ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ภควโต ลาภันตรายปัญหา ที่ ๕
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามพระนาคเสนว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา พระผู้เป็นเจ้าว่า สมเด็จพระศาสาดจารย์เจ้าของเรานี้ ประกอบด้วยลาภที่จะได้จตุปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ปัจจัยทั้ง ๔ ประการนี้ ว่าฉะนี้แล้ว ปุน จ มาอีกเล่า พระผู้เป็นเจ้า ครั้งเมื่อพระศรีสุคตเข้าไป บิณฑบาตที่บ้านปัญจสาลพราหมณ์นั้น หามได้จังหันบิณฑบาตไม่ เสด็จทรงบาตรเปล่าออกมา นี่แลถ้าสมเด็จพระศรีสุคตทศพลญาณไม่ขาดลาภสักการะ ควรจะได้จตุปัจจัย ๔ แล้ว คำที่ ว่าสมเด็จพระศรีสุคตทศพลญาณ เสด็จโคจรเข้าไปสู่บ้านปัญจสาลพราหมณ์ เพื่อจะบิณฑบาต ไม่ได้จังหันเสด็จกลับบาตรเปล่ามา มิจฺฉา คำที่ว่านี้ผิด ถ้าจะถือเอาคำที่ว่าสมเด็จพระมหา กรุณาเจ้า เข้าไปโคจรบิณฑบาตในบ้านปัญจสาลพราหมณ์ไม่ได้อาหารบิณฑบาต เสด็จกลับ ก็ผิด อยํ ปญฺโห อันว่าปัญหานี้ สุมหนฺโต ใหญ่ก็ดี ทุนฺนิโพโธ จะนำคำอุปมาเข้ามาให้รู้ เป็นอันยาก อุภโต โกฏิโก เป็นสองเงื่อนอยู่ นิมนต์โปรดวิสัชนาให้สิ้นวิมัติกังขาของโยมก่อน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระทศพลญาณเจ้า ลาภี มีปรกติควรจะได้ลาภสักการะจตุปัจจัยทั้ง ๔ มิได้รู้ขาด และ วันเมื่อสมเด็จพระบรมโลกนาถเสด็จเข้าไปทรงบาตรในบ้านปัญจสาลพราหมณ์ ไม่ได้ซึ่ง อาหารบิณฑบาต เสด็จทรงบาตรเปล่ามานั้น เป็นเหตุด้วยพระยามารกระทำ พระยามารนั้นมี ใจริษยาสามานย์              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการถามว่า ถ้าว่ามารยังกระทำผจญ กุศลได้ กุศลบารมีที่พระองค์สร้างมาจะคณนาบ่มิได้ในกัลป์อันล่วงไปแล้ว จะมิยังหาสำเร็จไม่ เช่นนั้นหรือ              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพร กุศลพระทศพลสร้างมา จะไม่สำเร็จนั้นหาบ่มิได้ มารนั้นมาเบียดเบียนด้วยกำลังใจอกุศลกล้าหาญ              พระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าว่าฉะนี้ คำติเตียนก็จะมี มาสองประการ ว่าอกุศลกล้ากว่ากุศล ด้วยว่าพระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายกุศล มารเป็นฝ่ายข้าง อกุศลประการหนึ่ง ติเตียนว่า สมเด็จพระพุทธนี้ มีกำลังน้อยกว่ามาร มารมีกำลังมากกว่า พระพุทธเจ้า คำติเตียนทั้งสองว่า พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขให้แจ้งก่อน ปลายไม้หรือจะหนักกว่าโคนไม้ คนที่ชั่วช้าสามานย์หรือจะมีกำลังกว่าคนที่มีคุณธรรมประจำสันดาน ไม่เห็นบังควรเลย พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ น หิ อกุสลํ พลวตรํ อกุศลนั้นจะมีกำลังกว่ากุศลหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง มารจะมีกำลังกว่า สมเด็จพระบรมนายกโลกนาถหาบ่มิได้ ทั้งนี้พระองค์จงทรงพระสันนิษฐานเข้าพระทัย ด้วยเหตุ แห่งอุปมา มหาราช ขอถวายพระพร เปรียบปานดุจบุรุษชายคนหนึ่งนำมา มธุญฺจ มธุปิณฺ- ฑิกญฺจ ซึ่งน้ำผึ้งขึ้ผึ้งข้าวน้ำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสมควรที่จะเป็นราชบรรณาการ จกฺกวตฺติโน ถวาย สมเด็จภูมิบาลบรมจักรพรรดิราช ครั้นถึงประตูพระราชวัง นายประตูจึงห้ามว่า ดูกรท่าน ท่านจงเองซึ่งเครื่องบรรณาการนี้กลับไปเสียเร็วพลัน ช้าอยู่ราชทัณฑ์อาญาจะถึงแก่ตัวท่าน ส่วนว่าบุรุษนั้นได้สวนาการดังนั้น ก็ขมีขมันกลับมาด้วยกลัวพระราชอาญา นุโข ดังอาตมาจะ ถามมหาบพิตร เมื่อนายประตูห้ามเครื่องบรรณาการของบรมจักรพรรดิราชได้ฉะนี้ จะว่า นายประตูมีกำลังมากกว่าสมเด็จพระเจ้าบรมจักรพรรดิราชหรือประการใด              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า หามิได้ นะผู้เป็นเจ้า ประการหนึ่งเล่า โดยว่านายประตู นั้นจะคิดริษยาบรมจักรพรรดิราช จะห้ามปรามมิได้เขานำเอาราชบรรณาการเข้าทางประตูนั้น คนทั้งหลายเขาก็จะนำมาซึ่งเครื่องราชาบรรณาการถวายแก่บรมจักรพรรดินั้นทางประตูอื่น นับ หมื่นแสนมากกว่าของกำนัลบรรณาการที่นายประตูนั้นห้ามไว้              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ มาร ริษยาเข้าดลใจบังตาพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านปัญจสาละไว้ มิให้เห็นสมเด็จพระชิเนนทรบพิตร มิให้ชาวบ้านใส่บาตรนั้น จะร้อนใจอะไรนักหนา เทวดาเป็นอันมากรู้ว่าสมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิ- ภาคไม่ได้อาหารบิณฑบาตก็พากันคลาเคลื่อนลอยมาถวายทิพยโอชา มากกว่ามากนับด้วยแสน สมเด็จพระมหากรุณาจะได้ขาดแคลนจากลากหามิได้ อุปไมยเหมือนบรมจักรพรรดิราช ถึงว่า นายประตูจะริษยาห้ามบรรณาการเสียก็คงจะมีบรรณาการที่อื่นนำมามากว่าร้อยเท่าพันทวีนั้นแล ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระมหากรุณานี้ ไม่ขาดจากจตุปัจจัยลาภด้วยเหตุเป็นอุดมบุรุษ ถึงมารจะบังไว้ ก็คงจะได้จตุปัจจัยที่เทวดานำมาถวายจะนับบ่มิได้ ความนี้จะยกไว้ โยมนี้ยังสงสัย นักหนา ที่ว่ามารกระทำร้ายบังตาคนทั้งหลายเสียมิให้ใส่บาตร สมเด็จพระบรมโลกนาถขาด จากอาหาร จะมิสมปรารถนาของมารหรือ อย่างนี้ได้ชื่อว่ามารได้กระทำร้ายแก่สมเด็จพระ ศาสดาจารย์ได้ โยมนี้มีจิตแคลงใจสงสัยนักหนา ด้วยสมเด็จพระองค์ ทรงไว้ซึ่งบุญสม กำกงแห่งสังสารจักรสิ้นสุด สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ตรัสรู้ซึ่งไญยธรรมด้วยพระองค์ ทรงไว้ซึ่งบุญสม ภารหาผู้ใดที่จะปานปูนบ่มิได้ ประกอบไปด้วยพระบารมีประเสริฐเลิศนัก โลเก อคฺคปุคฺคสสฺส เป็นอัครบุคคลอันประเสริฐเลิศโลก ลาภอันเป็นที่เกลียดชัง น อริยํ ใช่ของอริยเจ้า น้อยหนึ่ง เท่านี้ไม่ควรที่มารจะกระทำร้ายไม่ได้ เหตุไฉนมารจึงกระทำอันตรายได้ จงแก้สงสัยให้โยม แจ้งก่อน              พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อันตรายมี ๔ ประการ คือ อทิฏฐันตราย ประการ ๑ อุททิสสันตราย ประการ ๑ อุปักขตันตรายประการ ๑ บริโภคคันตรายประการ ๑ สิริเป็นอันตราย ๔ ประการ กตมํ อทิฏฺฐนฺตรายํ อทิฏฐันตราย นั้นเป็นประการใด อนภิสงฺขตํ คือข้าวของซึ่งจะให้ ยังมิได้ตกแต่งไว้และมิได้อุทิศ มิได้เห็น พระองค์เจ้าหรือปฏิคาหกมาเลย มีผู้มาห้ามเสียว่าอย่าเพ่อทำก่อนเลยก็ดี ห้ามเสียว่าเอาไปให้ เขานั้นต้องการอะไรก็ดี และห้ามไว้ด้วยอุบายแยบคายอันใดอันหนึ่ง นี่แหละชื่อว่าอทิฏฐันตราย อุทฺทิสฺส โภชนํ ปฏิยตฺตํ และอุททิสสันตรายนั้น ได้แก่โภชนาหารอันเจ้าภาพอุทิศให้ เขาจัดแจงไว้แล้ว มีผู้กระทำร้ายด้วยอุบายอันจะให้เป็นโทษ ห้ามเสียมิให้ให้นั้น ชื่อว่าอุททิส- สันตราย อุปคตํ อปฺปฏิคฺคหิตํ อุปักขตันตรายนั้น ได้แก่จตุปัจจัยเจ้าภาพจัดแจงแล้ว ยกไปตั้ง ไว้แล้วแต่ปฏิคาหกยังไม่ได้รับ ผู้จะกระทำอันตรายว่ากล่าวด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งให้เขาเกิดซึ่ง ความสงสัย อย่างนี้ชื่อว่าอุปักขตันตราย อิธปริโภเค และบริโภคคันตรายนั้น ได้แก่โภชนาหารที่ ปฏิคาหกผู้รับจะบริโภคอยู่แล้ว ไปว่าให้สอดแคล้วมิให้บริโภคได้ และกระทำอันตรายด้วย อุบายอันใดอันหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่าปริโภคันตราย มหาราช ขอถวายพระพร อันตรายมีอยู่ ๔ ประการอย่างนี้ มารมากกระทำอันตรายแก่สมเด็จพระบรมโลกนาถ มิให้ได้จังหันบิณฑบาต นั้น ชื่อว่าอทิฏฐันตราย ด้วยพราหมณ์คหบดีทั้งหลายมิได้ตั้งไว้ซึ่งอาหาร มิได้อุทิศ มิได้เห็น สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์เสด็จไป มารจึงกระทำอันตรายได้ ประการหนึ่ง ใช่มารจะจัณฑาล กระทำอันตรายแก่พระมหากรุณาองค์เดียวหาบ่มิได้ พวกนิครนถ์ทั้งหลายไปบิณฑาตใน ปัญจสาลคามนั้น ไปยืนอยู่ที่แจ้งก็ไม่ได้อาหาร อดอาหารเพราะมารกระทำอันตรายเหมือนกัน อนึ่งขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ในมนุษย์โลกและเทวโลกและมารโลกและพรหมโลก ทั้งปวงนี้ อาตมาไม่เห็นสมณะและพราหมณ์ประชาชนคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะทำอันตราย ๓ ประการ คืออุททิสสันตราย อุปักตันตราย และปริโภคันตราย แก่สมเด็จพระชิเนนทรบพิตรได้ ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำศีรษะผู้นั้นจะแตกทำลายออกไปได้เจ็ดภาคทีเดียว นะบพิตรพระราชสมภาร              ประการหนึ่ง ฐานะที่ใครๆ จะกั้นไว้ไม่ได้ แห่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เรียกว่าอนาวรณิยฐานมี ๔ ประการ กตมานิ อนาวรณิยฐาน ๔ นั้นคือสิ่งใดเล่า ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภารเจ้า ลาโภ คือลาภที่เขาอุทิศถวายและตกแต่งไว้แล้วยังไม่ได้รับประเคน ใครๆ จะทำอันตรายไม่ได้ จัดเป็นอนาวรณิยฐานอันหนึ่ง พฺยามปฺปภา พระรัศมีที่เปล่ง ออกข้างละวานั้น บุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่งมิอาจจะกระทำอันตรายได้ จัดเป็นอนาวรณิยฐานอันหนึ่ง ญาณรตนํ สัพพัญญุตญาณรัตนะของพุทธองค์ หาบุคคลจะกระทำอันตรายบ่มิได้ จัดเป็น อนาวรณิยฐานอันหนึ่ง ชีวิตํ พระชนม์ของสมเด็จพระทศพลญาณเจ้านั้น หาบุคคลจะกระทำ อันตรายบ่มิได้ จัดเป็นอนาวรณิยฐานอันหนึ่ง นี่แหละชื่อว่าอนาวรณิยฐาน ๔ ประการ อนา- วรณิยฐาน ๔ ประการนี้อย่าว่าแต่มารเลย ให้ดีไปกว่ามารอีกก็มิอาจกระทำอันตรายได้เป็น อันขาด มหาราช ขอถวายพระพร เมื่อสมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์เจ้าเสด็จเข้าไปโคจร บิณฑบาตในบ้านปัญจสาลพราหมณ์นั้น มารเร้นซ่อนอยู่ จึงบังตาพราหมณ์คฤหบดีบ่มิให้เห็น สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า จะเปรียบฉันใดเล่า เหมือนสตรีจะสมัครสามัคคีกับบุรุษก็เร้น ซ่อนมิให้ผู้ใดเห็นฉะนั้น ถ้าว่าสตรีอันจะประพฤตินอกใจสามี ไม่กระทำให้ลี้ลับนี้ โทษนี้จะมี หรือว่าหาบ่มิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สตรี นั้นสามีจับได้ ก็ย่อมจะทำโทษเฆี่ยนตีจองคำ ลดอำนาจลงเป็นทาสใช้สอยเสียทีเดียวแหละ              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ฉันใดก็ดี มารเข้าเร้นซ่อนอยู่ที่ลับนี้ด้วยกลัวภัยเหมือน ดังนั้น อนึ่งเล่าขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร มารจะได้กระทำอันตราย ๓ ประการ คือ อุทิสสันตราย และอุปักขตันตราย และปริโภคันตราย หามิได้ มุทฺธา ผเลยฺย ถ้าว่ามาร กระทำอันตราย ๓ ประการนี้เมื่อใด กระบอกศีรษะมารจะพึงแตกออกไป ได้ร้อยเสี่ยงพันเสี่ยง เที่ยงแท้ ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพร เปรียบดุจโจรจัณฑาลอันซุ่มซ่อน คอยปล้นคนที่หนทางในพระราชอาณาเขตประเทศบ้านนอกนั้น ถ้าพระบรมกษัตราธิราช ผู้เป็นใหญ่จับได้ ที่ไหนจะไว้ชีวิต ก็จะฆ่าฟันบั่นรอนให้ได้ร้อยท่อนพันชิ้น ให้โจรนั้นสิ้นชีวิตสังขาร มหาราช ขอถวายพระพร มารนี้ก็เหมือนกัน ถ้ากระทำอันตรายของที่เขาอุทิศ และเขาตั้งไว้ยัง ไม่ได้ประเคน และอาหารที่ทรงฉันค้างอยู่มิให้ฉันต่อไป ทำเมื่อไรศีรษะมารก็จะแตกออกไป ได้ร้อยภาคพันภาคในกาลเมื่อนั้น              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ก็สิ้นวิมัติสงสัย ให้สาธุการแก่พระเถระว่า สาธุ สาธุ พระผู้เป็น เจ้านี้วิสัชนาแก้ไขดีนักหนา ปัญหานี้ลึกซึ้งยิ่งล้นพ้นประมาณ ยากที่ปุถุชนคนอื่นจะวิสัชนาได้ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้กระจ่างแจ่มใสแล้ว สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะขอรับเอาไว้ในกาลบัดนี้
ภควโต ลาภันตรายปัญหา คำรบ ๕ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๕๕ - ๒๕๘. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=109              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_109

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]