลาปกฺกสฺส มี ลำให้เป็นโพรงภายในแห้งผากไป หายางหาเยื่อที่จะรักษามิได้ อุปฺปรุนฺธชีวิตสฺส มีชีวิตขาเด็ด ไม่อาจที่จะจำเริญวัฒนาการเป็นไปได้ คตายุขยสฺส ถึงความสิ้นอายุแล้ว ปติตเผคฺคุตสฺส มี ใบและสะเก็ดในลำต้นนั้นเหี่ยวแห้งร่วงหล่นไป ถึงมาตรแม้ว่าผู้ใดมีใจปรารถนาจะให้ต้นไม้นั้น คืนคงดำรงเป็นขึ้นได้ จะเอาน้ำมารดลงให้หนักสักร้อยหม้อพันหม้อ ก็บ่ห่อนที่จะแตกหน่อ คลี่ใบผลิอกขึ้นมาได้ ปลวํ หริตภาโว ที่ว่าแตกใบอ่อนเขียวชื่นคืนเป็นขึ้นมานั้นมานั้น หามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด บุคคลถึงแก่อายุขัยสิ้นอายุแล้ว ถึงว่าจะมียาวิเศษและแพทย์จะตั้งใจเยียวยา รักษาประการใดๆ ก็ดี ก็มิอาจให้มีอายุสืบไปได้เป็นอันขาด มหาราช ดูกรบพิตรพระราช- สมภาร ยาประการใดขนานไหน ที่เคยเชื่อถือมา ถ้าคนสิ้นอายุแล้ว รักษาเยียวยาไว้ไม่ได้ พระปริตรก็เหมือนกัน คนที่สิ้นอายุแล้วก็ช่วยไม่ได้ ถึงจะสอดให้มากสักปานใด ก็ไม่สามารถจะ ป้องกันชีวิตคนที่มีอายุสิ้นแล้ว ให้อยู่ต่อไปอีกได้เลย มหาราช ขอถวายพระพร ยาและ พระปริตรทั้งหลายนี้มีไว้ป้องกันรักษาคนที่ยังไม่ถึงแก่กรรมและคนที่ยังไม่สิ้นอายุเท่านั้น จะเปรียบ ฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจชาวนา เมื่อ ต้นข้าวสุก ถึงจะวิดน้ำในห้วยหนองคลองใหญ่เข้าไปในที่นาปิดขังเอาไว้สักเท่าใดก็ดี ต้นข้าวนั้นจะเจริญดีหามิได้ แต่ข้าวที่มีต้นอ่อนนั้น ครั้นได้น้ำเลี้ยงต้นชุ่มชื่น ข้าวก็มีสีสัน เขียวชอุ่มงามมีสีอุปมานี้ฉันใด ได้แก่คนที่มีอายุสิ้นแล้วจะให้กินยาและสวดปริตรเท่าใด ก็ไม่ สามารถจะมีอายุอยู่ต่อไปได้ เหมือนต้นข้าวที่รวงแก่แล้ว ถึงจะปิดน้ำเลี้ยงไว้ให้รักษาอยู่ ก็ คงจะมีเมล็ดและรวงนั้นร่วงไป ด้วยเหตุว่าต้นข้าวนั้นแก่แล้วก็ไม่อาจที่จะจำเริญไปอีกได้ อนึ่ง มนุษย์ที่มีอายุและวัยยังจำจำเริญไปอีกนั้น แม้เจ็บไข้ ถ้าได้สวดพระปริตรหรือกินยาแต่น้อย ก็ จะหาย คลายขึ้นจำเริญสืบต่อไปได้ อุปไมยเหมือนต้นข้าวอันอ่อนนั้น ครั้นต้องน้ำขังเลี้ยง ต้นอยู่แต่เล็กน้อย ก็พลอยจำเริญงามดีมีสีเขียวชอุ่ม นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ถ้าว่าคนสิ้นอายุแล้วเอายาให้กินก็ตาย สวดพระปริตรก็ไม่หาย ผิ ฉะนั้น ยาและพระปริตรนี้มิหาประโยชน์มิได้หรือ พระผู้เป็นเจ้า เพราะใครเป็นก็เป็นไป ใครถึง ความตายก็ตายไปตามธรรมดา ยาและพระปริตรหาช่วยชีวิตใครไม่ได้              พระนาคเสนจึงถวายพระพรแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ได้เคย ทัศนาการเห็นบ้างหรือ แต่ก่อนมาบุคคลเป็นโรคสิ่งใดแล้วก็หายไปด้วยบริโภคยา นะ บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต ข้าแต่พระ ผู้เป็นเจ้า คนกินยาหายโรคมานี้ โยมเคยเห็นมาหลายร้อยนักหนา พระนาคเสนจึงว่า ถ้ากระนั้น บพิตรพระราชสมภาร ที่บพิตรพระปริตรและยาหา ประโยชน์มิได้นั้น คำนี้ผิดไป คนกินยาหายโรคมากกว่าร้อย ที่กินยาหายนั้นบพิตรก็เห็นอยู่ฉะนี้ มิใช่หรือ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า คนที่ว่าหายโรคด้วยความ เพียร แพทย์เข้าประกอบยารักษานั้นโยมเห็นประจักษ์แล้ว              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถามว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ได้เคยทรง พระสวนาการฟังเขาว่ามาแต่ก่อนบ้างหรือไม่ว่า คนที่สวดพระปริตรเสียงแจ้วๆ จนสิ้นแห้ง หัวใจเพลีย คอแหบ แต่โรคาพยาธิและอันตรายทั้งหลายสงบหายเสื่อมคลายไปด้วยอำนาจ คุณพระปริตรที่สวดนั้น ประการหนึ่งเล่า บพิตรเคยทอดพระเนตรเห็นบ้างหรือไม่ คนที่ถูก อสรพิษขบกัดแล้ว ผู้มีวิชาทรงพระปริตรมาเป่าปัดกำจัดพิษนั้นให้เสื่อมหาย รอดพ้นจาก ความตาย ได้ชีวิตกลับคืนมา โดยหาอันตรายมิได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์จึงตรัสว่า โยมได้ยินอยู่ บุคคลที่งูขบนั้น หมอเขา เป่ามนต์พ่นน้ำกำจัดพิษให้หาย เป็นคำแต่ก่อนเล่ากันมาในโลกตราบเท่าทุกวันนี้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ก็เมื่อมีอย่างมา แต่โบราณเช่นนี้ จะว่าพระปริตรและยาไม่เป็นประโยชน์อย่างไร ประการหนึ่ง ผู้ใดปรนนิบัติ จำเริญพระปริตรอยู่ ถึงจะเอางูให้ขบ งูก็ซบศีรษะไปไม่กล้าอ้าปากขบกัดได้ ถึงโจรทั้งหลาย เงือดเงื้อกระบองจะตีก็ตีไม่ลง ถึงจะไสข้างซับมันไปให้แทงก็แทงไม่ได้ ถึงไฟจะลุกเป็นเปลวอยู่ก็ดี ก็มิอาจไหม้ได้ ถึงจะบริโภคยาพิษเข้าไปไม่ตาย ถึงคนทั้งหลายจะปองร้ายคอยที่จะฆ่า ครั้นเห็น หน้าเข้าแล้ว ก็ยอมตัวเป็นทาสมิอาจจะฆ่า ถึงว่าจะเหยียบบ่วง ก็ไม่ติดบ่วง บ่วงก็ไม่รูด มหา- ราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ได้ทรงพระสวนการคำเขาว่ามาแต่ก่อนบ้างหรือ ประการใด ในเรื่องราวนั้นว่า ยังมีพระยานกยูงตัวหนึ่ง ตั้งใจจำเริญซึ่งพระปริตรรักษา อาตมา พรานป่าเพียรพยายามดักอยู่ถึงร้อยปี ก็หาได้ตัวไม่ ครั้นมาพระยานกยูงประมาทลืม หลงไป ไม่ได้เจริญพระปริตรวันเดียวเท่านั้นก็ติดบ่วงของนายพราน              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการรับคำว่า อาม ภนฺเต เออพระ ผู้เป็นเจ้า โยมได้ฟังอยู่ นิทานนี้ระบือลือชาไปในมนุษย์ตลอดจนที่สุดเทวโลก              พระนาคเสนจึงเถรวาจาว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ได้ทรงพระสวนาการฟังบ้าง ผู้เป็นเจ้า โยมได้ฟังอยู่ นิทานนี้ระบือลือชาไปในมนุษย์ตลอดจนที่สุดเทวโลก              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ได้ทรงพระสวนาการฟังบ้าง หรือประการใด แต่ก่อนมีมาในเรื่องราวว่า ยังมีทานพบุตรอสูรผู้หนึ่ง รักษาซึ่งภริยาของอาต- มาให้ภริยาลงอยู่ในผอบใหญ่แล้ว กลืนผอบนั้นเข้าไปรักษาไว้ในท้องของตน อถ วิชฺชาธโร ปางนั้นยังมีวิชาธรคนหนึ่ง จึงเข้าไปในปากของทานพออสูรนั้นแล้ว ก็สมัครสังวาสด้วยภริยาของ ทานพอสูรนั้น ครั้นทานพอสูรนั้นคำนึงถึงภริยา ก็คายผอบออกมาจากปาก เปิดฝาผอบขึ้น ด้วยเร็วพลัน ฝ่ายวิชาธรนั้นก็เหาะร่อนหนีขึ้นไป ยถา กมฺมํ ตามปรารถนาของอาตมา นี่แหละ นิทานนี้มาแต่โบราณ บพิตรเคยสดับหรือไม่              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการรับคำพระนาคเสนว่า นิทานนี้ โยมก็ฟังพระผู้เป็นเจ้า เขาเล่าลืออื้ออึงอยู่ทั้งมนุษยโลกและเทวโลก เล่ากับสืบๆ มา              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ผู้ ทรงพระราชสวัสดิสถาพร ตกว่าวิชาธรนั้น ทานพอสูรจับกุมไม่ได้ นี่มิอาศัยจำเริญพระปริตร หรือ พระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต กระนั้นสินะ พระผู้เป็นเจ้า เป็นด้วยกำลังพระปริตรไม่ผิดเลย              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เตนหิ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ถ้ากระนั้นกำลังคุณแห่งพระปริตรนี้มีมั่นคงอย่าได้สงกา สุตํ ปน ตยา ยังมีนิทานหนึ่งเล่า มีมา แต่กาลก่อน บพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ฟังอยู่หรือ ว่า เอโก วิชฺชาธโร ยังมีวิชาธรผู้หนึ่ง ไปลอบลักพิศวาสด้วยพระมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีจะจับก็จับไม่ได้ ขณะ เดียวก็เหาะไปด้วยกำลังมนต์อันเชี่ยวชาญ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการรับคำพระนาคเสนว่า อาม ภนฺเต เออพระผู้เป็นเจ้า นิทานนี้โยมได้ยินเล่ามา              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพร วิชาธรนี้เขาหนีได้จากการ จับนั้น ด้วยกำลังมนต์อันเป็นพระปริตรนั้นมิใช่หรือ พระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า กระนั้นสิ พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เตนหิ มหาราช ขอถวายพระพร ถ้ากระนั้นพระปริตร นี้ก็ มีกำลังกล้าหาญนักหนา              พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรจึงพระราชโองการถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ นาคเสนผู้ปรีชา สพฺเพ ปริตฺตานิ รกฺขนฺติ พระปริตรนั้น รักษาประชาชนคนทั้งหลาย ทั่วทุกตัวคนหรือ หรือว่าเป็นบางพวก              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เอกจฺเจ มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระปริตรนี้จะได้รักษาประชาชนทั่วทุกตัวคนหามิได้ รักษาเป็นบางพวก ไม่รักษาเป็นบางพวก ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ถ้าเช่นนั้นพระปริตรบ่มิได้รักษา คนทั้งปวงได้ทุกตัวคนหรือ              พระนาคเสนจึงถวายพระพรถามว่า มหาราช ขอถวายพระพร โภชนาหารรักษาชีวิต สัตว์ไปทั่งตัวหรือ พระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสแก้ว่า ภนฺเต ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชา คนบางจำพวกเล่าอาหารรักษาซึ่งชีวิตได้ บางจำพวกรักษาไม่ได้              พระนาคเสนจึงถามต่อไปว่า กึการณา เป็นเหตุไฉน              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสแก้ไขว่า ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา คนทั้งหลาย บางเหล่าบริโภคอาหารเหลือขนาด เตโชธาตุบ่อาจเผาผลาญ ก็จะแน่นจุกเสียด ถึงมรณ- กาลความตาย              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพร ถ้าว่าคนกินอาหารเข้าไป เกินขนาดแล้วล้มตาย อาหารก็รักษาชีวิตสัตว์ทั้งปวงไม่ได้นะซี พระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา โภชนาหารจะรักษาชีวิตสัตว์บ่มิได้ด้วยเหตุสองประการ คือบริโภคอาหาร มากเหลือขนาดประการ ๑ ธาตุไฟหย่อนไม่อาจย่อยได้ประการ ๑ โภชนาหารเป็นของเลี้ยง ชีวิตสัตว์ แต่เพราะเหตุที่สัตว์ทำไม่ดี ไม่รู้จักบริโภคให้พอสมควร และไม่รู้จักผันผ่อนให้ เหมาะแก่กำลังของตน จึงกลายเป็นเครื่องทอนชีวิตสัตว์ไป              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพร พระปริตรก็เหมือนกันกับ โภชนาหาร บางทีก็รักษาได้ บางทีก็รักษาได้ และพระปริตรนี้จะช่วยไม่ได้ด้วยเหตุ ๓ ประการคือเป็นกัมมาวารณ์กำลังกรรมแรงนั้นกั้นไว้ประการ ๑ คือ เป็นกิเลสาวรณ์ กิเลสบังเกิด ขึ้นในขันธสันดาน เช่น โมราชปักษาพระยานกยูงทองอันหมองอันนางนกยูงนั้น ก็กั้นไว้ มิให้จำเริญพระปริตรได้ประการ ๑ คือบุคคลผู้จำเริญพระปริตรนั้นจิตไม่เชื่อบ่นเพ้อไปแต่ปาก ประการ ๑ สิริเป็นเหตุ ๓ ประการฉะนี้ เหตุดังนั้น อันว่าพระปริตรนี้เป็นเครื่องป้องกันรักษาบุคคล แต่เพราะเหตุที่บุคคลมีเครื่องกั้นดังกล่าวมานนี้ติดตัวอยู่จึงละเสียหารักษาไม่ ยถา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบดุจมารดาอันเลี้ยงบุตร เดิมก็ถนอมกล่อมเกลี้ยง เลี้ยงบุตรของอาตมา สู้ทนทุกขเวทนาบริหารมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ครั้นบุตรอดคลอดออกมา แล้ว มารดานั้นก็อุตสาหะเลี้ยงรักษาฟูมมูตรฟูมคูถ สู้เช็ดเสลดน้ำลายมิให้เปอะเปื้อนมอมแมม แล้วก็ทาขมิ้นดินสอพองน้ำอบเครื่องหอมต่างๆ อย่างดีๆ จนบุตรโตใหญ่ยืดมา ครั้นบุตรนั้น วัฒนาการจำเริญขึ้นแล้วไม่เชื่อฟังคำมารดาสั่งสอน ดุร้าย หยาบช้าไป ด่าว่า ประหารทุบตี บุตรท่านผู้อื่นเข้า เขาจึงจับตัวฉุดคร่าพามาหาท่านที่เป็นนายบ้าน และท่านที่เป็นใหญ่เป็นประ- ธานผู้มีหน้าที่ เป็นพนักงานปกครองดูทุกข์และสุขของชาวบ้านนั้น ครั้นพิจารณาไป ก็เห็นว่า บุตรนั้นมีโทษกระทำผิดเพราะไปด่าว่าทุบตีเขา ท่านนายบ้านั้นก็ให้ฉุดคร่าบุตรนั้น ไปเบียด เบียนเฆี่ยนตีด้วยท่อนไม้และศอกเข่า ตามพระราชกำหนดกฎหมายโดยสมควรแก่ความผิด มารดาของบุตรนั้นจะเข้าไปขัดขวางต่อนายบ้านผู้ลงโทษแก่บุตรนั้น ได้อยู่หรือประการใดนะ บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต จะอย่างนั้นหามิได้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เหตุประการใดเล่า              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้ ปรีชา บุตรนั้นต้องโทษด้วยกรรมอันด่าตีเขา เป็นผู้มีความผิดใครจะช่วยได้              พระนาคเสนจึงว่า ฉันใดก็ดี ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระปริตรนี้เหมือนกันเป็น เครื่องป้องกันรักษาบุคคล แต่ป้องกันรักษาไว้ไม่ได้ เพราะบุคคลนั้นมีความผิด เป็นโทษ ห้าม กันเสียไม่ให้ช่วยได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ก็ทรงซ้องสาธุการว่า สาธุ สาธุ ดังข้าพเจ้าชม ปัญญา สุวินิจฺฉิโต พระผู้เป็นเจ้านี้ช่างพิพากษา บรรดาที่ว่าจะสงสัย พระผู้เป็นเจ้าก็กระทำ มิให้สงสัย อนฺธกาโร บรรดาโลกจะตามืดไป อาโลโก กุโต พระผู้เป็นเจ้ากระทำให้ตานั้น สว่างทั่วกระจ่างแจ่มใส วินิเวตฺถิตํ พระผู้เป็นเจ้ามาคลี่คลายเสียซึ่งข่าย คือทิฏฐิ พระผู้เป็นเจ้านี้ มีปัญญาประเสริฐกว่าเจ้าหมู่เจ้าคณะทั้งหลาย เป็นผู้อุดมเลิศ หาผู้ใดจะเปรียบไม่ได้ ในกาลบัดนี้
มัจจุปาสามุตติกปัญหา คำรบ ๔ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๔๘ - ๒๕๔. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=108              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_108

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]